เมื่อผลการตรวจเลือดของท่านพบว่าระดับสารบ่งชี้มะเร็งในทางเดินอาหาร ( CEA) ซึ่งมีผลเป็นปกติอาจไม่ได้เป็นสิ่งตัดสินว่าท่านไม่มีโรค เพราะเนื้องอกหรือมะเร็งของอวัยวะใด อวัยวะหนึ่ง อาจไม่ได้สร้างสารเคมีที่สามารถตรวจได้จากระดับเลือดเหมือนกันทั้งหมด
ดังนั้นหากท่านอายุ 50 ปีขึ้นไป หรืออายุหน้อยกว่า 50 ปี แต่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง หรือมีอาการผิดปกติที่อาจบ่งบอกถึงโรคมะเร็ง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ ปวดท้องเรื้อรัง กลืนอาหารลำบาก ท้องโต คลำพบก้นในช่องท้อง การขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม อุจจาระมีเลือดปน
ท่านควรได้รับการตรวจโดยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ (Gastroscope & Colonoscope) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะสามารถตรวจพบความผิดปกติของเนื้องอกได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่มีขนาดเล็กแล้วสามารถตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยว่าผิดปกติทิ้งไปได้ผ่านเครื่องมือที่สอดสายเข้าไปในสายของกล้องได้อย่างปลอดภัย
ในปัจจุบันนี้มีวิธีการตรวจลำไส้ใหญ่โดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เฉพาะส่วนของลำไส้ใหญ่ (CT Colonoscope) แล้วนำภาพที่ได้จากการตรวจไปสร้างภาพ 3 มิติ ทำให้ได้ภาพเสมือนการตรวจโดยการส่องกล้อง ทั้งนี้วิธีการดังกล่าว มีข้อจำกัดตรงที่เมื่อตรวจพบความผิดปกติจะไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจสอบได้ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงถือได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับที่พบว่ามีอาการผิดปกติ และต้องการตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นโดยไม่ต้องตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง