ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 คืออะไร
ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 (particulate matter, PM) ไม่ได้เป็นแค่ฝุ่นธรรมดา แต่คือฝุ่นขนาดเล็กมากที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (เส้นผมของคนเรามีหน้าตัด 50 ไม่โครเมตร แปลว่าฝุ่นจิ๋วนี้ต้องอยู่เรียงกัน 20 ตัวถึงจะมีขนาดเท่าหน้าตัดเส้นผมเรา 1 เส้น) นั่นคือมันเล็กมากๆ เล็กเกินกว่าที่เราจะมองเห็นมันด้วยตาเปล่าว่ามันเป็นผงฝุ่น เราจะเห็นอากาศเราคล้ายมีหมอกๆมัวๆ และมันก็เล็กมากพอที่จะไม่ถูกดักจับโดยกลไกการดักจับฝุ่นเบื้องต้นของร่างกายเราทั้งขนจมูก ทั้งเมือกที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจของเรา ฝุ่นจิ๋วสามารถผ่านลงหลอดลมและปอดเราเข้าไปได้แบบสบายๆ และเล็กมากพอที่จะเข้าไปในหลอดเลือด และกระตุ้นในเกิดการอักเสบในที่ต่างๆ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยฝุ่นจิ๋วพวกนี้มันมักจะมีเพื่อนๆเกาะติดตัวมันมาด้วย ทั้งสารเคมีที่เป็นสารโลหะหนัก เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายเรา
PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ รวมถึงไฟป่า
ความรุนแรงของ PM2.5
ในระยะเฉียบพลัน จะพบว่า การหายใจในอากาศที่มีระดับ PM2.5 ในขนาดสูงเกินมาตรฐาน นั่นคือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเริ่มพบการระคายเคืองทางทางเดินหายใจ แสบจมูก มีอาการระคายเคือง ไอ คันคอ เจ็บคอ รวมถึงอาการแสบตา คันตา บางคนมีอาการระคายที่ผิวหนัง มีผื่นขึ้นได้
ในระยะยาว ปัจจุบันมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการหายใจในบริเวณที่มี PM2.5 ในขนาดสูงเกินมาตรฐาน พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น อีกทั้งเพิ่มอัตราการนอนโรงพยาบาลด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจ และยังมีอัตราการเข้าห้องฉุกเฉินมากขึ้นด้วยภาวะหอบหืด/ถุงลมโป่งพองกำเริบ
อีกทั้งมีการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับการกระตุ้นหอบหืด, ถุงลมโป่งพอง รวมถึงเพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งปอดผ่านการกระตุ้นหลายกลไก รวมไปถึงเพิ่มอัตราการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทั้งปอดอักเสบติดเชื้อและหลอดลมอักเสบก็สูงขึ้น
นอกจากระบบทางเดินหายใจ ยังพบว่า PM2.5 ยังสร้างความเสียหายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้เพิ่มอัตราการเกิดโรคการกำเริบของหอบหืด ถุงลมโป่งพอง รวมถึงมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อป้องกันอัตรายจากฝุ่นจิ๋ว
เนื่องจากประเทศไทยเรายังพบปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระดับสูงทุกปี และฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นภัยต่อสุขภาพอย่างชัดเจน ดังนั้นเราจึงควรมีมาตรการการดูแลตัวเองดังนี้
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม outdoor ถ้าคุณภาพอากาศไม่ดี PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้ใส่หน้ากาก N95 เพื่อกรอง PM2.5 ให้ได้มากที่สุด
- ควรปิดประตูและหน้าต่างเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในบ้าน รวมถึงเปิดเครื่องฟอกอากาศช่วยกรองฝุ่นจิ๋ว
แม้ว่าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 จะเป็นภัยร้ายที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้อย่างมาก อย่างไรก็ตามหากเราทราบเกี่ยวกับความอันตรายของฝุ่นPM 2.5 และปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ได้
นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจลำบาก อาจเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
PM2.5 กับมะเร็งปอด
ปัจจุบันเรามีการศึกษามากมาย พบข้อมูลตรงการว่าคุณภาพอากาศที่ไม่ดี มีปริมาณ PM2.5 เกินมาตรฐานเพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งปอดได้จริง
นอกจากเราจะป้องกันตัวเองจาก PM2.5 เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดแล้ว เราก็ควรจะคัดกรองโรคมะเร็งปอดอย่างเหมาะสมด้วย โดยทั่วไปโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีพื้นฐานจะมีการตรวจ x-ray ปอดธรรมดา แต่การตรวจ x-ray ปอดธรรมดา ถือเป็นการคัดกรองโรคมะเร็งปอดแบบเบื้องต้นที่ไม่ละเอียดพอ เนื่องจากจะพบความผิดปกติเมื่อก้อนใหญ่แล้ว การคัดกรองมะเร็งปอดที่ดีที่สุด แนะนำการทำ low dose CT screening lung (LDCT) เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปอดอย่างละเอียด