เรามักเคยได้ยินว่า ผู้สูงอายุมักมีอาการตาฝ้าฟางหรือตาพล่ามัว ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ใช่อาการปกติทั่วไป เเต่เป็นความเสื่อมของเลนส์กระจกตาตามอายุที่มากขึ้นเเละเป็นหนึ่งในอาการสำคัญของ “ต้อกระจก”
ต้อกระจกพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยมักเป็นต้อกระจกระยะเริ่มต้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เลนส์จึงขุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ จนเริ่มบดบังการมองเห็นในที่สุด
ต้อกระจกคืออะไร?
ต้อกระจก (cataract) เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมตามวัยหรือตามอายุที่มากขึ้น เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตาทำให้เลนส์ตาขุ่นมัวจนทำให้จอประสาทตารับเเสงได้ลดลง
เนื่องจากการขุ่นของเลนส์ตาจะเป็นไปอย่างช้า ๆ นานเป็นปี ทำให้ตาค่อย ๆ มัวลงอย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการตาแดงหรือเจ็บปวด การมองเห็นจะลดลงเมื่ออยู่ในที่มีแสงไม่เพียงพอ เหมือนมองผ่านหมอกหรือกระจกที่ขุ่น ต้อกระจกบางชนิดจะทำให้ตามัวลงเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือเมื่อขับรถกลางคืนแล้วเห็นไฟหน้ารถที่ขับสวนมาแตกกระจาย ผู้ป่วยบางรายเห็นภาพซ้อนเมื่อดูด้วยตาข้างเดียว หากทิ้งไว้นานจนต้อสุก จะเห็นตาเป็นฝ้าขาวตรงกลางได้ ซึ่งในปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจตาได้ง่ายขึ้น
ต้อกระจกมีอาการอย่างไร?
อาการของต้อกระจกที่พบบ่อย ได้แก่
- เห็นไม่ชัด หรือมัวเหมือนมองภาพผ่านกระจกฝ้าหรือผ่านหมอก
- มีอาการตาพล่ามัวหรือมองภาพได้ไม่ชัดในที่มีเเสงแดดมากหรือที่กลางเเจ้ง
- เห็นภาพซ้อนเมื่อมองด้วยตาข้างเดียว
- เมื่อขับรถกลางคืน จะเห็นไฟหน้ารถที่ขับสวนมาแตกกระจายผิดปกติ
- สายตาสั้นมากขึ้นผิดปกติ เเละเปลี่ยนเเว่นสายตาบ่อย ๆ
- ตาไวต่อเเสงเเละเเสงจ้า หรือตาสู้เเสงสว่างมาก ๆ ไม่ได้
- มองเห็นสีผิดเพี้ยนไป
- มีฝ้าขาวบริเวณตรงกลางตา
ต้อกระจกอันตรายไหม?
ต้อกระจกในระยะเเรกอาจไม่มีอันตราย เเต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน ๆ จนต้อกระจกเเข็งเเละมีอาการรุนเเรงอาจเกิดภาวะเเทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน หรือเกิดการอักเสบภายในตาทำให้เกิดอาการปวดตา ตาเเดง
การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยในการคัดกรองต้อกระจกเเละโรคต่าง ๆ ของดวงตา ทำให้ได้รับการรักษาเเละการดูเเลอย่างถูกต้อง
สาเหตุของต้อกระจก
ตากระจกมีสาเหตุหลักจากความเสื่อมตามวัย หรืออายุที่มากขึ้น โดยมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เเต่ก็สามารถพบในคนอายุน้อยได้เช่นกัน โดยมีสาเหตุดังนี้
- ผลจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ทั้งแบบรับประทานและแบบหยอดตา
- มีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก ได้แก่ โรคเบาหวาน เเละโรคความดันสูง
- ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน
- เคยได้รับอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บบริเวณดวงตา
- มีการอักเสบ หรือติดเชื้อบริเวณดวงตา
- พันธุกรรม หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อกระจก
- การทำงานกลางเเจ้ง หรือได้รับแสงแดดเเรง ๆ เป็นเวลานาน ๆ
- ภาวะเเทรกซ้อนจากโรคทางตา
- การสูบบุหรี่ เเละการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- เคยโดนฉายรังสีบริเวณศีรษะหรือดวงตา
ต้อกระจกรักษาอย่างไร?
ต้อกระจกเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษา เเละไม่มียาช่วยลดอาการเเละความรุนเเรงของโรค การรักษามีเพียงวิธีเดียวคือการผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูงเเละมีโอกาสมองเห็นได้ดีขึ้นภายหลังการผ่าตัดมากถึง 95% ก่อนการผ่าตัดต้อกระจกทุกครั้งจักษุเเพทย์จะตรวจประเมินสายตาเเละสภาพดวงตาอย่างละเอียดเพื่อพิจารณความเหมาะสมในการรักษาเเละเลือกชนิดเลนส์เเก้วตาเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
วิธีการรักษาต้อกระจก
เเบ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็น 3 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดแผลเล็กร่วมกับการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (phacoemulsification) ในปัจจุบันถือว่าเป็นวิธีมาตฐานในการรักษาต้อกระจก แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 2.2-3 มิลลิเมตร โดยการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จักษุเเพทย์ จะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ความถี่สูงสลายต้อกระจกจนหมด เเล้วจึงใส่เลนส์เเก้วตาเทียมเข้าไปเเทนที่ ข้อดีของการรักษาวิธีนี้คือแผลมีขนาดเล็กมากเเละไม่ต้องเย็บปิดเเผล ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย กลับมามองเห็นได้เร็วกว่าวิธีอื่น ๆ ไม่ต้องฉีดยาชาเเละวางยาสลบ เพราะใช้เพียงการหยอดยาชาเฉพาะที่
- การผ่าตัดเพื่อนำเลนส์แก้วตาออกเเบบเหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้หรือการผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้าง (extracapsular cataract extraction; ECCE) เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลผ่าตัดบริเวณขอบตาดำขนาดยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร เพื่อนำเลนส์ตาเก่าที่มีภาวะต้อกระจกออก จากนั้นใส่เลนส์เเก้วตาเทียมเข้าไปเเทน เเล้วจึงทำการเย็บปิดแผล วิธีการนี้จะใช้ในกรณีที่มีภาวะต้อกระจกระดับรุนเเรงจนต้อกระจกเเข็งเเละขุ่นมาก ๆ ไม่สามารถสลายได้ด้วยเครื่องสลายต้อ
- การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเลเซอร์ (femtosecond laser surgery) เป็นการผ่าตัดโดยการนำเลเซอร์มาช่วยในการผ่าตัดต้อกระจกในบางขั้นตอนที่สำคัญเท่านั้น โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของเลเซอร์ควบคู่กับการใช้เครื่องสแกนจอตา (optical coherence tomography; OCT) ทำให้มีความเเม่นยำสูงเเละมีความปลอดภัยสูงขึ้นกว่าวิธีการผ่าตัดปกติ โดยวิธีการนี้จะใช้เลเซอร์ผ่าตัดเปิดแผลเเละถุงหุ้มเลนส์ตา จากนั้นจะตัดเลนส์ตาเก่าที่มีต้อกระจกออก เเล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน
ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม
การรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์เเก้วตาเทียม สามารถเลือกเลนส์เเก้วตาเทียม (intraocular lens; IOL) ให้มีความเหมาะสมกับเเต่ละบุคคล โดยเลนส์แก้วตาเทียมมี 3 ชนิด ได้แก่
- เลนส์เเก้วตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (standard IOL) เป็นเลนส์แก้วตาเทียมมาตรฐานที่ช่วยในการมองภาพระยะไกลได้ดี มีกำลังการรวมแสงเดียว ช่วยโฟกัสภาพในระยะไกล ส่วนการมองใกล้อาจต้องอาศัยแว่นอ่านหนังสือช่วย
- เลนส์แก้วตาเทียมชนิดหลายระยะ (multifocal IOL) เป็นเลนส์เเก้วตาเทียมที่มีการมองเห็นในหลายระดับทั้งมองในระยะใกล้เเละไกล เป็นเลนส์แก้วตาที่มีหลายวง แต่ละวงมีกำลังการรวมแสงที่แตกต่างกันเพื่อโฟกัสทั้งระยะไกลและใกล้ แต่ผู้รับการรักษาต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวพอสมควร เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการมองไกลและใกล้โดยไม่สวมแว่นอ่านหนังสือ
- เลนส์แก้วตาเทียมชนิดสายตาเอียง (toric IOL) เป็นเลนส์แก้วตาเทียมที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเรื่องสายตาเอียง สำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงร่วมกับภาวะต้อกระจกก่อนการผ่าตัด
ต้อกระจกผ่าตัดเมื่อไหร่ดี?
ต้อกระจกในระยะเเรกยังไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด หากไม่รบกวนการมองเห็นเเละการใช้ชีวิตประจำวัน โดยในระยะเเรก หากมีปัญหาการมองเห็นภาพไม่ชัดเจน อาจเเก้ปัญหาด้วยการใส่เเว่นสายตาช่วยเรื่องการมองเห็นเเละตัดเเสงรบกวน เเต่ควรติดตามอาการกับจักษุเเพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานจนต้อกระจกเเข็งเเละมีอาการรุนเเรงจะทำให้การผ่าตัดยากขึ้น หรือเกิดเป็นต้อหินได้ ซึ่งหากมีต้อหินรุนแรงและปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น
การป้องกันต้อกระจก
ต้อกระจกสามารถป้องกันได้โดยการปฏิบัติตัวดังนี้
- ผู้ที่มีอายุตั้งเเต่ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายเเละสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี
- ควรสวมเเว่นกันแดดเวลาทำกิจกรรมกลางเเจ้งหรือที่มีแดดเเรง
- รักษาเเละรับประทานยารักษาโรคประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะโรคเบาหวานเเละโรคความดันสูง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาเเละหยอดยากลุ่มสเตียรอยด์จนเกินความจำเป็นหรือยังไม่ได้รับคำเเนะนำจากเเพทย์ให้ใช้ยาในกลุ่มดังกล่าว
- งดสูบบุหรี่ เเละงดการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเเละพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพิ่มการรับประทานผักเเละผลไม้ เนื่องจากมีวิตามินเเละเเร่ธาตุเเละช่วยในการบำรุงสายตา
สรุป
“ต้อกระจก” เป็นภาวะที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ โดยพบในผู้สูงอายุตั้ง 60 ปีขึ้นไป เเต่ก็สามารถพบในผู้มีอายุน้อยได้เช่นกัน ในระยะเเรกจะมีอาการไม่รุนเเรง มีตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน เเต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจนรุนเเรงจะทำให้เกิดโรคต้อหินที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ การรักษามาตรฐานในปัจจุบันคือการผ่าตัด
การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีจึงช่วยคัดกรองต้อกระจกเเละโรคทางตาอื่น ๆ และหากพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรกของโรคก็จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและทำให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม