การนอนกรนดูจะเป็นเรื่องที่ธรรมดา เพราะหลาย ๆ คนนอนกรนจนเป็นเรื่องปกติ และไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือชีวิตประจำวัน แต่จริง ๆ แล้วปัญหานอนกรนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน เพราะบางคนในขณะกรนอาจมีการหยุดหายใจจนทำให้ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นนอนมาแล้วไม่สดชื่น ง่วงเหงาหาวนอนในช่วงกลางวัน เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรืออาจจะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถได้ และยังทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้อีก
ปัจจุบันมีเทคนิคการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม โดยแพทย์จะร้อยไหมที่เพดานอ่อนคล้ายกับการร้อยไหมยกกระชับที่ใบหน้า เป็นการรักษาที่เจ็บน้อย แผลเล็ก หายเร็ว จึงเป็นทางเลือกการรักษานอนกรนอีกวิธีหนึ่ง
นอนกรนเสียงดังเกิดจากอะไร?
เสียงกรน เกิดจากการที่ลมหายใจไหลผ่านช่องคอที่ตีบแคบ โดยเป็นเสียงของการสั่นพลิ้วสะบัดของลิ้นไก่ เนื้อเยื้อบริเวณเพดานอ่อน และช่องคอส่วนบน โดยการกรนนี้จะทำให้เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน พบบ่อยในคนวัยกลางคนอายุระหว่าง 30 – 60 ปี โดยมักพบภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจประมาณ 4% ในผู้ชาย และ 2% ในผู้หญิง การนอนกรน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- การนอนกรนธรรมดา (primary snoring) ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังรบกวนต่อคนรอบข้าง
- การนอนกรนร่วมกับภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย (obstructive sleep apnea; OSA) ซึ่งเป็นประเภทที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้
การนอนกรนเป็นอันตรายไหม?
การนอนกรนไม่ว่าจะเป็นการนอนกรนธรรมดา หรือนอนกรนแบบที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน และมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ก็ล้วนมีผลต่อสุขภาพโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนกรนแบบที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย เสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้อีก เช่น โรคความดันสูง โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันในปอดสูง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคหลอดเลือดสมอง
นอกจากนี้การนอนกรนแบบที่มีการอุดกั้นทางเดินหายในส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วยนั้น จะทำให้ผู้ป่วยมีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้หลังจากตื่นนอนจะรู้สึกว่าไม่สดชื่น และยังรู้สึกยังง่วงอยู่ นอกจากนี้การหยุดหายใจขณะนอนหลับจะทำให้สมองและร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับสมองด้วย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง และหากต้องขับรถหรือต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
และในกลุ่มที่นอนกรนแบบธรรมดาอาจจะยังไม่มีผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนทางสุขภาพของตนเองมากนัก แต่จะมีผลต่อสุขภาพการนอนของคู่นอน หรือคนในครอบครัว เพราะจะไปรบกวนการนอนของคนรอบข้างได้
ดังนั้นหากท่านมีอาการนอนกรนทั้งแบบธรรมดา และแบบที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนและหยุดหายใจร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจการนอนหลับ (sleep test) ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
สาเหตุของการนอนกรน
การนอนกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ
- มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบน (ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน โคนลิ้น และช่องคอส่วนบน) ขณะนอนหลับ ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจตีบแคบ
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนมาก ๆ เพราะจะทำให้ผนังคอหนาขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เราจึงมักพบว่าคนที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนมาก ๆ จะมีอาการกรนและหยุดหายใจขณะหลับ
- มีภาวะที่ทำให้โพรงจมูกอุดตัน เช่น โรคภูมิแพ้ที่ทำให้โพรงจมูกอักเสบ โรคเนื้องอกในโพรงจมูก ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ หรือมีผนังกั้นโพรงจมูกผิดปกติ ซึ่งก็สามารถทำให้เกิดการกรนได้เช่นกัน
- มีโรคของต่อมทอนซิล เพราะต่อมทอนซิลอยู่ในลำคอ ดังนั้นหากมีการโตขึ้นของต่อมทอนซิลก็จะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน จึงทำให้มีการกรนได้ โดยสาเหตุนี้มักเป็นสาเหตุการกรนในเด็ก
- มีเนื้องอกหรือซีสต์ (cyst) ทางเดินหายใจส่วนบน
- การดื่มแอลกอฮล์ การรับประทานยานอนหลับ ยาแก้แพ้ชนิดง่วง เพราะจะทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งจะทำให้มีการตีบแคบของช่องคอมากขึ้น ทำให้กรนมากขึ้นและเสียงกรนดังขึ้น
แก้นอนกรนทำได้อย่างไรบ้าง?
