หากพูดถึงนิ่วในร่างกายคนเรา นิ่วที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ จะเกิดอยู่ที่ 2 บริเวณ คือ นิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งนิ่วของสองอวัยวะนี้แตกต่างกันแม้จะเป็นนิ่วเหมือนกัน แต่กลไกการเกิดโรคต่างกัน จึงต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางคนละระบบ ในบทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการรักษานิ่วในไตด้วยวิธีใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม นั่นคือ PCNL หรือ percutaneous nephrolithotomy หรือการผ่าตัดนิ่วในไตโดยการเจาะรูส่องกล้องผ่านผิวหนัง
โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง โดยนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะที่พบได้มากที่สุดจะเป็นนิ่วในไต รองลงมาเป็นนิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในท่อปัสสาวะ ตามลำดับ ในประเทศไทยจะพบบ่อยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอุบัติการณ์ของโรคนิ่วพบว่า เกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 2 – 3 เท่า
สารบัญ
นิ่วในไต
นิ่วในทางเดินปัสสาวะ คือ ก้อนแข็งที่เกิดจากการตกตะกอนหรือจับตัวเป็นผลึกของสารละลายในน้ำปัสสาวะ โดยนิ่วในไตก็คือนิ่วที่เกาะอยู่ภายในไต ก้อนนิ่วนี้จะขัดขวางการไหลของน้ำปัสสาวะ และยิ่งส่งเสริมให้เกิดการตกตะกอนได้มากขึ้น หากปล่อยไว้ก้อนนิ่วก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนอาจอุดกั้นการไหลของปัสสาวะ และทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้ นอกจากนั้นก้อนนิ่วเหล่านี้ยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เพิ่มโอกาสการติดเชื้อที่ไต และนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้ โดยทั่วไปชนิดของนิ่วจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- นิ่วที่ทึบรังสี พบได้บ่อย โดยนิ่วในกลุ่มนี้มักจะมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบจึงทึบรังสี และทำให้การตรวจเอกซเรย์จะเห็นนิ่วได้
- นิ่วที่ไม่ทึบรังสี พบได้น้อยกว่าชนิดแรก มักเป็นนิ่วยูริก การตรวจโดยเอกซเรย์จะมองไม่เห็นนิ่วชนิดนี้ การวินิจฉัยจึงยากกว่านิ่วแบบแรก บางครั้งแยกยากจากเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ ทำให้อาจต้องตรวจเพิ่มเติมโดยการอัลตราซาวนด์ การฉีดสีเอกซเรย์ หรือทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
อาการของโรคนิ่วในไต
อาการของนิ่วในไตนั้นหลากหลาย ขึ้นกับขนาดก้อนนิ่ว ตำแหน่งนิ่ว และระดับการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ โดยสามารถพบอาการได้คือ
- หากก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก ก้อนนิ่วมักจะสามารถถูกขับออกทางท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ
- หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่อาจไปอุดตันท่อทางเดินปัสสาวะจนทำให้มีอาการปวดบั้นเอวด้านหลังใต้ต่อซี่โครง หากอุดที่ท่อไตจะปวดท้องด้านล่าง และอาจร้าวไปขาหนีบ การอุดตันของนิ่วมักจะทำให้ผู้ป่วยปวดจี๊ดรุนแรงขึ้นมาทันทีทันใด แต่หากนิ่วหลุดจากจุดที่อุดอยู่อาการปวดก็จะหายไปผู้ป่วยจึงอาจมีอาการปวดท้อง/หลังเป็น ๆ หาย ๆ มากน้อยไม่เท่ากัน
- ในรายที่อาการรุนแรงมากขึ้น ปัสสาวะมีเลือดปนเป็นสีน้ำล้างเนื้อได้
- หากนิ่วทำให้เกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะสีขุ่น รู้สึกปวดปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา หากมีการติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้มีไข้ หนาวสั่นได้
- หากเป็นนิ่วอุดตันที่ไตทั้งสองข้าง ทำให้การทำงานของไตลดลงจนเกิดไตวาย ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคไตวายเรื้อรัง เช่น ปริมาณปัสสาวะน้อยลง บวมน้ำ เลือดจาง
- ผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ แต่อาจตรวจพบว่ามีก้อนนิ่วจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจคัดกรองโรคไต
การรักษานิ่วในไต
ในอดีตการรักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะทำด้วยการผ่าตัดเปิด แต่ปัจจุบันมีทางเลือกการรักษามากขึ้น ซึ่งเป็นเทคนิคการรักษาที่ดีขึ้น ระยะเวลาการพักฟื้นน้อยลง และผลการรักษาดีขึ้น
การรักษาด้วยการรับประทานยา
การทานยาละลายนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วชนิดยูริก สามารถละลายได้โดยให้ทานยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง แต่สำหรับนิ่วที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ ยังไม่มียาละลายนิ่ว โดยถ้านิ่วมีขนาดเล็กกว่า 0.5 ซม. มีโอกาสหลุดเองได้ โดยการดื่มน้ำเพิ่มหรือให้ยาขับปัสสาวะช่วย
การใช้เครื่องสลายนิ่ว
การใช้เครื่องสลายนิ่ว (extracorporeal shock wave lithotripsy; ESWL) เป็นการใช้เครื่องมือที่มีต้นกำเนิดพลังงานจากภายนอกร่างกายส่งคลื่นพลังเข้าไปกระแทกนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และให้ร่างกายขับเศษนิ่วออกมาเอง การรักษานิ่วโดยใช้เครื่อง ESWL นี้ ผู้ป่วยควรจะเป็นนิ่วที่มีขนาดน้อยกว่า 2 ซม. รวมทั้งต้องมีการทำงานของไตข้างนั้นพอที่จะมีปัสสาวะขับเอาเศษนิ่วที่สลายแตกแล้วให้หลุดออกมานอกร่างกายได้ ยกเว้นนิ่วบางชนิดที่แข็งมากไม่สามารถยิงสลายให้แตกโดยวิธี ESWL ได้
การรักษาโดยการส่องกล้องท่อปัสสาวะหรือท่อไต
การรักษาโดยการส่องกล้องเป็นการรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะโดยแพทย์จะส่องกล้องผ่านรูท่อปัสสาวะเข้าไปขบนิ่วและเข้าไปคล้องหรือกรอนิ่วในท่อไตออกมา
การรักษานิ่วในไตด้วยการเจาะรูส่องกล้องผ่านทางผิวหนัง
การรักษานิ่วในไตด้วยการเจาะรูส่องกล้องผ่านทางผิวหนัง หรือ PCNL (percutaneous nephrolithotomy) เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับนิ่วในไตขนาดใหญ่ โดยเฉพาะนิ่วเขากวางซึ่งเป็นนิ่วที่มีรูปร่างแตกแขนงกิ่งก้านไปตามแยกของกรวยไตและท่อภายในไต นิ่วชนิดนี้จึงอาจมีขนาดใหญ่มากจนแทบจะเท่ากับขนาดของไตได้เลยทีเดียว
การรักษานิ่วในไตด้วยการเจาะรูส่องกล้องผ่านทางผิวหนัง (percutaneous nephrolithotomy; PCNL) คืออะไร?
เป็นวิธีการรักษานิ่วในไตที่พัฒนา โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์ใช้วิธีเจาะรูเล็ก ๆ ที่หลังในตำแหน่งที่ตรงกับไต ขนาดประมาณรูนิ้วชี้ ทะลุจากผิวหนังเข้าไปในกรวยไต และใช้กล้องส่องตามเข้าไปจนพบก้อนนิ่ว จากนั้นจะใช้เครื่องมือเข้าไปกรอนิ่วให้แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วดูดหรือคีบนิ่วออกมา หลังการรักษาผู้ป่วยจะมีท่อระบายเพื่อลดการบวมของไต และใส่สายปัสสาวะ โดยในผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถถอดสายเหล่านี้ออกได้ใน 1-2 วัน
ข้อดีของการรักษานิ่วในไตด้วยการเจาะรูส่องกล้องผ่านทางผิวหนัง
- เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดเปิด
- แผลมีขนาดเล็กประมาณ 1-2 ซม. ซึ่งเล็กกว่าแผลผ่าตัดแบบเปิดที่มักจะมีขนาด 15 – 20 ซม.
- เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก จึงไม่ทำให้เกิดแผลเป็นหรือพังผืดขนาดใหญ่
- เจ็บแผลน้อยกว่า
- ระยะเวลาการพักฟื้นน้อย สามารถกลับบ้านได้เร็วภายใน 3 – 5 วันหลังผ่าตัด
- การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว
- ส่วนใหญ่สามารถเอานิ่วในไตทั้งหมดออกได้
- ให้ผลการรักษาดีและสูญเสียเนื้อไตน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
- หากผู้ป่วยเป็นนิ่วในไตขึ้นมาใหม่ ก็สามารถรักษาโดยวิธี PCNL อีกได้
แต่อย่างไรก็ตามแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด รวมไปถึงความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่น้อยที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนการรักษานิ่วในไตด้วยการเจาะรูส่องกล้องผ่านทางผิวหนัง
แม้ว่าการรักษานิ่วในไตด้วยวิธี PCNL จะมีความปลอดภัยสูง แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ เช่น
- มีเลือดออกเล็กน้อยปนออกมากับปัสสาวะ ซึ่งจะหยุดได้เองในเวลาไม่นาน
- มีไข้ต่ำ
- ติดเชื้อ
- ภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้ศัลยแพทย์ต้องทำการผ่าตัดเปิด ซึ่งเกิดขึ้นน้อยไม่มากนัก
ทั้งนี้การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
การป้องกันการเกิดนิ่วในไตซ้ำ
นิ่วในไตอาจเป็นซ้ำได้ภายหลังการรักษา โดยพบว่าหากไม่ระมัดระวังป้องกัน โอกาสกลับเป็นนิ่วซ้ำสูงถึง 35 – 50% ภายใน 5 – 10 ปี ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วซ้ำขึ้นอีกจึงมีความสำคัญมาก หากพบปัจจัยใด ๆ ที่ส่งเสริมการเกิดนิ่วควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา นอกจากนี้การปรับพฤติกรรมจะช่วยป้องกันและลดการเกิดนิ่วซ้ำ ดังนี้
- ดื่มน้ำให้มากเพียงพออย่างน้อย 2 – 3 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ปัสสาวะเจือจาง มีปริมาณน้ำปัสสาวะมากพอ และอย่าให้ร่างกายขาดน้ำเพราะจะทำให้ปัสสาวะเข้มข้นมาก และอาจตกตะกอนเป็นนิ่วได้
- ลดอาหารเค็มจัด เนื่องจากปริมาณเกลือที่รับประทานเข้าไปจะขับออกทางปัสสาวะ และมีส่วนชักนำให้เพิ่มการขับแคลเซียมตามไปด้วย ปริมาณแคลเซียมที่สูงในปัสสาวะก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดนิ่ว
- ถ้ามีระดับกรดยูริคในเลือดสูง ควรควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ โดยควบคุมอาหารที่มีกรดยูริกสูง และปรึกษาแพทย์หากจำเป็นต้องรับประทานยา
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งเสริมการขับนิ่ว ให้นิ่วก้อนเล็กหลุดออกมากับปัสสาวะ และไม่จับตัวจนกลายเป็นนิ่วขนาดใหญ่ แต่หากออกกำลังแล้วเสียเหงื่อมาก ต้องชดเชยด้วยการดื่มน้ำทดแทนอย่างเพียงพอ
- มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ แม้จะได้รับการรักษานิ่วไปแล้ว
สรุป
PCNL เป็นการผ่าตัดนิ่วแบบใหม่ที่ให้ผลการรักษาดีในการกำจัดนิ่วในไตขนาดใหญ่ เทียบเท่ากับการผ่าตัดเปิด เป็นการรักษานิ่วที่มีขนาดแผลเล็กกว่า เจ็บตัวน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็ว สูญเสียเนื้อไตน้อยกว่า วิธีการรักษานี้จึงนับเป็นทางเลือกการรักษานิ่วขนาดใหญ่ในไตที่ดี