ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยคือ การพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ จากข้อมูลของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่าผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 3 จะประสบอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มทุกปี และในจำนวนนี้ ผู้สูงอายุกว่าหมื่นรายได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นขาหรือข้อสะโพกจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังพบว่าประมาณ 20% ของผู้สูงอายุที่มีข้อสะโพกหักมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 1 ปี
ดังนั้น “กระดูกสะโพกหัก” ที่เกิดจากการพลัดตกหกล้มจึงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่เพียงแต่อาจส่งผลให้เกิดความพิการ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ บทความนี้จะกล้าวถึงภาวะกระดูกสะโพกหักในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกัน เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
กระดูกสะโพกหัก คืออะไร?
กระดูกสะโพกหักเป็นภาวะกระดูกหักแบบหนึ่ง นั่นคือเกิดการแตกหักของกระดูกส่วนต้นของกระดูกต้นขา (femur) ใกล้กับข้อสะโพก ซึ่งมักเกิดในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักเกิดจากการลื่นล้มหรืออุบัติเหตุเล็กน้อย แต่สำหรับคนหนุ่มสาว กระดูกสะโพกหักมักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น การตกจากที่สูง
การรักษาที่ทันท่วงทีและถูกต้องเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวให้กลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
อาการกระดูกสะโพกหัก
- ปวดรุนแรงบริเวณสะโพกหรือโคนขา: เมื่อกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดอย่างรุนแรงที่บริเวณสะโพกหรือขา โดยเฉพาะเมื่อพยายามขยับหรือกดน้ำหนักลงบนขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บ อาการปวดมักจะเป็นแบบเฉียบพลันและไม่หายไป แม้จะหยุดเคลื่อนไหวแล้วก็ตาม
- ขยับสะโพกหรือขาได้ลำบาก: ผู้ป่วยอาจพบว่าไม่สามารถขยับสะโพกหรือขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บได้ตามปกติ การเคลื่อนไหวอาจจำกัดหรือทำได้แค่บางท่าเท่านั้น โดยเฉพาะการยกขาหรือหมุนขา
- บวม ช้ำ หรือมีรอยฟกช้ำรอบสะโพก: บริเวณที่กระดูกเกิดการแตกหักมักจะมีอาการบวมและฟกช้ำเนื่องจากการเสื่อมของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง บางครั้งอาจเห็นรอยฟกช้ำที่ขาหรือสะโพกซึ่งจะขยายไปตามเวลาหลังการบาดเจ็บ
- ขาข้างที่บาดเจ็บดูสั้นลงหรือบิดผิดรูป: เมื่อเกิดการหักที่กระดูกสะโพก ขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บอาจดูสั้นลงกว่าข้างที่ไม่บาดเจ็บ หรือขาอาจบิดออกด้านนอก (external rotation) ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากลักษณะที่ผิดปกติของขา
- ไม่สามารถยืนหรือเดินได้: เมื่อกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถยืนหรือเดินได้ เพราะไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาข้างที่บาดเจ็บได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องพึ่งพาผู้อื่นหรืออุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น วอล์คเกอร์หรือไม้เท้า
- มีการขยับผิดท่าหรือการเคลื่อนไหวผิดปกติ: ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติหรือเมื่อพยายามขยับขาจะรู้สึกถึงการผิดรูป เช่น การยกขาสูงไม่ได้ หรือการหมุนขาแล้วเกิดอาการปวด
อาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณของกระดูกสะโพกหักที่ควรได้รับการตรวจสอบจากแพทย์โดยทันที เพราะการปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของกระดูกสะโพกหัก
- ภาวะกระดูกพรุน: เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกจะบางลงและสูญเสียความแข็งแรง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการหักแม้จะไม่ได้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง เช่น การหกล้มเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้กระดูกหักได้ โดยเฉพาะในบริเวณกระดูกสะโพกที่มีความเสี่ยงที่จะหักได้ง่าย
- การเปลี่ยนแปลงทางสายตา: ในผู้สูงอายุที่มีสายตายาว เกิดต้อกระจก หรือปัญหาลานสายตาที่แคบลงอาจทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในที่มืดหรือในที่ที่สภาพแสงน้อย ทำให้ผู้สูงอายุสะดุดหรือพลัดตกหกล้มได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้กระดูกหักได้
- กล้ามเนื้อเสื่อม: กล้ามเนื้อจะค่อย ๆ อ่อนแอลงเมื่อไม่ได้ใช้งาน ทำให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ไม่ดี ทำให้มีโอกาสในการหกล้มและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการหกล้มได้ง่าย
- การทรงตัวที่แย่ลง: ระบบประสาทที่เสื่อมสภาพตามอายุทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวลดลง ทำให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ไม่ได้ดีเหมือนหนุ่มสาวและเสี่ยงต่อการล้มได้ง่ายขึ้น
- สาเหตุอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยง
- การใช้ยาบางชนิด: ยาบางประเภท เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิต หรือยาที่ทำให้เวียนศีรษะ อาจส่งผลต่อการทรงตัวและเพิ่มความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้ม
- โรคประจำตัว: โรคที่มีผลกระทบต่อระบบประสาทหรือการเคลื่อนไหว เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง อาจทำให้การทรงตัวไม่ดีและเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม
- สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย: การเดินในที่ที่มีพื้นผิวลื่นหรือมีสิ่งกีดขวาง เช่น พื้นที่มีเครื่องตกแต่งที่อาจทำให้สะดุด อาจทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มได้ง่าย
- อุบัติเหตุรุนแรง: สำหรับคนหนุ่มสาว กระดูกสะโพกหักมักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น การตกจากที่สูง
กระดูกสะโพกหัก ทำอย่างไรดี?
