การเอกซเรย์ปอดและหัวใจ รวมถึงได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจหัวใจขั้นต้นเท่านั้น แม้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะสามารถบ่งบอกถึงสิ่งผิดปกติของหัวใจได้มาก เช่นลักษณะการเต้น ขนาดของหัวใจห้องต่าง ๆ การนำไฟฟ้าภายในหัวใจ รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่เนื่องจากเป็นการตรวจในขณะพัก ดังนั้นโอกาสที่จะพบความผิดปกติ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บ่งบอกว่าหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอนั้นค่อนข้างยาก นอกเสียจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจนั้นตีบมาก จนทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พออยู่ตลอดเวลา
การทดสอบความฟิตของหัวใจ เพื่อจะได้ทราบว่า เส้นเลือดหัวใจตีบจนทำให้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอหรือไม่ จึงทำได้โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือที่เรียกกันว่า การทดสอบสมรรถภาพหัวใจ (Exercise Stress Test)
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย โดยการเดินสายพาน นับได้ว่าเป็นการตรวจทางหัวใจที่ให้ผลคุ้มค่า มีความปลอดภัยสูง สามารถทำได้โดยง่าย ช่วยบ่งชี้ถึงภาวะของโรคหัวใจโดยเฉพาะผู้ที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประโยชน์มากชนิดหนึ่ง
ขั้นตอนการเดิน วิ่ง บนสายพาน
ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องแน่ใจว่าสามารถเดินหรือวิ่งได้ และก่อนเข้ารับการทดสอบควรได้นอนหลับพักผ่อนมาแล้วอย่างเพียงพอ งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 3 ชั่วโมง รับประทานอาหารมาแล้ว 2-3 ชั่วโมง ขณะเข้ารับการทดสอบควรสอบใส่ชุดที่เหมาะกับการวิ่งออกกำลังกาย การเดินบนสายพานจะต้องมีสายตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจติดกับตัวตลอดเวลา สายพานนี้จะปรับระดับความเร็วและความชันทุก ๆ 3นาที เพื่อให้ทราบจุดสูงสุดของสมรรถภาพหัวใจ ภายใต้การดูแลของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่เทคนิคตลอดเวลา
ประโยชน์ของการตรวจด้วยเครื่องเดินบนสายพาน
• เพื่อทดสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย
• เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง
• เพื่อตรวจแยกแยะหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกว่าเกิดจากโรคหัวใจหรือโรคอื่น
• เพื่อบ่งชี้ความรุนแรงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
• เพื่อติดตามผลในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
• เพื่อประเมินสภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
“การป้องกันและรักษาตัวเองให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดยังคงนับได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด”