ปรึกษาอาการเบื้องต้นได้เลย เพื่อสุขภาพของคุณ
ไมเกรน เกิดจากอะไร?
“ไมเกรน (Migraine)” เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ เกิดอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง จากก้านสมองที่ถูกกระตุ้น
อาการไมเกรน เป็นอย่างไร
ปวดหัวไมเกรนมักมีอาการเหล่านี้
- ปวดหัวตุ๊บ ๆ บริเวณขมับ อาจปวดร้าวมาที่กระบอกตาหรือท้ายทอย และปวดหัวข้างเดียว (บางรายอาจพบว่าปวดหัวทั้งสองข้าง)
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
- มีอาการแพ้แสงแพ้เสียง
- ปวดหัวเป็นครั้งคราว บางครั้งก็สัมพันธ์กับรอบเดือน
- บางครั้งมีอาการมองเห็นผิดปกตินำ หรือที่เรียกว่า อาการออร่า (migraine aura) ผู้ป่วยจะเห็นเป็นแสงไฟสีขาว ๆ มีขอบหยึกหยัก เป็นอาการเตือนนำมาก่อนที่จะเริ่มมีอาการปวดหัว
ปวดหัวไมเกรน VS ปวดหัวข้างเดียว
มีความเป็นไปได้สูง ว่าอาการปวดหัวข้างเดียว มักเป็นสาเหตุมาจากไมเกรน แต่ก็มีความเข้าใจผิดกันมากว่า ปวดหัวไมเกรน เท่ากับ “ปวดหัวข้างเดียว” เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผู้ป่วยไมเกรนสามารถปวดหัวได้ทั้งสองข้าง หรือปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วค่อยย้ายสลับข้างได้เช่นกัน
ดังนั้น หากมีอาการปวดหัวทั้งสองข้าง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นไมเกรนแน่นอน ควรพิจารณาจากอาการอื่น ๆ ประกอบด้วย และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์
ปวดหัวไมเกรนมีความรุนแรงหลายระดับ
ร่างกายและจิตใจของแต่ละคนสามารถทนรับกับความเจ็บปวดได้แตกต่างกัน นอกจากนี้อาการปวดหัวไมเกรนยังมีความรุนแรงหลายระดับ คนที่มีอาการนี้ จึงไม่จำเป็นว่าต้องปวดหัวจนกระทั่งทนไม่ไหวเสมอไป
แม้ว่าจะมีอาการไม่รุนแรง แต่หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นถี่ หรือมีระยะเวลายาวนาน หรือเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน (ตามลิสต์อาการข้างต้น) ก็ควรเข้าพบแพทย์
อาการปวดหัวไมเกรนมี 4 ระยะ
หากแบ่งอาการปวดหัวไมเกรนออกเป็นลำดับการแสดงอาการ จะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะบอกเหตุล่วงหน้า (Prodrome): มักจะมีอาการบอกเหตุประมาณ 1 – 2 วันก่อนเป็นไมเกรน เช่น ปวดตึงตามต้นคอ หรืออารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
- อาการเตือนนำ (Aura): ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นแสงระยิบระยับ เห็นแสงไฟสีขาวมีขอบหยึกหยัก หรือภาพเบลอหรือบิดเบี้ยว แต่บางรายก็ไม่มีอาการเตือนนำ
- อาการปวดศีรษะ (Headache): เป็นเหมือนช่วงไคลแม็กซ์ของอาการปวดหัวไมเกรน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือปวดหัวข้างเดียว จนไม่สามารทำงานได้ตามปกติ อาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และจะแพ้ต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เป็นพิเศษ เช่น แสงจ้า เสียงดัง
- เข้าสู่ภาวะปกติ (Postdrome): ภายหลังจากที่เริ่มหายปวดแล้ว ผู้ปวยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน เกิดอาการสับสน หรือไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เหมือนระยะที่สาม
รู้ได้อย่างไรว่า ปวดหัวไมเกรน
สมาคมปวดศีรษะนานาชาติ (The International Headache Society: IHS) ได้จัดให้อาการปวดหัวไมเกรน อยู่ในอาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Primary headache) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดและเส้นประสาทในสมอง (ไม่ได้เกิดจากโรค)
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้มีเกณฑ์ในการวินิจฉัยอาการปวดหัวไมเกรนไว้ว่า ผู้ป่วยต้องมีอาการปวดหัวเกิน 5 ครั้ง ครบตามองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อนี้ ได้แก่
- มีอาการปวดหัวต่อเนื่องนาน 4 ชั่วโมง ถึง 3 วัน
- มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ได้แก่ ปวดหัวข้างเดียว, ปวดหัวตุ๊บ ๆ, ปวดค่อนข้างมาก, หรือ ปวดจนทำงานไม่ไหว
- มีอาการปวดหัวร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการกลัวแสง หรืออาการกลัวเสียง
แม้ว่าเกณฑ์ของสมาคมปวดศีรษะนานาชาติจะดูสั้น ๆ แต่ก็ยังมีรายละเอียดค่อนข้างมาก อาจจะยังไม่สะดวกสำหรับบุคคลทั่วไป ที่จะประเมินตัวเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
แชร์วิธีเช็กเบื้องต้น อาการนี้ใช่ “ไมเกรน” หรือไม่
ขอแนะนำเกณฑ์ง่าย ๆ ที่เรียกว่า ID Migraine ให้ผู้ป่วยได้ลองใช้ในการประเมินตัวเองเบื้องต้น โดยวิธีดูก็คือ ถ้าเรามีอาการ 2 ใน 3 ข้อขึ้นไป ให้ประเมินไว้ก่อนเลยว่าเราอาจเป็นโรคไมเกรน
- มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน
- กลัวแสง
- เป็นแล้วไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอย่างน้อย 1 วัน
ในทางการแพทย์แล้ว เกณฑ์วินิจฉัยแบบ ID migraine เป็นเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพพอสมควร เนื่องจากมีความไว (sensitivity) 84% และความจำเพาะ (specificity) 76% [1]
ปัจจัยอะไรบ้าง ที่กระตุ้นให้มีอาการปวดหัวไมเกรน
ส่วนใหญ่แล้ว อาการในลิสต์เหล่านี้ มักเป็นตัวกระตุ้นให้อาการไมเกรนกำเริบ ได้แก่
- แสงไฟสว่าง แสงไฟกระพริบ หรือแสงแดดที่จ้า
- อากาศที่ร้อนเกินไป หรืออากาศที่ร้อนชื้น เช่น ช่วงเวลาก่อนฝนจะตก
- ออฟฟิศซินโดรม หรือ โรคพังผืดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือใช้มือถือ ก้มหน้านาน ๆ จนกล้ามเนื้อเกิดพังผืดขึ้น รวมถึงอาการกล้ามเนื้อบริเวณคอตึง ก็สามารถกระตุ้นทำให้เกิดไมเกรน ปวดร้าวรอบกระบอกตา คลื่นไส้มึนหัวได้
- อาหารที่สามารถกระตุ้นไมเกรน ได้ เช่น ชีส แอลกอฮอล์ ผงชูรส อาหารที่ผสมไนไตรท์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน น้ำตาลเทียม นอกจากนี้ ยังพบว่า คาเฟอีน ถือเป็นสารที่กระตุ้นอาการไมเกรนได้ ใครที่กินกาแฟอยู่แล้วมีอาการไมเกรน ควรลดปริมาณการกินกาแฟลง อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเพียง 20% เท่านั้น ที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอาหารเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน
- ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการอดนอน
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน : อาการปวดหัวไมเกรน มักถูกกระตุ้นเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เรียกว่า “อาการปวดหัวไมเกรน ตอนเป็นประจำเดือน” (menstrual migraine)
- ช่วงเวลาภายหลังจากคลอดบุตร : ในช่วงตั้งครรภ์ ความถี่ของการปวดไมเกรนจะลดลง แต่หลังจากคลอดลูกแล้ว พบว่าความถี่ของการปวดไมเกรนจะสูงขึ้น เพราะช่วงตั้งครรภ์อยู่นั้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะขึ้นสูงเรื่อย ๆ และมาต่ำลงหลังที่คลอดบุตร จึงไปกระตุ้นอาการไมเกรน
โดยทั่วไป คนที่เป็นไมเกรน มักมาจากสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นที่แตกต่างกันไปบ้าง ผู้ที่มีอาการเป็นประจำ ควรหมั่นสังเกตตัวเอง และหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่กระตุ้นการปวดหัวไมเกรน
ปวดหัวไมเกรนตอนเป็นประจำเดือน
จากปัจจัยที่กระตุ้นอาการไมเกรนดังที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นอาการมากเลยทีเดียว หากใครกำลังใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
มีการศึกษาพบว่า โรคปวดหัวไมเกรนมักสัมพันธ์กับรอบเดือน โดยเฉพาะช่วงก่อนมีเมนส์ 1 วัน จนถึง 3 วันหลังมีเมนส์วันแรก เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดต่ำลงรวดเร็วในช่วงนั้น ยิ่งประจำเดือนมาก บางคนก็ยิ่งปวดหัวมาก
ทำอย่างไร เมื่อปวดหัวไมเกรนในวันแดงเดือด
เราสามารถแบ่งผู้ที่มีปัญหาไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือน ออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่อาการไมเกรนเกิดไม่บ่อย และไม่ใช่ทุกครั้งเกิดจากเมนส์
แนะนำให้กินยารักษาไมเกรนเฉียบพลันทั่วไปเมื่อมีอาการ เช่น ยา naproxen (275 มก.) 1 ถึง 2 เม็ด เมื่อมีอาการปวดหัวไมเกรน โดยอาจใช้ร่วมกับ eletriptan หรือ sumatriptan ในกรณีที่มีอาการปวดหัวมาก - คนไข้ที่ปวดหัวสัมพันธ์กับรอบเดือน และรอบเดือนมาสม่ำเสมอ
อาจใช้วิธีกินยาป้องกันในระยะสั้น ๆ ก่อนมีประจำเดือน เช่น กินยา triptan หรือกลุ่ม NSAIDs โดยให้นับช่วง 2 วันก่อนมีประจำเดือน แล้วนับไปอีกรวม 6 วัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทก่อน เพื่อดูความเหมาะสม และป้องกันผลข้างเคียงจากยา - กลุ่มที่รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือปวดหัวบ่อยๆ ทั้งขณะที่มีและไม่มีรอบเดือน
แนะนำให้กินยาป้องกันไมเกรนทั่วไป เช่น amitriptyline, propranolol, topamax และควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทก่อนเช่นกัน
สำหรับหัวข้อ อาการปวดหัวไมเกรนตอนเป็นประจำเดือน (menstrual migraine) เป็นประเด็นที่หลายคนน่าจะอยากรู้ ซึ่งเราจะมีการพูดถึงอย่างละเอียดอีกครั้งสำหรับผู้สนใจในบทความถัด ๆ ไป
3 พฤติกรรมควรทำ สำหรับคนเป็นไมเกรน
เราได้ทำความรู้จักกับโรคไมเกรนมาหลายหัวข้อแล้ว สำหรับหัวข้อนี้จะเป็นแนวทางการป้องกันและลดความรุนแรงเมื่อมีอาการ โดยมีหลัก 3 ข้อง่าย ๆ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ซึ่งจะให้ดีที่สุด เราควรจะรู้จักตัวเอง ว่าอะไรคือปัจจัยกระตุ้นที่ส่งผลกับอาการปวดของเราได้มากที่สุด เช่น การนอนไม่เพียงพอ มีความเครียด การอยู่ในที่อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป การมองแสงจ้า เป็นต้น สำหรับคุณผู้หญิง อาจมีปัจจัยกระตุ้นมาจากฮอร์โมนเฮสโตรเจน และการมีประจำเดือน
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นข้อแนะนำยอดนิยมที่ช่วยป้องกันได้หลายโรค เนื่องจากช่วยในการปรับระดับสารเคมีในร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ และยังทำให้เกิดการหลั่งสารแห่งความสุข หรือเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) อีกด้วย
แต่การออกกำลังกายก็ไม่ควรหักโหม หรือทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันพัก แนะนำให้เริ่มด้วยการเดินเร็ว หรือการขี่จักรยานใกล้บ้าน หรือกิจกรรมง่าย ๆ ก่อน และควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เนื่องจากสำหรับบางคนแล้ว การออกกำลังกายที่หนักหรือต่อเนื่องเกินไป อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ปวดหัวไมเกรนได้
3. ควรหยุดพัก 10 – 20 นาที เมื่อเริ่มรู้สึกปวดหัวไมเกรน โดยพักในห้องที่มืดและมีอากาศเย็น ไม่อับหรือชื้น มีบรรยากาศเงียบสงบ
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหัวไมเกรนยังรุนแรงอย่างต่อเนื่องและไม่ทุเลาลง ควรรีบไปพบแพทย์
วิธีป้องกันและรักษาโรคไมเกรน
แม้ว่าอาการปวดหัวไมเกรนจะไม่เกิดอันตรายต่อสมอง แต่ก็สร้างความรำคาญและรบกวนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้มาก แถมยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้ ดังนั้น หากสามารถป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้ จะดีกว่าปล่อยให้อาการกำเริบแล้วค่อยมารักษา
ข่าวดีก็คือ อาการปวดหัวไมเกรนสามารถป้องกันได้ ถ้ามาพบแพทย์เพื่อรับแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจสามารถทำให้ความถี่ของการปวดหัวไมเกรนลดลงได้ โดยแพทย์จะเริ่มแนะนำให้ใช้ยาป้องกันเมื่อ
- มีอาการไมเกรน 4 ครั้งใน 1 เดือนขึ้นไป
- มีข้อห้ามต่อการใช้ยาแก้ปวดหัวเฉียบพลัน เช่น มีประวัติแพ้ยา ตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
การกินยาป้องกันโรคไมเกรนต่อเนื่องเป็นเวลา 6 – 12 เดือน อาจช่วยทำให้ความถี่ของอาการลดลงได้ถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การกินยาป้องกันโรคไมเกรนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
1. กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า (Tricyclic antidepressants)
เช่น amitriptyline, nortriptyline ยากลุ่มนี้ มีประสิทธิภาพในการลดความถี่ของการเกิดไมเกรนได้ดีมาก แพทย์มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก ๆ เนื่องจากสรรพคุณที่ช่วยในการนอนหลับ และสามารถช่วยลดอาการปวดของโรคออฟฟิศซินโดรม (ซึ่งเป็นโรคที่มักพบร่วมกันบ่อย) ได้อีกด้วย
2. กลุ่มยากันชัก (Anticonvulsant)
เช่น topiramate ยาชนิดนี้นับว่ามีประสิทธิภาพดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับโรคไมเกรน มีการศึกษาว่ายานี้ช่วยลดความถี่ในการเกิดไมเกรนช่วงที่มีประจำเดือนได้ประมาณ 33% [2] แต่ยากลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น ทำให้มีอาการมึนงง เกิดอาการชา เป็นต้น
3. กลุ่มยาลดความดัน (Beta blocker)
เช่น propranolol ยากลุ่มนี้อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนน้อยกว่ากลุ่มยา 2 ข้อข้างต้น (ประมาณ 25% [2]) แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้ช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย จึงสามารถใช้กับผู้ป่วยปวดหัวไมเกรน ที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคร่วม
การป้องกันไมเกรนโดยใช้ยาฉีด
การฉีดยาชาเข้าที่เส้นประสาทบริเวณท้ายทอย (occipital nerve block) เป็นการรักษาที่ได้ผลดี สำหรับโรคไมเกรนเรื้อรัง อีกทั้ง แทบไม่มีผลข้างเคียง ยกเว้นอาการชาตามหนังศีรษะ เป็นการรักษาทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะทนรับผลข้างเคียงของยาป้องกันไมเกรนตัวอื่น ๆ ไม่ได้
ทำความรู้จัก CGRP สาเหตุของไมเกรนกำเริบ
CGRP หรือ Calcitonin gene related peptide เป็น peptide ชนิดหนึ่งที่พบในระบบประสาท มีหน้าที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว และเกี่ยวข้องกับการส่งกระแสประสาทความเจ็บปวด ผู้ป่วยไมเกรนมักจะพบว่ามีสารนี้หลั่งออกมามาก ทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องจนเกิดไมเกรนกำเริบ
สรุปง่าย ๆ ก็คือ เมื่อปริมาณสาร CGRP เพิ่มมากขึ้น อาการไมเกรนกำเริบก็จะถามหานั่นเอง
ฉีด anti CGRP เดือนละครั้ง ยับยั้งโอกาสปวดหัวไมเกรน
ล่าสุด มียากลุ่มใหม่ที่ชื่อ anti CGRP (Calcitonin-gene-related peptide) เป็นยาที่มีผลในการยับยั้งการทำงานของ CGRP ในช่วงที่มีอาการไมเกรน ซึ่งแพทย์จะฉีดให้เดือนละครั้ง โดยจะฉีดทางใต้ผิวหนัง
ข่าวดีก็คือ ในประเทศไทยเรามีตัวยา anti CGRP ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาขายในเมืองไทยแล้ว และเริ่มมีการทดลองใช้งานกันจริง ๆ แล้ว ยาที่เข้ามามีชื่อว่า Aimovig (ไอ-โม-หวิก) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง สามารถลดความถี่การเกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ถึง 50% [3] แถมยังแทบไม่มีผลข้างเคียงอีกด้วย แต่ก็มีราคาที่ค่อนข้างจะสูงพอสมควร
แนวทางใช้ยารักษาปวดหัวไมเกรน
โรคไมเกรน สามารถตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้ผลดี จึงมีข้อแนะนำให้กินยา ดังนี้
1. กรณีปวดหัวไม่รุนแรง
ถ้าอาการปวดหัวไม่รุนแรง แนะนำให้กินเป็นอันดับแรก คือ พาราเซตามอล เนื่องจากยาชนิดนี้สามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะจากไมเกรนแบบไม่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม เราควรมั่นใจก่อนว่าตัวเองเป็นไมเกรนจริง ๆ ไม่ใช่อาการปวดหัวที่มาจากสาเหตุอื่น เพราะการกินยาโดยไม่เข้าใจโรคที่เราเป็นนั้นอาจเป็นการรักษาไม่ตรงจุดและเป็นอันตรายได้
2. กรณีปวดหัวรุนแรง
