หากพูดถึงกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมแล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นกลุ่มอาการของคนยุคใหม่ ที่มักต้องทำงานแบบประจำอยู่กับที่ มีการเคลื่อนไหวน้อย หรือมักต้องเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในลักษณะเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นประจำ
แต่เมื่อพูดถึงวิธีการรักษาออฟฟิศซินโดรมที่ได้ผลดีนั้น จะมีใครรู้หรือไม่ว่า Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) หรือการรักษาด้วยเทคนิคการกระตุ้นประสาทส่วนปลายด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นวิธีการรักษาหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ในการบำบัดอาการออฟฟิศซินโดรมอย่างได้ผล
สารบัญ
- Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) คืออะไร
- หลักการทำงานของ Peripheral Magnetic Stimulation (PMS)
- ความเป็นมาของนวัตกรรมการรักษาโรคด้วย PMS
- กลุ่มโรคหรืออาการ ที่ PMS สามารถช่วยรักษาได้
- ทำไมถึงควรใช้เทคโนโลยี PMS ในการรักษาออฟฟิศซินโดรม
- ขั้นตอนการรักษาออฟฟิศซินโดรม โดยใช้เทคนิค PMS
- ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงของการใช้ PMS
- ใครที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยเทคนิค PMS ได้
- หากสนใจการรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วย PMS ต้องทำอย่างไร
- สรุป
Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) คืออะไร
Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) คือ วิธีการกระตุ้นประสาทส่วนปลายด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นเทคนิคการบำบัดรักษาอาการปวด ชา และอาการทางประสาทต่าง ๆ ด้วยการส่งคลื่นไปกระตุ้นเนื้อเยื่อ และการไหลเวียนของเลือดในตำแหน่งนั้น ๆ โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะโดยรอบ
หลักการทำงานของ Peripheral Magnetic Stimulation (PMS)
การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยเครื่องกระตุ้นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS มีหลักการทำงาน คือ เครื่องจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความแรงสูง ทะลุผ่านเสื้อผ้าลงไปจนถึงกระดูกหรือกล้ามเนื้อชั้นลึก ๆ ที่ต้องการกระตุ้น
จากนั้น เครื่องจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดเกิดการหดและคลายตัวสลับกันตามความถี่ที่กำหนดไว้ คล้ายกับการสั่นที่กล้ามเนื้อ จึงช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่ถูกกระตุ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายในขณะรักษา
นอกจากนี้ PMS ยังช่วยฟื้นฟูความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาท ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของระบบประสาท (Neuroplasticity) ที่ผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดเรื้อรังของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
ความเป็นมาของนวัตกรรมการรักษาโรคด้วย PMS
การใช้เครื่องมือกระตุ้นด้วยแม่เหล็กเพื่อการรักษาได้มีมาอย่างยาวนาน แต่ในอดีตอุปกรณ์ที่สร้างคลื่นแม่เหล็ก ให้คลื่นแม่เหล็กได้ต่ำมาก และยังไม่ทะลุทะลวง ทำให้การรักษายังไม่ได้ผลดีนัก
ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่ผลิตคลื่นแม่เหล็กความแรงสูงได้แล้ว จึงเริ่มมีการนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาท ในรูปแบบของเครื่องที่สร้างสนามแม่เหล็กกำลังสูงไปกระตุ้นสมอง เรียกเทคนิคดังกล่าวว่า Transcranial Magnetic Stimulation หรือ TMS
คลิกอ่านรายละเอียดการรักษาด้วย TMS เพิ่มเติม
ในภายหลังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องส่งคลื่นแม่เหล็กให้มีกำลังที่แรงมากขึ้น ใช้งานได้สะดวกขึ้น และทนความร้อนได้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำมาใช้กับการกระตุ้นตามส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกายเพื่อการบำบัดรักษาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกเทคโนโลยีใหม่นี้ว่า Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นั่นเอง
กลุ่มโรคหรืออาการ ที่ PMS สามารถช่วยรักษาได้
