โรคกรดในกระเพาะไหลย้อนสู่หลอดอาหาร (GERD)
โรคนี้คือโรคอะไร เกิดจากสาเหตุใด
ตอบ เป็นภาวะที่มีน้ำย่อย และ กรดในกระเพาะไหลย้อนไปสู่หลอดอาหาร จนก่อให้เกิดอาการ ในบางรายอาจมีการอักเสบแดง รายรุนแรงมากอาจมีแผล อาจเรื้อรังจนเกิดพังผืด จนหลอดอาหารตีบ หรือ มะเร็งหลอดอาหารแทรกซ้อนได้ด้วย ผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งอาจไหลย้อนจนเกิดสำลัก เสียงแหบไอเรื้อรัง หรือเกิดปัญหาหลอดลม หรือปอดอักเสบ อาการในผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเป็นกลางดึก หรืออยู่ในท่านอนคอพับ สาเหตุพบว่าในบางคนอาจมีหูรูดที่ส่วนต่อระหว่างหลอดอาหาร และ กระเพาะ เปิดบ่อยกว่าปกติ จนทำให้น้ำย่อยขึ้นมาทำลาย ระคายเคืองหลอดอาหารดังกล่าว บางคนเป็นปัญหาของการเคลื่อนไหวบีบตัวของหลอดอาหาร หรือ กระเพาะบีบตัวผิดปกติ หรือ บางคนเกิดจากไส้เลื่อน คือกระเพาะเลื่อนขึ้นไปในอก ทำให้ไม่มีหูรูดหลอดอาหารก็พบได้ (hiatal hernia)
อาการของโรคนี้ เป็นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้
ตอบ อาจมีอาการใดอาการหนึ่งอาการเดียว หรือ อาจมีหลาย ๆ อาการในที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ก็ได้ ได้แก่
- ปวดแสบหรือปวดจุกลิ้นปี่(ด้านบนสุดของท้อง) ถ้ามีอาการแสบอก, แน่นอก, เรอเปรี้ยว เกินกว่า 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจเกิดจากภาวะนี้ บางครั้งอาจแสบไปถึงคอ
- แน่นอก แบบอึดอัด หายใจไม่สะดวก คล้ายโรคหัวใจ หวิว หรือ ปวดแสบอก
- กลืนลำบาก หรือ ติด
- กลืนเจ็บ
- คอเจ็บ ไอ หรือ เสียงแหบเรื้อรัง
- ไอเรื้อรัง, หอบหืดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนตอนเด็ก ๆ หรือ หอบกลางดึก, บางคนมีปอดบวมเรื้อรัง
- สำลักอาหาร หรือ น้ำ เรอเปรี้ยว เปรี้ยวในคอ
- แน่นในคอ
- โรคฟันเรื้อรัง แย่ลง
- โรคไซนัสเรื้อรัง( sinusitis )
- ตื่นมากลางดึก แน่นอก แสบอก หรือ หายใจไม่สะดวก
วินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร?
ตอบ ส่วนใหญ่ขึ้นกับอาการ และ การตอบสนองต่อยารักษา มากกว่าการตรวจพิเศษ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษให้ถ้า อาการไม่ชัดเจนนัก หรือ มีอาการเตือนโรคมะเร็ง หรือ ภาวะแทรกซ้อน (“alarm” symptoms (เช่น มีเม็ดเลือดขาวต่ำมาก ผอมลง เลือดออก ซีดไม่ทราบสาเหตุ มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง หรือ กลืนติด)) ในรายที่ต้องใช้ยานาน ๆ ไม่หายขาด ก็อาจจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุ เพื่อพิสูจน์โรคนี้ หรือ แยกโรคอื่น ๆ
– แรกสุดจะเป็นการแยกโรคร้ายแรง ที่ไม่ใช่โรคนี้ แต่อาการคล้ายกัน ได้แก่ ผู้ป่วยที่แน่นอกควรแยกโรคหัวใจก่อน
– กรณีที่มีอาการที่ไม่แน่ว่าเป็นโรคนี้แน่ ต้องการพิสูจน์โรค หรือ หาโรคแทรกซ็อนโรคนี้ อาจต้องตรวจดังนี้
1. การส่องกล้องตรวจ (Endoscopy) โดยใส่สายที่ยืดหยุ่นได้ดี ขนาดเล็ก ๆ ( small, flexible tube ) ที่มีแสงสว่างตรงปลาย และ มีกล้องขยายภาพถ่ายภาพยนตร์ จะเห็นการอักเสบ, แผล หรือ โรคแทรกซ้อนดังที่กล่าวแล้ว รวมทั้งสามารถเก็บตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยได้ด้วย เพื่อแยกโรคมะเร็ง หรือ ความลึกความรุนแรงของการอักเสบ
2. การกลืนแป้ง (Barium swallow) โดยการกลืนสารทึบแสง แล้วเอ๊กซเรย์ตรวจ จริง ๆ แล้วการตรวจนี้จะตรวจเฉพาะแผลใหญ่ ๆ หรือ เนื้องอกใหญ่ ๆ ไม่ช่วยตรวจดูการอักเสบตื้น ๆ หรือ ช่วยดูการเคลื่อนไหวผิดปกติของหลอดอาหาร โดยทั่วไปไม่เหมาะสมในการตรวจโรคนี้
3. การตรวจกรดในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมง ( 24-hour esophageal pH study ) เป็นวิธีที่ไวที่สุดในการตรวจโรคนี้ โดยการกลื่นสายเล็ก ๆ แล้วปล่อยค้างในหลอดอาหารตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อวัดกรด เปรียบเทียบกับอาการ โดยต่อข้อมูลไปในกล่องบันทึกที่เหน็บไว้ที่เอว แล้วไปวิเคราะห์ข้อมูลผ่านทางคอมพิวเตอร์ ดูความถี่ของภาวะสำลักกรดขึ้นมาหลอดอาหาร ว่ามากหรือน้อย นานแค่ไหน สัมพันธ์กับอาการหรือไม่ ส่วนใหญ่มักลองรักษาก่อน แล้วถ้าหายได้ก็เป็นการวินิจฉัยโรคนี้ มากกว่าทำการตรวจวิธีนี้
4. การใช้เครื่องดูการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร (Esophageal manometry) เพื่อดูการบีบตัวของหลอดอาหารโดยใช้เครื่องวัดความดันที่ผนังของหลอดอาหาร จากที่กล่าวแล้วว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารผิดปกติ รวมทั้ง การตรวจการเคลื่อนไหวยังช่วยดูการสำลักการหย่อนของหูรูดด้วย มักทำในรายสงสัยภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือ วางแผนการผ่าตัดเพื่อกำหนดวิธีการผ่าตัดหูรูดได้ถูกต้องขึ้น
โรคที่เกิดกับหลอดอาหารอื่นมีอะไรบ้าง อาการดังที่กล่าวในข้อ 2 เช่นจุกคอ แน่นในอก กลืนติด เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
ตอบ โรคที่ทำให้เกิดแน่นในอก ขอเน้นย้ำให้แยกโรคในช่องอก คือเอ๊กซเรย์ปอด แยกโรคหัวใจโดยการวิ่งสายพานตรวจให้แน่นอนว่าไม่ใช่โรคในกลุ่มนี้ก่อนนะครับ
– อาการจุกในลำคอถ้าเป็นไม่นานเกิน 1 ถึง 2 อาทิตย์ น่าลองรักษาดูก่อน ไม่ควรตรวจหาสาเหตุครับ แค่ซักประวัติและให้ยาก็หายได้ง่ายแล้วครับ ผมจะสรุปว่าเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ทำให้ครบไปเลยครับ แต่อย่าไปเครียดว่าเราเป็นตามที่ไล่ให้ฟังนะครับ เพราะส่วนใหญ่ที่เจอไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไรครับ ไล่ให้ครบเพื่อเป็นวิทยาทานนะครับ และจะสรุปการแก้ไขตามสาเหตุดังนี้ครับ
