มะเร็งโรคที่ใครก็ไม่อยากเจอ
มะเร็ง หรือ เนื้องอกร้าย เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย กล่าวคือจะมีการแบ่งตัวของเซลล์อย่างควบคุมไม่ได้จนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามตำแหน่งที่เกิดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ความผิดปกติของเซลล์มะเร็งนั้น อาจจะเกิดขึ้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้นและแสดงอาการพื้นฐาน และอาการบกพร่องของอวัยวะนั้นๆ เช่น น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ระบบการทำงานผิดปกติไปจากเดิม ชนิดของมะเร็งแบ่งประเภทได้ 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- Carcinoma มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุต่างๆ พบมะเร็งชนิดนี้ได้กว่า 85% และผู้สูงอายุมักจะเป็นมะเร็งชนิดนี้มากที่สุด
- Sarcoma มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ
- Lymphoma มะเร็งที่พัฒนาขึ้นจากต่อมน้ำเหลือง
- Leukemias มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก
- Melanoma มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีที่ผิวหนัง
สาเหตุการเกิดโรค
90% ของสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเนื่องมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น วิถีการดำเนินชีวิต ปัจจัยทางเศรษฐกิจและมลพิษ ยาสูบ อาหารและโรคอ้วน การติดเชื้อ การสัมผัสกับรังสี ความเครียด และการขาดการออกกำลังกาย ส่วนอีก 10% เกิดจากความผิดปกติของเซลล์
ข้อบ่งชี้ของการเกิดโรค
มะเร็ง เป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ข้อบ่งชี้ของโรคจะแสดงออกเมื่อมีความผิดปกติของก้อนเนื้อ เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีการเกิดเป็นแผลหลุมอย่างต่อเนื่อง จนกระทบกับการทำงานของอวัยวะ และสุขภาพ โดยในระยะที่แสดงอาการจะมีข้อบ่งชี้หลายประการ เช่น น้ำหนักตัวลดผิดปกติ เป็นไข้ และเหนื่อยง่าย
อย่างไรก็ตามเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ จะส่งผลกับระบบการทำงานและแสดงอาการออกมาชัดเจน
- มะเร็งที่ปอด สามารถก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดลม ทำให้ไอเรื้อรัง หรือเหนื่อยง่ายขึ้น
- มะเร็งที่หลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารตีบตัน ทำให้มีอาการกลืนลำบาก กลืนติด
- มะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ อาจนำไปสู่การตีบของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายไม่สะดวก มีเลือดออก
- มะเร็งอัณฑะ อาจตรวจพบว่ามีก้อนที่อัณฑะ
อย่างไรก็ตามในระยะแรกของการเกิดเซลล์มะเร็ง จะแสดงอาการผิดปกติน้อยมากจนถึงไม่มีอาการเลย การจะทราบว่าเป็นโรคหรือไม่ จะทราบได้จากการตรวจทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน การตรวจคัดกรองมะเร็งแต่ละประภทได้มีการพัฒนาไปมากทำให้สามารถทราบอาการป่วยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพในมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
การดูแลป้องกัน
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนหนึ่งของปัจจัยแวดล้อมในการเกิดมะเร็งนี้สามารถควบคุมได้ โรคมะเร็งจึงถือว่าเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยกว่า 30% ของมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิต สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่ การมีน้ำหนักเกิน โรคอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์ การไม่ออกกำลังกาย การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การหลีกเลี่ยงสารเคมี และสารพิษต่างๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง
การรักษาทางการแพทย์
การดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็ง อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว จะมีแนวทางการรักษาหลักๆ อยู่ 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาต่างๆ เช่น ยาเคมีบำบัด ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะจุด รวมถึงยาต้านฮอร์โมน และการใช้รังสีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคมะเร็ง และความแข็งแรงของผู้ป่วย
เกร็ดความรู้
การรักษามะเร็งให้ได้ผลดีนั้นคนไข้จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาแบบบูรณาการ โดยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละด้าน ทั้งศัลยแพทย์ผ่าตัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสี และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระบบเฉพาะ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น การคัดเลือกโรงพยาบาลที่เหมาะสมนอกจากต้องพิจารณาถึงมาตราฐานการรักษาในระดับสากลแล้ว ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ก็เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการรักษา
ข้อมูลโดย : อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลพระรามเก้า