โดยปัจจุบันวิธีการแก้และรักษานอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ แบ่งเป็น
- แบบไม่ผ่าตัด เช่น ใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก CPAP การลดน้ำหนัก นอนตะแคง ใช้ยา ใส่ทันตอุปกรณ์ เป็นต้น
- แบบผ่าตัด โดยแก้ไขในส่วนของจมูก เพดานอ่อน ลิ้นไก่และคอหอย ทั้งนี้ส่วนที่พบว่าทำให้เกิดเสียงกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มาก คือ เพดานอ่อน ซึ่งวิธีที่ใช้ผ่าตัดมีหลายวิธี วิธีที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน คือ วิธีร้อยไหมที่เพดานอ่อน (barbed suspension pharyngoplasty) ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน เจ็บน้อย แผลเล็กและหายไว และไม่มีปมไหมให้รู้สึกรำคาญเมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม
การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม
การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหมที่เพดานอ่อน (barbed suspension pharyngoplasty) เป็นเทคนิคใหม่และเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาการนอนกรนแบบที่มีการอุดกั้นทางเดินหายในส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้ไหมทางการแพทย์เย็บตกแต่งลิ้นไก่ เพดานอ่อน และคอหอย เพื่อปรับให้โครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนต้น แก้ปัญหาการตีบแคบของทางเดินหายใจ
การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหมเพดานอ่อนคล้ายกับการร้อยไหมยกกระชับที่ใบหน้า โดยไหมที่ใช้จะเป็นไหมละลายที่มีเงี่ยงตลอดเส้น เพื่อเย็บตรึงเพดานอ่อนให้ยกขึ้น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพดานอ่อน และแพทย์จะใช้เทคนิคการซ่อนปมให้อยู่ในเพดานอ่อนทำให้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกรำคาญ อาจต้องทำร่วมกับการผ่าตัดทอนซิลออกเพื่อทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวางแผนการรักษาให้เหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
ข้อดีของการรักษาการนอนกรนด้วยการร้อยไหม
- ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน
- เจ็บน้อย
- แผลเล็กและหายไว
- ไม่มีปมไหมให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญ
- ผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยกว่า
การเตรียมตัวก่อนการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม
- ตรวจประเมินทางเดินหายใจส่วนต้นเพื่อวางแผนการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์เฉพาะทางโสตศอนาสิกก่อนผ่าตัด
- ตรวจการนอนหลับ (sleep test) เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับก่อนการรักษา
- ตรวจเลือด
- ตรวจปัสสาวะ
- ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- อาจต้องหยุดยาบางชนิดก่อนการผ่าตัด เช่น ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการดมยาสลบหรือการผ่าตัด ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์
- ก่อนการผ่าตัด ควรงดน้ำและอาหารประมาณ 6-8 ชั่วโมง
- ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
การปฏิบัติตัวหลังการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม
หลังการร้อยไหมผู้ป่วยอาจมีอาการตึง ๆ ในลำคอ กลืนอาหารไม่ค่อยสะดวก หรืออาจจะมีเลือดออกบริเวณแผล เสียงแหบ แต่อาการเหล่านี้จะเป็นเพียงแค่ในช่วงแรก และจะหายไปได้เอง หลังการรักษาแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองดังนี้
- รับประทานยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบ
- ให้นอนศีรษะสูงโดยเพิ่มจำนวนหมอนที่หนุน หรือใช้เตียงแบบปรับระดับได้
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหักโหม
- รักษาความสะอาดภายในช่องปากเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการไอหรือจามแรง ๆ
- ระยะแรก ๆ หลังการรักษาควรรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว
- มาพบแพทย์ตามนัด
หากหลังการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
สรุป
การนอนกรนทั้งแบบธรรมดาและการนอนกรนที่มีการอุดกั้นและมีหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้อีกหลายโรค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการนอนของคู่นอนและคนรอบข้าง ดังนั้นหากมีปัญหานอนกรนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนกรนชนิดที่มีการอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ในปัจจุบันเทคนิคการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหมเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นเทคนิคการรักษาที่ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน เจ็บน้อย แผลเล็ก หายเร็ว มีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อย จึงเป็นการรักษานอนกรนอีกวิธีหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