โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจ ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย ยิ่งในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น สไตล์การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ เราเริ่มทำงานประจำอยู่กับที่มากขึ้น ไม่ค่อยลุกไปไหน เคลื่อนไหวหรือออกแรงกันน้อยลง นำมาซึ่งความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ หรือไขมันในเลือดสูง ล้วนส่งผลให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้ เราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ เพื่อประเมินตัวเอง พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ลดโอกาสเกิดโรค และรีบไปรักษาได้ทันเมื่อมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้น
เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน เกิดจากสาเหตุใด?
เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด จนเกิดคราบไขมัน (Plaque) เกาะอยู่บริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้เส้นเลือดหัวใจตีบแคบลง หรือเกิดการแตกของคราบไขมัน ทำให้เกิดการปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด หากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ จะทำให้เลือดหล่อเลี้ยงหัวใจลดลง จนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของภาวะหัวใจขาดเลือด จากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
อาการที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่เส้นเลือดหัวใจตีบ แล้วหัวใจเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ได้แก่
- รู้สึกเจ็บหน้าอกจนทนไม่ไหว แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก (มักเป็นที่ลิ้นปี่ หน้าอกตรงกลาง หรือ ร้าวไปหน้าอกซ้าย ก็ได้)
- อ่อนเพลียไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
- บางรายพบว่ามีอาการใจสั่น เหงื่อแตกร่วมด้วย
- วูบ หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตเฉียบพลัน
หากมีอาการตามที่กล่าวมานี้ให้รีบมาพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการตรวจ
ศึกษาเพิ่มเติม อาการวูบหมดสติ ที่อาจเกิดจากโรคหัวใจ ได้ที่นี่
สาเหตุของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
สาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจมานั้นเกิดจาก
- อายุที่มากขึ้น
- ระดับคอเลสเตอรอลสูง ระดับไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะอ้วน
- รวมไปถึงการการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- มีภาวะเครียด หรือใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดเป็นประจำ
- ขาดการออกกำลังกาย
การป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจสามารถป้องกันได้ จากการควบคุมปัจจัยเสี่ยงในส่วนที่ควบคุมได้ ซึ่งประกอบด้วย พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการงดสูบบุหรี่
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือมีระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือดสูง หากรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและห่างไกลจากการเป็นโรคหัวใจได้
สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ ควรได้รับการตรวจคัดกรอง เพื่อ หาปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ที่อาจซ่อนอยู่ แต่ไม่แสดงอาการ
หากมีความเสี่ยงในครอบครัวหรืออายุที่มากขึ้น ให้มาตรวจคัดกรองเป็นประจำ
ปัจจัยเสี่ยงที่เราไม่อาจควบคุมได้ คือ อายุ พันธุกรรมในครอบครัว สำหรับผู้ชายที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนอายุ 40 ปี และผู้หญิงที่เป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 50 ปี อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ได้
ดังนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัว มีไขมันในเลือดสูง
นักกีฬาก็อาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวนักกีฬาทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน บางคนอาจถึงขั้นเสียชีวิต นำความโศกเศร้าเสียใจในวงการกีฬา
หากใครสนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ กรณีที่เป็นนักกีฬา สามารถศึกษาได้ที่นี่
VO2 max เครื่องมือวัดความฟิตของร่างกาย ที่เหล่านักออกกำลังกายควรรู้ !
การตรวจวินิจฉัยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
หากผู้ป่วยให้ข้อมูลและรายละเอียดอย่างถูกต้องทั้งประวัติ และอาการที่ปรากฏจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ตรวจร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG) ตรวจเลือด การตรวจคลื่นสะท้อนสียงของหัวใจ (Echocardiogram) การเดินหรือวิ่งสายพาน(Exercise stress testing) หรือตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT angiography)
การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย
ระดับที่ 1 รักษาโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
- เลิกสูบบุหรี่ จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
- ลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็มจัด
- เพิ่มการรับประทานผักสดและผลไม้ที่ไม่หวานจัด
- ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
ระดับที่ 2 รักษาโดยการใช้ยา ในผู้ที่มีความเสี่ยง (โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน) หรือ ในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบไม่มากที่ยังไม่จำเป็นต้องทำหัตถการ ต้องรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ระดับที่ 3 รักษาโดยหัตถการสวนหลอดเลือดหัวใจและหรือใส่ขดลวด (Stent) เข้าไป เพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจตีบให้ทำงานได้เป็นปกติ
ระดับที่ 4 รักษาโดยการผ่าตัด ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Graft – CABG)
สรุป
เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหาล้วนมีทางแก้ (และแนวทางป้องกัน) หากพบว่าตัวเองอาจเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว ควรศึกษาทำความเข้าใจสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และแนวทางการรักษา เพื่อเตรียมความพร้อม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคหัวใจ
สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า โรงพยาบาลพระรามเก้าได้ตระหนักถึงความสำคัญโรคหัวใจและหลอดเลือด เราพร้อมให้บริการการรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางและเครื่องมือที่ทันสมัย ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและหลอดเลือดหลังการเกิดโรค เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้กลับมามีสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างมีความสุข