สวัสดีครับท่านผู้อ่านวารสาร 9 ทันโรคทุกท่าน ที่ขึ้นหัวเรื่องไว้ว่า “ทันตแพทย์กับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน”
นี้ไม่ได้หมายความว่าหมอฟันกำลังจะไปรักษาโรคกระดูกพรุน หรือเขียนบทความวิชาการเรื่องโรคกระดูก
พรุนแข่งกับอายุรแพทย์หรอกนะครับ ท่านผู้อ่านสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้ได้ในบทความอื่นๆ
ของวารสารฉบับนี้ แต่ในตอนนี้เราจะมาคุยกันเรื่องเกี่ยวกับสภาพในช่องปาก และการทำฟันในผู้ป่วยโรค
กระดูกพรุน
ดังที่ทราบกันแล้วว่าอุบัติการณ์ของโรคกระดูกพรุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกวัน และกำลังจะกลาย
เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็คงจะต้องมาพบหมอฟันกันบ้าง โดย
ทั่วไปลักษณะในช่องปากจากการตรวจทางคลินิกก็ไม่แตกต่างจากผู้ป่วยสูงอายุทั่วไปนัก แต่พอถ่ายภาพรังสี
ออกมาจะพบว่ากระดูกขากรรไกรจะอ่อนแอกว่าปกติ คือมีการบางตัวลงของชั้นคอร์เท็กซ์ซึ่งเป็นชั้นกระดูก
หนา ในส่วนเสี้ยนใยกระดูกก็จะมีน้อยกว่าปกติเช่นกัน ซึ่งผมก็มีภาพรังสีให้ดูเทียบกับของผู้ป่วยปกตินะ
ครับ ในปี 1999 มีการศึกษาของ Kingsmill เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของกระดูกแขน
ส่วนปลายกับความหนาของกระดูกขากรรไกรล่างส่วนที่รองรับฟัน พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน
กล่าวคือในรายที่มีความหนาแน่นของกระดูกแขนน้อย ก็จะมีความหนาของกระดูกขากรรไกรล่างน้อยด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายงานของ Jonasson และคณะในปีเดียวกันพบว่าชั้นคอร์เท็กซ์ของกระดูกขากรรไกร
ล่างของผู้ป่วยจะมีลักษณะรูพรุนมากกว่าปกติ และการสูญเสียมวลกระดูกของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นตามอายุโดย
จะพบในผู้ป่วยหญิงมากกว่าผู้ป่วยชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่อายุเกิน 50 ปี เป็นการอธิบายผลการ
ศึกษาในสหรัฐอเมริกาซึ่งพบว่า ในผู้หญิงมักจะสูญเสียฟันก่อนผู้ชายแม้ว่าจะดูแลฟันดีกว่าก็ตาม การที่
กระดูกขากรรไกรบางกว่าปกตินี้เคยมีรายงานว่าเวลากระทบกระแทก บดเคี้ยวอาหารแข็งๆ ก็อาจทำให้
กระดูกหักได้ ดังนั้นทันตแพทย์จึงต้องระมัดระวังอย่างมากเวลาถอนฟัน มิฉะนั้นก็อาจทำให้ขากรรไกร
หักได้
ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบ หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่าโรครำมะนาด
มากกว่าผู้ป่วยปกติ หลังจากสูญเสียฟันไปแล้วก็จะมีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรเร็วกว่าปกติ การ
จะบูรณะฟันด้วยทันตกรรมรากเทียม ก็ทำได้ค่อนข้างลำบากเนื่องจากการหายของกระดูกภายหลังการฝัง
รากเทียมไม่ดีนัก แม้โรคกระดูกพรุนจะไม่เป็นข้อห้ามสำคัญสำหรับการทำรากเทียม และยังไม่มีการ
ศึกษาว่ามวลกระดูกต่ำกว่าเท่าใดจึงไม่สามารถฝังรากเทียมได้ แต่ผู้เขียนตำราทันตกรรมรากเทียม
ส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผมเองด้วยก็เชื่อว่าภาวะกระดูกพรุนน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการฝังรากเทียมอย่าง
แน่นอน
นอกจากประเด็นที่กล่าวมาแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักได้รับยาพวกแคลเซียมทดแทน ซึ่งยาเหล่านี้อาจ
ส่งผลต่อการดูดซึมหรือมีปฏิกิริยากับยาซึ่งหมอฟันเป็นผู้จ่ายก็ได้ จึงอาจต้องมีการปรับขนาดของยาหรือ
เปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่เหมาะสม ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมาพบทันตแพทย์ อาจยังไม่ได้รับการ
รักษาในทันทีเพราะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนก่อน อาจต้องมีการส่งตรวจทางห้อง
ปฏิบัติการ ตรวจมวลกระดูก และการประเมินอื่นๆ เพื่อการวางแผนการรักษาร่วมกัน
สรุปได้ว่าโรคกระดูกพรุนนี้เป็นโรคที่สำคัญมากๆ และส่งผลมากต่อชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งเรื่อง
เล็กๆ น้อยๆ เช่น การไปหาหมอฟันก็จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าผู้ป่วยปกติ ดังนั้นทางที่ดีเรามา
ป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้กันจะดีกว่านะครับ