การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหารสามารถเข้าไปส่องดูภายในของลำไส้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ในปัจจุบันวิธีนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจหาและป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ นับเป็นหนึ่งในการตรวจคัดกรองมะเร็งที่มีการแนะนำให้ทุกคนควรได้รับตรวจหากอยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปีขึ้นไป
ลำไส้ใหญ่คืออะไร?
ลำไส้ใหญ่ (colon) คือ อวัยวะที่เป็นท่อของกล้ามเนื้อในส่วนท้ายของระบบทางเดินอาหาร โดยต่อมาจากลำไส้เล็กแล้วไปสิ้นสุดที่ไส้ตรงและรูทวาร ลำไส้ใหญ่มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร
หน้าที่หลักของลำไส้ใหญ่ คือเปลี่ยนกากอาหารที่ผ่านการย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็ก ให้กลายเป็นอุจจาระ โดยการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุที่ยังเหลืออยู่ และบีบตัวให้อุจจาระเคลื่อนที่ไปจนขับถ่ายออกจากร่างกายในที่สุด นอกจากนั้นลำไส้ใหญ่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งสมดุลของจุลินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม
มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (colon cancer หรือ colorectal cancer) คือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ โดยเริ่มจากการเป็นติ่งเนื้องอก (polyps) จากนั้นจึงมีการพัฒนาต่อไปเป็นเซลล์มะเร็ง
มะเร็งลำไส้ใหญ่จะทำให้ลำไส้ใหญ่มีการทำงานผิดปกติไป สูญเสียการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุ ส่งผลต่อลักษณะของอุจจาระและการขับถ่าย ทำให้ผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องผูกหรือท้องเสียบ่อย อาจมีท้องผูกสลับกับท้องเสีย ถ่ายไม่สุด อุจจาระมีก้อนเล็กลง มีมูกเลือดปนเวลาเบ่งถ่าย รวมทั้งอาจมีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักและมีเลือดออก หรือตรวจพบเลือดแฝงในอุจจาระจากการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งหมดนี้คือสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งหากปล่อยไว้เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด
วิธีการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพ กินอาหารที่มีกากใยสูงเป็นประจำ หมั่นสังเกตการขับถ่าย และที่สำคัญที่สุด คือ การตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพราะจะช่วยให้เราตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเนื้องอก และตัดออกได้ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็ง หรือถ้าหากพบว่าเป็นมะเร็ง ก็จะสามารถพบได้เร็วตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ก็จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่ามาก
ส่องกล้องลำไส้ใหญ่คืออะไร? ทำอย่างไร?
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เป็นการใช้กล้องที่มีลักษณะเป็น fiber optic ที่ปลายกล้องมีเลนส์ขยายภาพ อีกด้านหนึ่งเป็นส่วนควบคุมซึ่งต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดแสง แล้วส่งภาพมาปรากฎบนจอโทรทัศน์
โดยแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปทางปากทวารหนักจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นซึ่งต่อกับลำไส้เล็กส่วนปลายทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ได้ถูกต้องแม่นยำ สามารถวินิจฉัยว่าเป็น แผล เนื้องอก มะเร็ง หรือความผิดปกติของเส้นเลือดในลำไส้ใหญ่ นอกจากนั้นเครื่องมือยังสามารถกำจัดเนื้องอกผิดปกติได้ในทันที การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จึงนับได้ว่าเป็นทั้งการตรวจคัดกรองและการรักษาป้องกันในคราวเดียวกัน
ผู้ที่ควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป แม้จะสุขภาพดี ไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ควรได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ทุก 3-5 ปี
- ตรวจอุจจาระพบเม็ดเลือดแดงแฝง (stool occult blood: positive) หรือผลการตรวจเลือดพบค่าสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (CEA) สูงผิดปกติ
- มีอาการปวดท้องเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการคล้ายริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งมีก้อนเนื้อยื่นออกมา
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูก หรือท้องเสียเป็นประจำ หรือ ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายไม่สุด หรือถ่ายอุจจาระเรียวแบน
- ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปน อาจจะเป็นสีแดงสดหรือสีคล้ำ และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- คลำพบก้อนในท้อง น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลีย
- โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
สำหรับในด้านการรักษา สามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ ส่งตรวจและการตัดเอาเนื้องอกที่เป็นติ่งเล็ก ๆ ผ่านกล้อง โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดช่องท้อง และในกรณีมีเลือดออกจากลำไส้ใหญ่ สามารถหาสาเหตุและห้ามเลือดโดยผ่านกล้องได้
ทั้งนี้ ก่อนทำการส่องกล้องแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการประเมินโรคประจำตัว และยาที่ทานเป็นประจำ เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด (Aspirin,Plavix) หรือ วิตามินอี เพราะทำให้เลือดหยุดช้า ต้องหยุดยาก่อนมารับการตรวจ 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในการตรวจ เพื่อผลการตรวจที่ดีที่สุด
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องลําไส้ใหญ่
- ก่อนวันนัด 3 วัน ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย งดผัก ผลไม้และอาหารที่มีเส้นใย และดื่มน้ำมาก ๆ
- การเตรียมลำไส้ใหญ่ เป็นการเตรียมตัวก่อนการตรวจที่สำคัญที่สุด เนื่องจากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต้องให้กล้องที่สอดเข้าไปสามารถถ่ายภาพผนังลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน แพทย์จึงจะสามารถตรวจหาความผิดปกติได้อย่างทั่วถึง ไม่ถูกบดบังโดยอุจจาระ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องรับประทานยาระบาย และสวนอุจจาระเพื่อขับอุจจาระที่ตกค้างออกให้หมด โดยอาจมีการให้น้ำเกลือเพื่อช่วยลดอาการขาดน้ำและอ่อนเพลีย
- ในวันตรวจ ผู้ป่วยควรมีญาติมาด้วย ไม่ควรขับรถมาเองคนเดียว
อาการที่อาจพบได้หลังการตรวจ
- ท้องอืด มีลมในลำไส้ เนื่องจากมีการใส่ลมเพื่อขยายผนังลำไส้ใหญ่ให้เห็นได้ชัดขณะส่องกล้อง
- อุจจาระอาจมีเลือดปนเล็กน้อย เนื่องจากอาจมีหัตถการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก ถ่ายอุจจาระมีเลือดปนไม่หยุด ควรรีบมาพบแพทย์
ส่องกล้องลําไส้ใหญ่อันตรายไหม?
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่นับเป็นการตรวจคัดกรองที่ปลอดภัยสูง ความเสี่ยงต่ำ โดยผลการศึกษาเมื่อปี 2016 ในสหรัฐอเมริกา พบว่า มีอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงรุนแรงเกิดขึ้นน้อยมาก เพียง 4-8 ครั้งต่อการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ 10,000 ครั้ง
สรุป
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การส่องกล้องลำไส้ใหญ่มีความสำคัญในการป้องกันและรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะการส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยที่ไม่ต้องรอให้ก้อนมะเร็งใหญ่จนแสดงอาการป่วยและความผิดปกติให้เห็น ซึ่งมักจะเป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว หากตรวจคัดกรองพบก้อนเนื้อผิดปกติแต่เนิ่น ๆ แพทย์สามารถตัดได้ทันทีก่อนที่จะพัฒนากลายไปเป็นมะเร็ง การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จึงนับเป็นหนึ่งในการตรวจคัดกรองมะเร็งที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง และคุ้มค่า