PMS ถูกใช้ในการบำบัดรักษากลุ่มโรคและอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ใช้รักษาออฟฟิศซินโดรม และอาการปวดต่าง ๆ: ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเฉียบพลัน หรืออาการปวดเรื้อรังที่มาจากการใช้งานกล้ามเนื้อในลักษณะซ้ำ ๆ เป็นประจำอย่างออฟฟิศซินโดรม ก็สามารถรักษาได้โดยใช้ PMS โดยเห็นผลทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มเข้าไปรักษาเลย
- กลุ่มอาการชา : ไม่ว่าจะเป็นมือชา ขาชา เท้าชา ซึ่งเป็นผลมาจากเส้นประสาทถูกกดทับ ความผิดปกติของปลายประสาท หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน โดยพบว่า PMS สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นประมาณ 50-100% เลยทีเดียว
- อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา : หากเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก เช่น อาการเคล็ดขัดยอกต่าง ๆ เราสามารถใช้ PMS เพื่อกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมระบบประสาทส่วนที่มีการเสียหายให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วยิ่งขึ้น
- กลุ่มโรคกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง : โดยพบว่าคลื่นแม่เหล็กสามารถใช้ในการกระตุ้นลงลึกได้ถึงรากประสาทโดยตรง อีกทั้งยังช่วยเร่งการฟื้นตัวของเส้นประสาทที่บาดเจ็บการกดทับรากประสาทที่คอและเอวจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเสื่อมได้อีกด้วย
- กลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต จากหลอดเลือดสมอง: เราสามารถใช้ PMS เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้ เพราะการยิงคลื่นแม่เหล็กกระตุ้น จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและชะลอการฝ่อของกล้ามเนื้อ และยังช่วยลดอาการเกร็งของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
นอกจากนี้ PMS ยังช่วยในการฟื้นฟูระบบประสาทส่วนที่เสียหายไปได้ด้วย โดยแพทย์จะใช้คลื่นกระตุ้นตามแนวเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณที่มีปัญหา แต่จะได้ผลเร็วหรือช้าแค่ไหนนั้น จะขึ้นอยู่กับรอยโรคในสมองของผู้ป่วยแต่ละคน
ทำไมถึงควรใช้เทคโนโลยี PMS ในการรักษาออฟฟิศซินโดรม
เมื่อมีการนำ PMS ไปใช้งานเพื่อการรักษาออฟฟิศซินโดรมแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาดีเยี่ยม โดยสามารถสรุปข้อดีของเทคโนโลยีดังกล่าวได้ดังนี้
ประโยชน์ในแง่การรักษา
- รักษาได้ทั้งอาการและสาเหตุของการปวดเฉียบพลัน ปวดกึ่งเฉียบพลัน และปวดเรื้อรัง
- รักษาได้ทั้งอาการปวดที่มาจากระบบประสาท และอาการปวดที่ไม่ได้มาจากระบบประสาท เช่น อาการปวดจากกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก
- ช่วยกระตุ้นให้มีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
- ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมส่วนของประสาทที่เสียหาย เช่น เส้นประสาทแขนขา มือตก เท้าตก แขนขาอ่อนแรง การกดทับรากประสาทที่คอและหลัง (ที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเสื่อม) เป็นต้น
- ช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้างของเส้นประสาท (neuroplasticity) ที่มีพฤติกรรมผิดเพี้ยนไปจากปกติ ให้กลับมาเป็นปกติ เช่น อาการปวดเรื้อรังจากโรคทางกล้ามเนื้อและกระดูกต่าง ๆ อาการปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
- รักษาหรือลดอาการชาได้
- มีส่วนในการเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อได้ แม้แต่กล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาตหรือมีอาการอ่อนแรง
ประโยชน์ในแง่ความสะดวกสบายและความปลอดภัย
- ได้ผลทันทีหลังจากการรักษาครั้งแรก
- หากเป็นการรักษาต่อเนื่อง จะได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก ๆ ตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ทำให้ไม่ต้องมาบ่อย
- จำกัดวงในการรักษาได้ดี ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ
- ใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างสั้น ประมาณครั้งละ 5-30 นาที หรือราว ๆ 2-5 นาทีต่อ 1 จุดการรักษา
เมื่อพิจารณาจากประโยชน์ต่าง ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ในแง่ของความสะดวกสบายในการรักษาออฟฟิศซินโดรมนั้น การรักษาด้วยเทคนิค PMS นับว่าตอบโจทย์กลุ่มคนทำงานที่มีเวลาไม่มากได้ดีทีเดียว
