การตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด
โดย นพ.วิโรจน์ โตควณิชย์
มีผู้ป่วยหลายคนถามว่าการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเป็นอย่างไร และคนไข้ที่เป็นโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบทุกคนต้องทำหรือไม่
การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ คือ การฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือดหัวใจโดยตรงแล้วถ่ายภาพของเส้นเลือดหัวใจ ทำให้สามารถเห็นบริเวณที่ตีบตันของเส้นเลือดได้อย่างละเอียด วิธีการทำนั้นผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาที่ขาหนีบซ้ายหรือขวา หลังจากนั้นแพทย์จะเจาะรูเล็กๆ ที่ผิวหนัง แล้วสอดสายสวนขนาดประมาณ 2.5 มม. เข้าไปในเส้นเลือดแดงผ่านขึ้นไปที่เส้นเลือดแดงใหญ่เออออร์ต้า แล้ววางปลายสายสวนไว้ที่ปากทางเข้าของเส้นเลือดหัวใจทั้งซ้ายและขวา ฉีดสารทึบรังสี ประมาณ 3-5 ซีซี แล้วถ่ายภาพในหลายๆ มุม เพื่อดูเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ โดยวิธีนี้จะเจ็บเฉพาะตอนแรกที่ฉีดยาชาบริเวณขาหนีบเท่านั้น หลังจากที่ทำเสร็จดึงสายสวนออกจะกดบริเวณขาหนีบประมาณ 15 นาที โดยไม่ต้องเย็บ ผู้ป่วยต้องนอนราบและงอขาหนีบไม่ได้ 6-12 ชั่วโมง เวลาที่ใช้ในการทำทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง
การฉีดยาสีตรวจหลอดเลือดหัวใจนั้นมีความปลอดภัยสูงมาก อันตรายที่เกิดขึ้นนั้นมีน้อยกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์ โรคแทรกซ้อนนั้นอาจเกิดจากการแพ้สารทึบรังสี เช่น ผื่นแพ้ลมพิษ แต่ในปัจจุบันนี้สารทึบรังสีที่ใช้มีผลข้างเคียงน้อย นอกจากนี้ยังอาจเกิดการฉีกขาดของผนังเส้นเลือดแดงที่บริเวณขาหนีบ หรือผนังเส้นเลือดโป่งพองแต่จะเกิดขึ้นน้อยถ้าระมัดระวัง
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นไม่จำเป็นต้องตรวจสวนหัวใจทุกคนยกเว้นในกรณีที่มีอาการรุนแรงกินยาแล้วยังมีอาการอยู่ ผู้ป่วยอายุน้อย แพทย์มักจะแนะนำให้ทำหรือในกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีอาการมาก อาจจำเป็นต้องผ่าตัดหรือทำการขยายเส้นเลือดหัวใจ
ส่วนการตรวจโดยวิธีอื่นๆ นั้น เช่น การใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Ultrafast CT) เพื่อดูปริมาณแคลเซียมที่ผนังหลอดเลือดหัวใจนั้นไม่สามารถทดแทนการฉีดสีได้เป็นเพียงการตรวจที่ช่วยบอกว่าถ้ามีปริมาณแคลเซียมมากจะมีโอกาสที่เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบสูงเท่านั้น