คำถามยอดนิยมของโรคไต
อาการเจ็บป่วยของโรคต่างๆมักจะมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับอาการของโรคไต เช่น อาการบวม อาการปวดหลัง ฯลฯ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่เป็นสัญญาณบอกเหตุของโรคไตหรือไม่
อาการบวม
อาการบวมไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไตแต่อย่างเดียว ผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่น เช่น โรคหัวใจ โรคตับแข็ง โรคขาดอาหาร โรคท่อน้ำเหลืองตีบตัน โรคขาดฮอร์โมนไธรอยด์ ก็เกิดอาการบวมได้เช่นกัน
อาการปวดหลัง
อาการปวดหลังอาจพบได้กับผู้ป่วยโรคไตอักเสบ นิ่วที่ไต แต่โรคอื่นๆ เช่น โรคทางด้านกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังอักเสบ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ปวดหลังไม่จำเป็นต้องเป็นโรคไต
อาการปัสสาวะบ่อยๆ
ผู้ป่วยที่ปัสสาวะบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคไตเสมอไป ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงก็ทำให้เกิดอาการปัสสาวะได้บ่อยๆ ผู้ป่วยที่มีอาการอับเสบของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ก็มีอาการปัสสาวะบ่อยเนื่องจากเกิดอาการระคายเคือง
อาการปัสสาวะขัด
ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะขัด อาจจะเกิดจากการอักเสบหรือตีบตันของท่อปัสสาวะ บางครั้งนิ่วที่กระเพาะปัสสาวะก็อาจจะอุดตันท่อปัสสาวะทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดได้ ในผู้ชายที่มีต่อมลูกหมากโตเป็นสาเหตุ
อาการปัสสาวะขุ่น
อาการปัสสาวะขุ่นมากพบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อและการอักเสบของไตหรือกระเพาะปัสสาวะ
อาการปัสสาวะเป็นเลือด
ผู้ป่วยที่ปัสสาวะเป็นเลือดหรือปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ แสดงว่ามีเลือดออกมาปนกับปัสสาวะ เลือดอาจจะออกมาจากไตทางกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะก็ได้
สาเหตุที่มีเลือดออกมาทางปัสสาวะนี้มีหลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากไตอักเสบ นิ่วที่ไต เนื้องอกหรือมะเร็งของไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือท่อปัสสาวะอักเสบ ผู้ป่วยที่มีเลือดในปัสสาวะ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
อาการปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม
ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะสีน้ำตาลเข้มคล้ายสีน้ำปลา มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการไตอักเสบฉับพลัน โดยเกิดจากการที่มีเลือดออกมาจากไตและต่อมาถูกแปรสภาพโดยปฏิกิริยาเคมีบางอย่างทำให้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผู้ป่วยที่มีตับอักเสบหรือผู้ป่วยโรคตับบางชนิดที่มีอาการตัวเหลือง ก็อาจจะมีปัสสาวะสีน้ำตาลเข้มคล้ายกับผู้ป่วยโรคไตอักเสบ ผู้ป่วยเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรคและรับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว
นอกจากนี้ยังมีคำถามที่ทำให้ญาติและผู้ป่วยโรคไตสับสนหลายประการดังนี้
การใช้ไตเทียมทำให้สภาพผู้ป่วยเลวลงหรืออายุสั้นจริงหรือ?
ผู้ป่วยและญาติมักจะมีความเข้าใจผิดและได้รับคำบอกเล่าผิดๆ จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ว่าผู้ป่วยโรคไตที่ใช้ไตเทียมหรือการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาจะทำให้สภาพผู้ป่วยเลวลงและอายุจะสั้น ความเข้าใจนี้ผิดอย่างยิ่ง
การใช้ไตเทียมและการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาเป็นการขจัดของเสียที่เป็นพิษออกจากร่างกายแทนไต ทำให้สภาพร่างกายดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น
ผู้ป่วยเหล่านี้ถ้าได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ สามารถมีชีวิตยืนยาวตราบเท่าที่ยังได้รับการดูแลรักษาอย่างดี มีผู้ป่วยจำนวนมากดำรงชีวิตและประกอบภารกิจการงานได้เหมือนคนปกติ บางรายยังคงเป็นที่พึ่งของสมาชิกในครอบครัว และบางรายรับผิดชอบหน้าที่สำคัญต่อสังคมและประเทศชาติ
ผู้บริจาคไตให้แก่ญาติพี่น้องทำให้อายุสั้นกว่าคนปกติจริงหรือ ?
มนุษย์เรามีไตอยู่ 2 ข้าง บางคนเกิดมามีไตเพียงข้างเดียว บางคนประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชนทำให้ไตเสียไปข้างหนึ่ง บางคนเกิดนิ่วที่ไตขนาดใหญ่มากจนทำให้ไตเสียไป 1 ข้าง บุคคลเหล่านี้ถึงแม้จะมีไตเพียงข้างเดียวก็สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป จะไม่มีอากรทางโรคไตใดๆทั้งสิ้น ร่างกายจะสมบูรณ์แข็งแรงและมีความรู้สึกเหมือนบุคคลปกติทุกประการ เพราะไตเพียงข้างเดียวก็สามารถรับภาระขจัดของเสียออกจากร่างกายตลอดจนทำหน้าที่อื่นๆได้เพียงพอ
ดังนั้นคนเราบางคนเกิดมามีไตเพียงข้างเดียวก็สามารถมีชีวิตยืนยาวเหมือนคนปกติ บางคนถึงแก่กรรมด้วยโรคชราหรือโรคอื่นๆ เมื่อผ่าศพตรวจดูแพทย์พบว่ามีไตเพียงข้างเดียว
การบริจาคไตให้กับญาติพี่น้องเป็นบุญกุศลที่ประเสริฐที่สุด เป็นการชุบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายที่ได้ผลดีที่สุด การที่ผู้ป่วยโรคไตวายได้รับไตใหม่จากญาติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขสามารถทำมาหาเลี้ยงครอบครัวเป็นที่พึ่งของสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยเพียงคนเดียวก็เท่ากับเป็นการช่วยให้ความหวังแก่ครอบครัวทั้งหมด
ที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนไตมักจะมีความสำนึกและตระหนักในชีวิตใหม่ที่เขาได้มา ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีคุณธรรม มีความเมตตา ทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือสังคมในทุกๆด้านเท่าที่จะทำได้อยู่เสมอ
ขณะเดียวกันผู้ที่จะบริจาคไตให้กับญาติพี่น้องคนอื่น หลังจากบริจาคไตไปแล้วมักจะเป็นบุคคลที่มีความอิ่มเอิบในผลบุญที่ได้กระทำไป บุคคลเหล่านี้นักจะได้รับการยกย่องสรรเสริญจากญาติมิตรตลอดจนสังคมที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดไป
ในปัจจุบัน การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตหยุดทำงานลงหรือภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic Renal Failure) มีทั้งหมด 3 แนวทางด้วยกันคือ
1. การล้างของเสียทางช่องท้อง หรือ CAPD (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis)
เป็นการล้างเอาของเสียออกจากร่างกายด้วยการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องประมาณ 1,500 – 2,000 ซีซี ทิ้งไว้ประมาณ 4 – 6ชั่วโมง เพื่อปล่อยให้น้ำยามีการแลกเปลี่ยนเอาของเสียออกจากร่างกายผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneal membrane) หลังจากนั้นจึงปล่อยน้ำที่มีของเสียปนออกมาทิ้งไป
ทั้งนี้การใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องจนกระทั่งถึงเวลาปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องถือเป็น 1 รอบของการล้าง ซึ่งในแต่ละวันจะต้องล้างเช่นนี้ 4 – 6 รอบ
2. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือ Hemodialysis
เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยไตวายผ่านเข้าไปในตัวกรองโดยอาศัยเครื่องฟอกเลือดโดยผู้ป่วยจะใช้เวลาในการฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 3 – 5 ชั่วโมง
3. การผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือ Kidney Transplantation
เป็นการนำไตของผู้บริจาคเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยไตวาย เพื่อให้ไตบริจาคนั้นทำหน้าที่แทนไตเก่าที่หยุดทำงานไปแล้ว