- อาหารที่บาด เคือง ให้กินอาหารอ่อนข้าวต้ม โจ๊ก พักหนึ่งครับ
- อาหารเผ็ดเปรี้ยว แต่มักมีโรคหลอดอาหารร่วมด้วย ให้เลี่ยงเผ็ดเปรี้ยว
- ความรู้สึกไปเอง
- โรคหลอดอาหารอักเสบ ให้ปฏิบัติตามที่แนะนำใน บทความ โรคกรดย้อนก่อให้หลอดอาหารอักเสบ ที่เขียนในนี้ครับ
- โรคยาติด ให้ทบทวนดูว่าทานยาผิดอะไรไปบ้าง คราวหน้าทานยาให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ หลังทานยาอย่าล้มนอนทันที
- โรคติดเชื้อเริม ถ้ามีแผลในปากนำมาก่อนให้รีบพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยารักษา จะได้ผลเร็วดีถ้ามารักษาตั้งแต่วันแรก ๆ ของการติดเชื้อครับ
- โรคติดเชื้อรา ให้ทบทวนว่าเราปัสสาวะบ่อยมานานหรือเปล่า หรือ กินยาฆ่าเชื้อนานเกินไป ให้รีบพบแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาครับ
- โรคหลอดอาหารอักเสบจากยากลุ่มแอสไพริน แก้ข้อแก้กระดูก ให้เลี่ยงยานี้ แล้วรีบรับยารักษาหลอดอาหารครับ
- โรคเอดส์หลอดอาหารอักเสบแบบไม่มีสาเหตุ ถ้ามีน้ำหนักลด มีความเสี่ยงเอดส์ควรปรึกษาแพทย์ครับ บางรายอาจมีการติดเชื้อไวรัส และ เชื้อราที่
- หลอดอาหารแทรกซ้อนครับ
- โรคร้อนใน หรือ โรคภูมิแพ้กลุ่มหลอดอาหารอักเสบ และ การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อหลอดอาหาร ถ้าเป็นนาน ๆ หรือเป็นๆหายๆ ไม่หายขาด ควรปรึกษาแพทย์ดูนะครับ
- โรคกระดูก ต่อมน้ำเหลือง เส้นเลือดโป่ง โรคปอด กดจากภายนอก กลุ่มนี้จะมีอาการหรือความเสี่ยงโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยครับ
- โรคการกินผม กินเยื่อ กินตะปู คล้าย ๆ โรคจิตใจครับ ในเมืองไทยพบภาวะนี้ได้น้อยครับ
- ภูมิแพ้ระคายเคืองคอ หรือ บางคนเป็นแผลร้อนใน เป็นๆ หาย ๆ
โรคแทรกซ้อนของภาวะกรดไหลย้อน มีอะไรบ้าง?
ตอบ ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาโรคแทรกซ้อนนอกจากปัญหาอาการที่กล่าว โรคแทรกซ้อนที่สำคัญได้แก่ แผล, แผลเป็นจนทำให้เกิดการตีบ, มะเร็งแทรกซ้อนที่หลอดอาหาร, ปัญหาทางปอด หรือ คอ ในรูปแบบเสียงแหบ ไอเรื้อรัง หอบหืด สำลัก หรือ ปอดบวม
– มีภาวะหนึ่งที่เกิดจากเซลล์ในกระเพาะย้ายขึ้นมาที่หลอดอาหาร ( Barrett’s esophagus ) มักในคนที่เป็นโรคนี้นาน ๆ เหมือนเป็นการปรับผิวเซลล์เพื่อแก้ไขภาวะนี้ แต่เกิดปัญหาเพราะเซลล์ที่อยู่ผิดที่ดังกล่าวอาจกลายเป็นมะเร็งได้ จึงต้องทำการส่องกล้องตรวจชิ้นเนื้อ และ ถ้าพบว่าเป็นภาวะนี้แล้ว ควรรักษาอย่างเคร่งครัด และทำการส่องกล้องตรวจซ้ำจนแน่ใจว่าหายจากภาวะนี้แล้วจริง ส่วนใหญ่เป็นในชาวตะวันตก เพศชาย และมักในคนที่อายุมาก มากกว่า แต่ก็พบได้ในคนอายุน้อยอื่น ๆ ด้วยได้