หากสงสัยว่ามีอาการกระดูกสะโพกหัก เช่น ปวดสะโพกจนขยับไม่ได้ ยืนหรือเดินไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด เพราะการปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา เช่น
- แผลกดทับ: การนอนติดเตียงนาน ๆ อาจทำให้เกิดแผลกดทับ ซึ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ
- กล้ามเนื้อขาลีบ: เมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงจนลุกขึ้นเดินไม่ได้
- ภาวะปอดบวม: การนอนราบติดเตียงทำให้ปอดทำงานไม่เต็มที่ เสี่ยงต่อการติดเชื้อในปอด
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ: การขับถ่ายปัสสาวะลำบากจากการนอนติดเตียง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ลิ่มเลือดอุดตัน: การเคลื่อนไหวที่จำกัดเพิ่มความเสี่ยงของลิ่มเลือดอุดตันในขาหรือปอด ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีวินิจฉัยกระดูกสะโพกหัก
การวินิจฉัยกระดูกสะโพกหักจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกายโดยแพทย์ร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยยืนยันการหักของกระดูก ซึ่งขั้นตอนการวินิจฉัยมีดังนี้
1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย
- แพทย์จะสอบถามประวัติเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น การหกล้ม หรืออุบัติเหตุ
- ตรวจหาสัญญาณผิดปกติ เช่น อาการปวดบริเวณสะโพก การบวม การผิดรูป หรือการขยับขาไม่ได้
2. การตรวจทางรังสีวิทยา (X-ray)
- เป็นวิธีหลักที่ใช้ตรวจดูการหักของกระดูก โดยเฉพาะบริเวณคอของกระดูกต้นขาหรือข้อสะโพก
- แพทย์จะสามารถเห็นลักษณะการหัก เช่น การเลื่อน หรือการแตกของกระดูก
3. การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- มักตรวจในกรณีที่ผล X-ray ไม่ชัดเจน หรือสงสัยว่ามีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อหรือกระดูกพรุนร่วมด้วย
- เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดสะโพก แต่ผล X-ray ไม่พบการหักอย่างชัดเจน
4. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- ใช้เพื่อดูรายละเอียดของกระดูกในมุมที่ X-ray ทั่วไปไม่สามารถแสดงได้
- เหมาะสำหรับการประเมินการหักที่ซับซ้อนและใช้วางแผนการผ่าตัด
5. การตรวจวิเคราะห์ความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density Test)
- ใช้เพื่อประเมินภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหัก
วิธีการรักษากระดูกสะโพกหัก
การรักษากระดูกสะโพกหักต้องพิจารณาจากความรุนแรงของการหัก สภาพร่างกาย และอายุของผู้ป่วย โดยวิธีรักษาหลักมีดังนี้
การผ่าตัด
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Hip Replacement): ใช้ในกรณีกระดูกสะโพกหักจนเสียหายหนักหรือไม่สามารถสมานได้ เช่น มีการหักที่บริเวณหัวกระดูกสะโพก แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยเปลี่ยนส่วนที่เสียหายออกแล้วทดแทนด้วยข้อสะโพกเทียมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้
- การผ่าตัดยึดตรึงกระดูก (Internal Fixation): โดยใช้หมุดโลหะหรือแผ่นโลหะช่วยยึดกระดูกในตำแหน่งที่ถูกต้อง เหมาะสำหรับกระดูกที่หักไม่ซับซ้อน การรักษาแบบนี้ช่วยลดเวลาการพักฟื้นและทำให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้
- การผ่าตัดแผลเล็ก (MIS – Minimally Invasive Surgery): เทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ โดยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยลดการบาดเจ็บจากการผ่าตัด ลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
- ดึงกระดูก (Traction): เป็นการใช้เครื่องมือช่วยจัดตำแหน่งกระดูกให้เข้าที่ โดยมักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่เหมาะหรือไม่สามารถผ่าตัดได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมที่ซับซ้อน
- พักฟื้นบนเตียง (Bed Rest): เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหักในลักษณะที่ไม่ซับซ้อนหรือสามารถสมานได้เอง อย่างไรก็ตาม ต้องระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อในปอด และกล้ามเนื้อลีบ
กายภาพบำบัด
- ควรเริ่มทำกายภาพบำบัดทันทีหลังการรักษา เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเดินและทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น รวมถึงลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อลีบ หรือความสมดุลในการเดินเสียไป
การรักษาเสริม
- ยาบรรเทาอาการปวด: เพื่อลดความเจ็บปวดจากการรักษาหรือการผ่าตัด
- อาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี: ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และลดความเสี่ยงกระดูกหักซ้ำ
ช่วงเวลา (ฤดู) ที่ผู้สูงอายุสะโพกหักกันมากที่สุดในแต่ละปี
“ฤดูหนาว” ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกสะโพกหักเพิ่มขึ้น เนื่องจากอากาศหนาวเย็นมักกระตุ้นให้ผู้สูงอายุปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ทำให้ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำในช่วงกลางคืน ประกอบกับช่วงเวลาที่ท้องฟ้ามืดเร็วและสว่างช้ากว่าฤดูกาลอื่น ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนและเสี่ยงต่อการสะดุดสิ่งของหรือหกล้มได้ง่าย
- ฤดูสะโพกหัก
แพทย์หลายท่านเรียกฤดูหนาวว่า “ฤดูสะโพกหัก” เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยกระดูกสะโพกหักเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือที่พบว่า จำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในฤดูหนาวเพิ่มขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับฤดูอื่น
- ปัจจัยที่ทำให้ฤดูหนาวเพิ่มความเสี่ยง
- ระยะเวลากลางคืนที่ยาวนานกว่ากลางวัน ทำให้การมองเห็นลดลง เสี่ยงต่อการหกล้ม
- จากการที่ระยะเวลาการมีแสงแดดสั้นลง ทำให้ร่างกายมีการลดลงของระดับวิตามินดี ส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง กระดูกจึงอ่อนแอและเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่ายขึ้น
- อากาศหนาวทำให้ผู้สูงอายุปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ทำให้ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำในช่วงกลางคืน ซึ่งเสี่ยงต่อการหกล้ม
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ฤดูหนาวจึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่กระดูกสะโพกหักและผลกระทบร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา
การป้องกันกระดูกสะโพกหัก
- เสริมความแข็งแรงของกระดูก
รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เช่น นม ปลาซาร์ดีน ผักใบเขียว และรับแสงแดดยามเช้าเป็นประจำ - ออกกำลังกายที่เหมาะสม
การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก เช่น เดินเร็ว หรือโยคะ ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและเสริมสมดุลร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงการหกล้ม - จัดบ้านให้ปลอดภัย
เก็บสิ่งของที่เกะกะทางเดิน ติดตั้งไฟในบริเวณที่มืด และใช้พื้นกันลื่นในห้องน้ำ - ตรวจสุขภาพกระดูก
ผู้สูงอายุควรตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ภาวะกระดูกพรุน หรือมีประวัติหกล้มบ่อย - ใช้เครื่องช่วยพยุง
สำหรับผู้ที่มีปัญหาการทรงตัว อาจใช้ไม้เท้า หรือเครื่องช่วยเดินเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม - หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลต่อความแข็งแรงของกระดูก
สรุป
กระดูกสะโพกหักเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งอาจนำไปสู่การบาดเจ็บร้ายแรงและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ การป้องกันกระดูกสะโพกหักสามารถทำได้โดยการเสริมความแข็งแรงของกระดูกผ่านการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ออกกำลังกายเพื่อเสริมสมดุลของกระดูกและกล้ามเนื้อ และจัดบ้านให้ปลอดภัย
นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพกระดูกและใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดินก็ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก การให้ความสำคัญกับการป้องกันการหกล้มจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น