ขั้นตอนการรักษาออฟฟิศซินโดรม โดยใช้เทคนิค PMS
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ออกแบบโปรแกรมการรักษาให้ ขึ้นอยู่อาการหรือบริเวณที่ผู้ป่วยรู้สึกปวด โดยปกติแล้ว การรักษาออฟฟิศซินโดรมโดยใช้เครื่อง PMS นั้น จะใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ไม่เกิน 30 นาที
แพทย์จะเป็นผู้ประเมินให้ว่า อาการของแต่ละคน ต้องทำการยิงคลื่นกระตุ้นที่กล้ามเนื้อมัดไหนอย่างไรบ้างตามความเหมาะสม แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะให้กระตุ้นไปยังกล้ามเนื้อมัดที่มีปัญหาโดยตรงก่อน แล้วค่อยกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดอื่น ๆ บริเวณใกล้เคียงกัน
ขั้นตอนการรักษานั้นก็ไม่ยุ่งยาก ผู้ป่วยเพียงแค่นอนลง แพทย์หรือนักกายภาพจะใช้ส่วนหัวคอยล์ของเครื่องทาบลงบนกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องการรักษา แล้วค่อย ๆ เลื่อนไปมา (จุดหนึ่งใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที) ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย จะรู้สึกเพียงว่ามีอะไรมา กระทบเป็นจังหวะ “ตึก ๆ ๆ” ในตำแหน่งที่มีการยิงคลื่นเท่านั้นเอง
ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงของการใช้ PMS
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: การรักษาออฟฟิศซินโดรม ด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นนั้น มีโอกาสทำให้กล้ามเนื้อระบมหรือเป็นตะคริวได้ หลังจากเข้ารับการรักษาประมาณ 2-3 วัน แต่หลังจากนั้นจะกลับมาเป็นปกติ
ความร้อนจากการเหนี่ยวนำด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า: เทคนิคการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนสะสมที่วัสดุโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ จึงมีข้อแนะนำว่า ให้ถอดอุปกรณ์หรือโลหะต่าง ๆ ออกให้หมดก่อนเข้ารักษาออฟฟิศซินโดรม ไม่ว่าจะเป็น หัวเข็มขัด กระดุมบนกางเกง เป็นต้น
ใครที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยเทคนิค PMS ได้
- ผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์หรือโลหะต่าง ๆ ติดตั้งอยู่ในตัว เช่น ผู้ป่วยที่มีการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยที่มีคลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีโลหะติดตัว ในบริเวณที่จะทำการรักษา
- ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติลมชัก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดระบมมาก ๆ ในวันที่เข้ารับการรักษา แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เนื่องจากการใช้คลื่นแม่เหล็กกระตุ้น อาจยิ่งไปเพิ่มความระบมแก่ผู้ป่วยได้
หากสนใจรักษาออฟฟิศซินโดรม ต้องทำอย่างไร
นอกเหนือจากเทคนิคการรักษาด้วย PMS แล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการทำกายภาพบำบัดควบคู่กันไปด้วย เพราะจะได้ฝึกการใช้งานกล้ามเนื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์การรักษาออฟฟิศซินโดรมโดยรวมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ ควรมองหาสถานที่รักษาออฟฟิศซินโดรม ที่มีแนวทางทางเลือกการรักษาที่หลากหลาย เพื่อที่จะได้ทำการบำบัดรักษาควบคู่กันไป ให้สอดคล้องกับสภาพและอาการของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ผู้สนใจควรศึกษาแนวทางในการรักษาของสถานที่รักษา ว่ามีแพ็คเกจการรักษาหรือข้อเสนอต่าง ๆ ที่หลากหลายพอหรือไม่? เพราะการรักษาออฟฟิศซินโดรมที่เหมาะสมนั้น ควรเป็นการรักษาหลายวิธีควบคู่กัน
สรุป
Peripheral Magnetic Stimulation หรือ PMS เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้การส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นส่วนต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อบำบัดอาการปวดและชา และกระตุ้นฟื้นฟูเนื่อเยื่อและประสาทส่วนปลายที่เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อนำเทคนิคนี้มาใช้ในการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว พบว่าได้ผลดีตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ และเหมาะกับการใช้รักษาอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาทำการรักษาบ่อย ๆ แต่มีข้อแนะนำว่า ควรรักษาควบคู่กันไปกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีที่สุด