(นพ.วิโรจน์ โตควณิชย์)
มีคำถามเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก สาเหตุ อาการและการป้องกัน
อุบัติการที่พบนั้นประมาณ 5-8 ต่อเด็ก 1000 คน
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้นส่วนใหญ่จะพบมีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจ อาจเป็นหัวใจห้องบน (ASD) หรือผนังกั้นหัวใจห้องล่าง (VSD) อาจพบร่วมกับการตีบของลิ้นหัวใจพัลโมนิค หรือการเกิดสลับที่ของหลอดเลือดแดงพัลโมนิค และหลอดเลือดแดงเออออร์ตาก็ได้ นอกจากนี้อาจพบลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้นที่ทราบแน่ๆ คือ
1. โรคหัดเยอรมันในมารดาที่ตั้งครรภ์
2. ดื่มแอลกอฮอล์มากขณะตั้งครรภ์
3. ยาบางอย่าง เช่น ยาทาลิโคไมด์ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
4. ผิดปกติระดับโครโมโซม
5. แม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก (เกิน 40 ปี)
ดังนั้นการป้องกันนั้นจะทำได้โดยฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันในหญิงวัยเจริญพันธุ์ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และยาบางอย่างระหว่างการตั้งครรภ์ (ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา)และอาจตรวจโครโมโซมจากน้ำคร่ำระหว่างตั้งครรภ์
ส่วนโรคลิ้นหัวใจรูห์มาติคนั้นมักพบบ่อยในชุมชนที่มีเศรษฐานะไม่ดี เกิดจากเชื้อสเตรปที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ และได้รับยาปฏิชีวนะไม่เพียงพอ พบได้ในกลุ่มเด็กวัยเรียน ปัจจุบันโรคลิ้นหัวใจรูห์มาติคยังเป็นปัญหาสำคัญของเด็กไทยอยู่
อาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดประกอบด้วย อาการเหนื่อย เด็กมักจะมีอาการของการเลี้ยงไม่โต น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ และมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจบ่อยๆ อาจจะมีอาการเขียวที่ริมฝีปากและเล็บร่วมด้วย เด็กเล็กจะเหนื่อยง่ายเวลาดูดนม และจะมีอาการหอบร่วมด้วยถ้ามีอาการหัวใจล้มเหลว เด็กโตจะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลัง อย่างไรก็ตามเด็กบางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย จะทราบก็จากการตรวจหัวใจเท่านั้น
ส่วนโรคลิ้นหัวใจรูห์มาติคนั้น เด็กจะมีอาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็วและหอบเวลามีหัวใจล้มเหลว ถ้ามีอาการรุนแรงจะมีอาการไอเป็นเลือดจากความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงได้
โรคหัวใจในเด็กนั้นนอกจากจะทราบได้จากการตรวจร่างกาย ในปัจจุบันการตรวจโดยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) จะทราบได้แน่นอนและแม่นยำ
โรคหัวใจในเด็กนั้นส่วนใหญ่ในเด็กเล็กจะพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
และในเด็กโตขึ้นหลังเข้าโรงเรียน จะพบโรคลิ้นหัวใจรูห์มาติค
หากสงสัยว่าเด็กอาจมีอาการของโรคหัวใจแล้ว
โปรดปรึกษากุมารแพทย์ประจำตัว
หรือแพทย์โรคหัวใจเด็กโดยตรงก็ได้