รักษาโรคนี้อย่างไร
ตอบ กรณีอาการน้อย (Mild symptoms) รักษาโดยการปรับปรุงการปฏิบัติตัวเช่น
1. หยุดสูบบุหรี่ บุหรี่ทำให้น้ำลายซึ่งเป็นตัวชะล้างกรดทางธรรมชาติลดลง ทำให้การปิดของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่ดี รวมทั้งการไอจากการสูบทำให้ความดันในท้องสูงเป็นพัก ๆ เกิดการย้อนของกรดในกระเพาะขึ้นมาได้ง่าย และ บ่อยขึ้น
2. เลี่ยงสาร หรืออาหาร ที่ทำให้เกิดภาวะนี้มากขึ้น และ พิจารณาใช้หมากฝรั่งช่วย
กลุ่มที่ 1. การทานหมากฝรั่ง จะเป็นการสร้างน้ำลาย ซึ่งมีฤทธิเป็นด่าง ทำให้หลอดอาหารกรดลดลง และ มีอาการดีขึ้นได้ คล้ายเรามีแผลในปากการใช้น้ำลาย หรือ ไม่คอแห้งก็จะหายเร็วขึ้น แต่บางคนทานหมากฝรั่ง เคี้ยวเกิดลมแล้วเรอง่าย ก็ทำให้เรอเอากรดย้อนขึ้นมาได้ จึงแนะนำให้ทานยาลดกรด แบบไม่ใช้หมากฝรั่งช่วยดูก่อน ถ้าหายยาก ๆ และ ไม่เรอง่ายก็ควรทานหมากฝรั่งช่วยครับ
กลุ่มที่ 2.อาหารที่ห้ามในโรคหลอดอาหารคืออาหารที่ทำให้เกิดลม ทำให้เรอครับ ได้แก่
– ถั่วทุกชนิด เม็ดแตงโม มันฝรั่งแห้ง ทานเล่น
– ผักย่อยยากเกิดลม: แตงกวา กะหล่ำ ดอกกล่ำ บร๊อคคอลี่ (broccoli) หัวหอม แอสพารากัส หนอไม้ฝรั่ง (Asparagus)
– ผลไม้ที่มีลม: ลูกเกด ลูกพรุน แอปเปิล ฝรั่ง กล้วย มะม่วงดิบ ขนุน ลำไย ผลไม้แห้ง ทุเรียน
– คาร์โบไฮเดรตที่บางคนอาจย่อยไม่ได้ดี: ก๋วยเตี๋ยว (ข้าวไม่เกิดลม) ธัญพืชซ้อมมือ น้ำตาลเทียม ขนมปัง wheat
– นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ซอสครีม เนย ครีม เค๊ก ไอศกรีม ช๊อคโกแล๊ต (บางคนทานได้)
อาหารมัน ๆ เช่น ไขมัน อาหารทอด เนื้อติดมัน
กลุ่มที่ 3.อาหารอีกกลุ่มมีผลต่อหูรูดปิดไม่สนิท ทำให้กรดตีขึ้นได้ง่ายได้แก่ สารที่ทำให้หูรูดหย่อนง่าย เช่นกาแฟ, ชา, chocolate,สารแอลกอฮอล์ และ peppermint
กลุ่มที่4. เป็นอาหารที่มีไขมันสูง เผ็ด หรือ เปรี้ยว เป็นกรด แต่ที่จริงส่วนใหญ่กรดที่ทำรายหลอดอาหารมาจากกระเพาะมากกว่าการรับประทานครับ ช่วงแรก ๆ ยังคงแนะนำให้งดอาหารเผ็ด และ เปรี้ยวไปก่อน
3. เลี่ยงการกินช้ากว่าเวลาอาหาร หรือ
4. เลี่ยงการกินดึก กินแล้วลงนอนเร็ว ไม่ควรนอนเล่นหลังทาน, ควรเลื่อนเวลานอนหลับ ให้หลับหลังทานไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง พยายามหากิจกรรมที่ทำให้เกิดการเดิน ยืน หรือ นั่งนาน ๆ หลังทาน เช่น งานอดิเรก ปั่นจักรยานออกกำลังกาย รดต้นไม้ จูงสุนัข เป็นต้น
5. มื้อเย็นอาจต้องกินอาหารอ่อนข้าวต้มเครื่อง และ โจ๊ก, ให้เลี่ยงผัก หรือ ผลไม้เพื่อหวังให้อาหารมื้อเย็นจะได้ย่อยเร็ว และผ่านกระเพาะให้หมดเร็วก่อนนอนครับ
– อาจต้องเดินหลังทานข้าวเย็นช่วยให้กระเพาะบีบตัวไล่อาหารได้ดี
– แล้วไปกินหนัก เยอะ ๆ ที่มื้อเที่ยงแทน โดยห้ามล้มลงนอนเล่นหลังทานข้าวเที่ยง
6. กินน้อย ๆ บ่อย ๆ อย่ากินเยอะไป
7. ลดน้ำหนักในรายที่อ้วนมาก
8. อย่าใส่ชุดรัดแน่น
9. ยกเตียงสูงขึ้น 6-8 นิ้ว อย่านอนตัว หรือ คอพับ (ใช้หมอนรองคอสูงไม่ถูกต้อง เพราะความดันในท้องจะตีขึ้นมาจากการงอคอ หรือ ตัว)
10. ดูตัวยาที่มีผลต่อโรคนี้ ได้แก่ ยากลุ่มความดัน ยาหลอดลม ยาฮอร์โมน
11. อาจนอนตะแคงซ้ายลง จะช่วยให้หูรูดปิดสนิทไม่มีกรดย้อนได้ดีกว่าในบางคน
12. ในรายที่ไม่หายอาจต้องปรับยาให้แรงขึ้นกว่าเดิม หรือกินยานานขึ้นจึงจะหายครับ
– อาการมาก (Moderate to severe symptoms) หรือ ไม่ตอบสนองต่อการปฏิบัติตัว ( lifestyle modifications) ตามที่กล่าวด้านบน ควรให้ยาลดกรด นิยมให้ยาที่ลดกรดมากกว่ายารักษากระเพาะทั่วไป เช่นยาในกลุ่ม H2 antagonists และยาลดการปั้มของกรดโปรตอน (proton pump inhibitors) พบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนอาจลด หรือ หยุดยาไม่ได้อาจต้องใช้ยาเป็นปีก็มี แต่พบว่ายาทั้ง 2 กลุ่มนี้ปลอดภัยมาก แต่มักมีปัญหาที่ราคายาแพงมากกว่า
โรคนี้รักษาหายได้ไหม?
ตอบ จริง ๆ แล้วยาไม่ได้รักษาโรคนี้ แต่ลดอาการ หรือ การทำลายหลอดอาหาร เพราะโรคนี้เป็นเป็นหาการเปิดของหูรูด ควรพยายามปฎิบัติตัวตามที่แนะนำ จึงจะหายขาดได้ และไม่ต้องพึ่งยาอีกต่อไป กรณีไม่หายอาจต้องพิจารณาผ่าตัดรักษา (ส่วนใหญ่แค่ทานยาก็พอ ไม่ถึงกับต้องผ่าตัด) ปัจจุบันการผ่าตัดนิยม ทำการผ่าโดยการส่องกล้อง เฉพาะในรายที่รักษายาก หรือ อยากหายขาด ( laparoscopic Nissen fundoplication ) โดยการซ่อม เพิ่มแรงดันที่หูรูดของหลอดอาหาร ซึ่งจะทำในรายที่ไม่หาย อาการรุนแรง เป็นภาวะนี้เรื้อรังในคนอายุน้อย ไม่มีสาเหตุการปฎิบัติตัวที่แก้ไขได้ บางรายผ่าเพราะมีปัญหาที่ยอมรับไม่ได้เช่น กลืนติดมาก ๆ มีความรู้สึกแน่นแบบลมตี ที่ยอมรับไม่ได้ (“gas-bloat syndrome”) และท้องเสียเนื่องจากภาวะนี้รบกวนระบบประสาทอัตโนมัติ (โชคดีที่ภาวะนี้พบน้อยมาก) แต่การศึกษาผลการรักษาระยะยาวยังไม่มีสนับสนุนการผ่าตัดมากเพียงพอนัก ก่อนทำการผ่าตัดต้องตรวจวัดความดันในหลอดอาหาร (manometry) และ ส่องกล้องก่อนผ่าตัด
วิธีใหม่ ๆ ในการรักษาโรคนี้
ตอบ ปัจจุบันมีการส่องกล้องผ่าตัดโดยเกิดแผลเล็กกว่า และ ใช้กล้องที่มีคุณภาพดีกว่า , มีการเย็บหูรูดหลอดอาหาร, มีการใช้คลื่นวิทยุ (radio-frequency energy) ผ่านทางกล้องส่องกระเพาะ เพื่อแก้ไขหูรูดนี้ (ไม่ต้องผ่าตัด) แต่ยังอยู่ในขั้นศึกษาผลการรักษาเหล่านี้อยู่