ถ้าเรามีอาการรุนแรงมาก อาจเลือกใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น naproxen, ibuprofen ซึ่งเป็น NSAIDs ที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว เหมาะกับโรคไมเกรน สามารถหาซื้อง่ายตามร้านขายยา แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจก่อความระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ จึงแนะนำว่า ให้กินยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
นอกจากนี้ ยังมียาในกลุ่ม NSAIDs ที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่า เช่น Etoricoxib (ชื่อการค้าที่คุ้นหูกันก็คือ Arcoxial) และ Celecoxib ซึ่งก็สามารถใช้บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ควรหาซื้อกินเอง จนกว่าแพทย์จะแนะนำให้กินได้
ยากลุ่ม NSAIDs สามารถมีผลข้างเคียงต่อตับและไตได้ จึงควรระมัดระวัง ไม่กินยาประเภทนี้เกิน 4 – 10 เม็ดต่อเดือน และควรกินภายใต้คำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
กลุ่มยาแก้ปวด เฉพาะสำหรับอาการปวดหัวไมเกรน
กลุ่มที่เป็นยาแก้ปวดหัวเฉพาะสำหรับโรคไมเกรน ได้แก่
ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) อย่างเช่น eletriptan หรือ sumatriptan พบว่ามีประสิทธิภาพดีและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า NSAIDs โดยจะออกฤทธิ์ต่อสารเซโรโทนินในสมอง ช่วยทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัว
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และ ขา ควรระมัดระวังการใช้ และควรใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์ ควรเว้นระยะการกินยาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และไม่ควรกินต่อเนื่องเกิน 10 เม็ดใน 1 เดือน
ยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids) เช่น Cafergot ยากลุ่มนี้รักษาได้ผลดี แต่ก็มีผลข้างเคียงที่สำคัญมาก คือ ทำให้เส้นเลือดตีบ หรืออาจทำให้ขาหรือนิ้วดำ จึงไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน
สรุป
อาการปวดหัวไมเกรน เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้เรารู้สึกคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง และปวดหัวตุ๊บ ๆ จนไม่เป็นอันทำงานทำการ แม้จะมีวิธีในการประเมินตัวเองเบื้องต้นที่อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด แต่แนวทางประเมินที่สะดวกที่อยากแนะนำก็คือ ID migraine
แนวทางการป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนที่เหมาะสมคือ การปรับจากพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่กระตุ้นการเกิดไมเกรน นอกจากนี้ การใช้ยาเพื่อป้องกันและรักษา ก็นับได้ว่ามีประสิทธิภาพที่ดีเลยทีเดียว แต่ยาบางชนิดก็อาจมีผลข้างเคียงที่ต้องระมัดระวังในการใช้ และไม่ควรเลือกใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
สุดท้ายนี้ เราควรศึกษาโรคนี้ให้รู้เท่าทันและไม่ตื่นตระหนกเกินไป ถ้าเรามีอาการปวดหัวไม่ว่าจะมาจากสาเหตุของไมเกรนหรือไม่ก็ตาม หากยังมีอาการปวดหัวหนักขึ้นหรือเป็นอยู่เรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจโรคและรับรักษาอย่างถูกต้องจะดีที่สุด
เอกสารอ้างอิง
[1] Diagnostic Accuracy of the ID Migraine: A systematic Review and Meta-Analysis; Cousins G, Hijazze S, Van de Laar F, Fahey T. Headache. Jul-Aug 2011;51(7):1140-8 https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21649653/
[2] New players in the preventive treatment of migraine. Mitsikostas DD, Rapoport AM. BMC Med. 2015;13:279. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26555040/
[3] A Controlled Trial of Erenumab for Episodic Migraine Goadsby P, Reuter U, et al N Engl J Med 2017; 377:2123-2132 https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29171821/