เสียงกรน ไม่ได้เป็นเพียงเสียงรบกวนผู้อื่นในขณะนอนหลับแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังแฝงอันตรายถึงชีวิตได้โดยที่คุณเองอาจไม่ทราบมาก่อน
เสียงกรน คือ เสียงของการสั่นพลิ้วสะบัดของลิ้นไก่ เนื้อเยื้อบริเวณเพดานอ่อน และช่องคอส่วนบน เกิดเมื่อมีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน พบบ่อยในคนวัยกลางคนอายุระหว่าง 30 – 60 ปี โดยมักพบภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจประมาณ 4% ในผู้ชาย และ 2% ในผู้หญิง
การนอนกรน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- การนอนกรนธรรมดา ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังรบกวนต่อคนรอบข้าง
- การนอนกรนร่วมกับภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น ได้แก่ มีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน สมาธิไม่ดี และมีปัญหานอนกรน ทั้งนี้อาจพบอาการแสดงอื่นได้
- ตื่นนอนด้วยความรู้สึกที่ไม่สดชื่น
- เจ็บคอ คอแห้ง
- มีอาการหายใจไม่ออกขณะหลับ
- หงุดหงิดง่าย บุคลิกภาพเปลี่ยน
- ปัสสาวะรดที่นอน (มักจะพบในเด็ก)
- มีการหยุดหายใจขณะหลับ และนอนกระสับกระส่ายโดยได้ประวัติจากคู่นอน
- ความต้องการทางเพศลดลง และมีผลต่อสุขภาพ เช่น
1. โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจขาดเลือด
2. ภาวะตีบตันของหลอดเลือดในสมอง
3. ความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดในปอด