ผู้สูงอายุหลายท่านคงสังเกตร่างกายของตัวเองแล้วพบว่าอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้การรับประทานอาหารของเราเปลี่ยนไป ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาระบบทางเดินอาหารมากกว่าเมื่อเทียบกับสมัยหนุ่มสาว อาหารที่เคยรับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อยในอดีต มาวัยนี้การรับประทานอาหารประเภทเดียวกันอาจทำให้ต้องเจอกับอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดจนปวดท้อง ทั้งหมดนี้เกิดจากเมื่ออายุมากขึ้นแล้วระบบทางเดินอาหารมีการเปลี่ยนแปลง
ทำให้โรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากโรคที่พบในหนุ่มสาว บางโรคเป็นปัญหาของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ บางโรคทั้ง ๆ ที่เป็นโรคเดียวกัน แต่อาการในผู้สูงอายุกลับแตกต่างจากอาการในวัยหนุ่มสาวอย่างมาก บทความนี้เราจะมาเรียนรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ และข้อแนะนำเพื่อดูแลสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาของระบบทางเดินอาหารและโรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ
สารบัญ
- การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ
- โรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย
- การกลืนลำบาก
- ท้องผูกในผู้สูงอายุ
- ท้องเสียในผู้สูงอายุ
- ท้องอืดในผู้สูงอายุ
- การมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น
- การมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง
- อาการปวดท้องในผู้สูงอายุ
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- การป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ
- สรุป
การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ
ระบบทางเดินอาหาร คือระบบของอวัยวะที่เป็นทางผ่านของอาหาร ตั้งแต่ปากไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก ดังนั้นอวัยวะในระบบทางเดินอาหารจึงประกอบด้วย ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อวัยวะเหล่านี้จะบีบตัวนำพาอาหารไปผ่านกระบวนการย่อยให้กลายเป็นสารอาหารที่จะสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วกำจัดกากใยส่วนที่เหลือ และของเสียออกจากร่างกายในรูปของอุจจาระ
เมื่อเที่ยบกับระบบอื่น ๆ ของร่างกาย ระบบทางเดินอาหารจัดว่าได้รับผลกระทบจากอายุที่มากขึ้นน้อยกว่าอวัยวะในระบบอื่น ๆ โดยทั่วไปจะพบการเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารได้ชัดเจนเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป
การเปลี่ยนแปลงของส่วนต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหารของผู้สูงอายุ มีดังต่อไปนี้
- ปาก มีปริมาณน้ำลายลดลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกรามลดลง ทำให้แรงในการเคี้ยวลดลง และหากมีปัญหาการสูญเสียฟัน ฟันผุ หรือมีโรคเหงือกที่ทำให้ฟันโยก ก็จะยิ่งทำให้การเคี้ยวอาหารแย่ลงไปอีก
- หลอดอาหาร มักพบว่าแรงบีบตัวของหลอดอาหารลดลง และมีการบีบตัวผิดปกติมากขึ้น ทั้งในส่วนของหลอดอาหาร และกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร
- กระเพาะอาหาร เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้ขยายตัวเพื่อบรรจุอาหารได้น้อยลง และเกิดแผลเลือดออกได้ง่ายขึ้น
- ลำไส้เล็ก ในผู้สูงอายุมักพบว่ามีเอนไซม์แลคเตส (lactase) ที่ใช้ย่อยน้ำตาลในนมลดลง ทำให้ย่อยผลิตภัณฑ์จากนมได้ยากขึ้น และมักทำให้มีอาการแพ้นม (lactose intolerance) เช่นมีอาการท้องเสีย นอกจากนี้ มักพบปัญหาของสมดุลแบคทีเรียที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และแคลเซียม
- ลำไส้ใหญ่ บีบตัวไล่กากใยได้ช้าลง
- ไส้ตรง ขยายใหญ่ขึ้นและบีบตัวได้ลดลง ทำให้ท้องผูกได้ง่ายขึ้น
- ระบบประสาทควบคุมทางเดินอาหาร สั่งการได้ช้าลง ทำให้การประสานงานแย่ลงและเกิดการบีบตัวผิดปกติของทางเดินอาหารได้มากขึ้น
โรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย
จากการเปลี่ยนแปลงตามอายุของทางเดินอาหารดังกล่าวข้างต้น ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินอาหารมากขึ้น เช่น
- กลืนลำบาก
- ท้องผูก
- ท้องเสีย
- ท้องอืด
- เลือดออกในทางเดินอาหาร
- ปัญหาโรคมะเร็ง
- ปัญหาการบีบตัวได้ไม่ดีของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่
- ปัญหาการย่อยและการดูดซึมอาหาร เพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดสารอาหาร
- ปัญหาการกลั้นอุจจาระไม่ได้
- การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร จากระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินอาหารที่แย่ลง
การกลืนลำบาก
หากเคยดื่มชาร้อน กาแฟ หรือน้ำร้อนจัด จะมีความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารจะทำให้กลืนลำบากได้ ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ
การกลืนลำบากในผู้สูงอายุเกิดจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลอดอาหารที่ลดลง ทำให้มีแรงบีบตัวลดลง รวมไปถึงเส้นประสาทสั่งการก็เสื่อมลงไปตามวัย ทำให้การบีบตัวผิดปกติ ไม่ประสานกันในบางจังหวะ
โดยอาการที่เกิดขึ้นและพบได้บ่อย ได้แก่ กลืนแล้วติดแน่น ๆ ในอก อาจจะรู้สึกเจ็บ หากเป็นมากอาจทำให้สำลัก หรืออาเจียนได้ ผู้ป่วยกลืนลำบากจึงมักไม่มีความสุขในการรับประทานอาหาร และรับประทานอาหารได้น้อยลง จนทำให้น้ำหนักลดหรือขาดสารอาหารได้ ปัญหาการกลืนลำบากยังพบได้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคสมองอื่น ๆ โรคต่อมไทรอยด์ และโรคเบาหวาน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลืนลำบากที่เกิดจากอายุมักมีอาการไม่รุนแรง สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้พบปัญหาการกลืนลำบากได้ เช่น หลอดอาหารตีบหรือหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง มะเร็งของหลอดอาหาร หรือมะเร็งในช่องทรวงอกที่โตจนมาเบียดกดทับหลอดอาหาร
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นปัญหาการกลืนลำบากเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนั้นหากมีอาการกลืนลำบากจึงควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง โดยการตรวจวินิจฉัย แพทย์อาจจะพิจารณาการตรวจส่องกล้องตรวจหลอดอาหารและทางเดินอาหารส่วนต้น (esophagogastroduodenoscope; EGD หรือ upper endoscopy) ซึ่งจะให้ภาพที่ชัดเจนและแพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้เลยในคราวเดียว
หากพบว่าสาเหตุของการกลืนลำบากมาจากความเสื่อมตามวัย ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้โดยการเคี้ยวให้ละเอียด เลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำมากเพื่อชดเชยน้ำลายที่ลดลง รักษาสุขภาพฟันและช่องปากให้ดี หากมีฟันหักหรือฝันผุควรใส่ฟันปลอมหรือรากฟันเทียม เพื่อให้การเคี้ยวอาหารดีขึ้น
ท้องผูกในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงดีมักไม่พบปัญหาท้องผูกมากนัก แต่พบได้บ่อยมากในกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน ๆ หรือเป็นโรคที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว ไม่มีแรงเบ่งอุจจาระ (เช่น โรคถุงลมโป่งพอง) หรืออาจท้องผูกจากผลข้างเคียงของยาที่ได้รับ เช่น ยาเสริมธาตุเหล็ก ยาลดกรดที่มีอัลลูมินั่มอย่างเดียว ยาระงับปวดในกลุ่มโอปิออยด์ เป็นต้น
อาการท้องผูกที่เป็นมานานมักจะไม่มีสาเหตุร้ายแรง กรณีท้องผูกผิดไปจากเดิมจะเป็นอาการเตือนของมะเร็งลำไส้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากมีความเสี่ยงของปัญหาทางเดินอาหารรุนแรง คือ ท้องผูกที่เพิ่งเป็นใหม่ ๆ หรือเป็นมานานแล้วแต่จู่ ๆ มีอาการเปลี่ยนไป เช่น มีอุจจาระเล็ดหรือเล็กลง มีเลือดปน ท้องผูกสลับท้องเสีย อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของลำไส้อุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเป็นโรคชนิดอื่น จึงควรเข้ารับการตรวจเพื่อวินิจฉัย
ปัจจุบันวิธีตรวจวินิจฉัยอาการท้องผูกที่ให้ผลการวินิจฉัยที่ดีจะเป็นการส่องกล้องที่ลำไส้ใหญ่ (total colonoscope) เพราะเป็นการตรวจที่ให้ผลการวินิจฉัยที่ดีและคุ้มค่า (cost-effective) มากกว่าการตรวจ sigmoidoscope และ X-ray ส่วนการสวนแป้งแบเรียม (barium enema) และการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ (stool occult blood) เป็นวิธีการตรวจค้นหามะเร็งที่ประหยัด แต่มีความไวในการตรวจพบโรคน้อย เนื่องจากเลือดแฝงในอุจจาระที่อาจมาจากมะเร็งอาจตรวจไม่พบ เพราะมะเร็งอาจไม่ได้มีเลือดออกอยู่เสมอ ทำให้บางครั้งตรวจไม่พบ
ผู้สูงอายุที่ท้องผูกมานาน แต่สุขภาพโดยทั่วไปปกติดี ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้วไม่พบความผิดปกติ สามารถบรรเทาอาการท้องผูกได้โดยการดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกากใยในทางเดินอาหาร ขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา โดยช่วงเวลาที่แนะนำคือหลังอาหารเช้า เพราะจะมีแรงเสริมในการขับถ่ายจาก gastrocolic reflex ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ แต่อย่านั่งนานเกิน 15 นาทีหรือนั่งเบ่งแรง ๆ นาน ๆ เพราะไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย หากปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว อาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับยาระบายที่ปลอดภัย หรือใช้การสวนอุจจาระเป็นครั้งคราว
ท้องเสียในผู้สูงอายุ
อาการท้องเสีย เป็นความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุประมาณ 7-14% เกิดจากมีการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเร็วเกินไป ทำให้มีการขับกากอาหารออกเร็วเกินไป โดยเฉพาะในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีเวลาในการดึงน้ำออกจากกากอาหารน้อยลง อุจจาระจึงมีน้ำมาก เหลวไม่จับตัวเป็นก้อน ทำให้ต้องขับถ่ายบ่อยกว่าปกติ การบีบตัวของลำไส้ที่มากขึ้นจะทำให้มีอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรือปวดบิดเป็นพัก ๆ ร่วมด้วยได้
สาเหตุของอาการท้องเสียในผู้สูงอายุเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ผลข้างเคียงของยา การย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ไม่ดี โรคเซลิแอกหรือการแพ้กลูเตน โรคลำไส้แปรปรวน และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง กรณีเคยถ่ายดีแม้ท้องเสียผิดไปจากเดิม อาจเป็นจากการเตือนมะเร็งลำไส้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
ท้องอืดในผู้สูงอายุ
อาการท้องอืดพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยพบได้ถึง 20-45% มักเกิดจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากกระเพาะอาหารบีบตัวได้ลดลง มีลมค้างในกระเพาะอาหารมากขึ้น อาหารค้างในทางเดินอาหารส่วนต้นนานขึ้น โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้องส่วนบนหรือบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้ พะอืดพะอม เรอบ่อย แน่นท้อง อิ่มเร็ว รับประทานอาหารแล้วไม่สบายท้อง
สาเหตุของอาการท้องอืดมักมีหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น มีกรดเกินในกระเพาะอาหาร การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori) กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบหรือเป็นแผล แพ้อาหาร การรับประทานอาหารที่มากเกินไป ความเครียด ผลข้างเคียงของยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน เป็นต้น ผู้ป่วยควรกินอาหารกลุ่มที่มีลมน้อยลงหรือพิจรณากินยาละลายลดลม
การมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น
ทางเดินอาหารส่วนต้นประกอบไปด้วยช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น
เลือดที่ออกมาจากทางเดินอาหารส่วนต้น จะออกไปจากร่างกายได้สองทางคือ ทางข้างบนออกมาเป็นอาเจียน ผู้ป่วยจึงมาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือดสด หรืออาเจียนเป็นน้ำสีกาแฟ อีกทางหนึ่งคือออกทางข้างล่าง คือเลือดถูกพาไปตามทางเดินอาหาร ถูกย่อยและออกมากับอุจจาระ ทำให้ผู้ป่วยมาด้วยอาการถ่ายเป็นอุจจาระดำ ยิ่งเลือดออกมากยิ่งสีดำเข้ม กลิ่นเหม็นผิดไปจากเดิม และเนื้อสัมผัสของอุจจาระผิดปกติ คือหนืดเหนียวไม่เป็นก้อน
สาเหตุของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นในผู้สูงอายุได้แก่ แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ กระเพาะอาหารอักเสบ หลอดอาหารอักเสบ และ โรคมะเร็ง (โดยพบได้ประมาณ 2%)
ผู้สูงอายุจะมีอัตราการเสียชีวิตจากเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นสูงกว่าคนในวัยหนุ่มสาวมาก เนื่องมาจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแข็งตัวของเลือด โรคหัวใจและความดันสูง และการใช้ยาหลายชนิด ดังนั้นภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นจึงเป็นอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ และควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว โดยการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลการวินิจฉัยที่ดีจะเป็นการส่องกล้อง (endoscope) ซึ่งมีความปลอดภัยและสามารถรักษาแผลที่กำลังมีเลือดออกได้
การมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง
ทางเดินอาหารส่วนล่างประกอบไปด้วยลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง และทวารหนัก เลือดที่ออกจากทางเดินอาหารส่วนล่างจะปนออกมากับอุจจาระ โดยลักษณะของเลือดที่ออกมากับอุจจาระที่พบได้ ได้แก่
- เลือดออกฉับพลัน โดยหากจุดเลือดออกอยู่ที่ลำไส้เล็กหรือส่วนแรกของลำไส้ใหญ่ อาจจะทำให้อุจจาระดำเหมือนกับที่เลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้น แต่หากจุดเลือดออกอยู่ที่ลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักก็จะมาด้วยอุจจาระมีเลือดสีแดงสดปน หรือถ่ายออกมามีแต่เลือดสดเลยก็ได้
- เลือดแฝงในอุจจาระ คือเลือดออกปนมาในอุจจาระ แต่ดูไม่ออกด้วยตาเปล่า ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เลือดแฝงในลักษณะนี้พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยอาจเสียเลือดได้มากถึง 100 มิลลิลิตรต่อวัน แต่ยังมีลักษณะอุจจาระที่ดูเป็นปกติ ทำให้การส่งตรวจเลือดแฝงในอุจจาระเป็นการตรวจคัดกรองที่มีความสำคัญอย่างมาก
- เลือดออกที่หาจุดเลือดออกไม่ได้ แม้จะทำการตรวจหาด้วยการส่องกล้องและเทคนิคทางรังสีวิทยาแล้ว ลักษณะเลือดออกเช่นนี้พบได้ประมาณ 5% ของผู้สูงอายุที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง
ในคนเอเชีย สาเหตุของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่างในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคริดสีดวงทวาร แผลปริแตกที่ขอบทวารหนัก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ ส่วนสาเหตุที่รองลงมา ได้แก่ เนื้องอกในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ลำไส้ใหญ่อักเสบจากแผลเรื้อรัง ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการขาดเลือด และลำไส้ใหญ่อักเสบจากรังสี ส่วนโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (diverticulosis) เป็นกลุ่มที่เกิดจาดภาวะลมในท้องมากสะสมมานานจะเกิดอักเสบหรือเลือดออกได้ จำเป็นต้องวินิฉันด้วยการส่องกล้องหาจุดเลือดออกหรือการทำคอมพิวเตอร์ช่องท้อง เป็นสาเหตุที่พบได้ยากในคนเอเชีย แต่กลับเป็นสาเหตุอันดับแรกในชาวตะวันตก โดยการตรวจวินิจฉัยที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
อาการปวดท้องในผู้สูงอายุ
อาการปวดท้องนับเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ และมักมีความแตกต่างจากอาการปวดท้องในคนหนุ่มสาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีเส้นประสาทรับความรู้สึกที่เสื่อมไปตามวัย ทำให้ปวดท้องไม่มาก แต่แพทย์กลับตรวจพบโรคหรือความผิดปกติที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกระเพาะอาหารทะลุ หรือไส้ติ่งแตกในช่องท้อง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
การวินิจฉัยโรคจากอาการปวดท้องในผู้สูงอายุมีความซับซ้อน และจากอาการปวดท้องไม่รุนแรงในผู้สูงอายุที่ทำให้ผู้สูงอายุหลายรายคิดว่าไม่เป็นอันตรายกว่าจะมาพบแพทย์จึงมักเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามหรือละเลยอาการปวดท้องในผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจและพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการดังกล่าว
ซึ่งสาเหตุของอาการปวดท้องเฉียบพลันในผู้สูงอายุอาจเกิดจาก ถุงน้ำดีอักเสบได้ประมาณ 20%, ลำไส้อุดตันประมาณ 12% และมะเร็งประมาณ 4% ในขณะที่หากอายุมากกว่า 70 ปี พบว่ามีสาเหตุจากมะเร็งได้กว่า 25%
มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่การวินิจฉัยแม้ไม่มีอาการใดๆ ปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรรับการคัดกรองด้วยการส่องกล้องหรือปรึกษาแพทย์ เพื่อเช็กก่อนเป็นมะเร็งทุกราย หรือหากมีอาการก็มักจะเป็นอาการทั่วไปที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ถ่ายอุจจาระผิดไปจากปกติ ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง มีเลือดออกทางทวารหนัก มีภาวะซีดเลือดจางจากการเสียเลือดเรื้อรัง หรือมีอาการมาจากการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะที่ 1-2 สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงมีความสำคัญมาก โดยวิธีที่ใช้เพื่อตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ การส่องกล้องของลำไส้ใหญ่ (total colonoscope)
การป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ
เราสามารถดูแลสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร และลดความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินอาหารได้ด้วยการทำตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- ฝึกพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ กินให้สมดุลครบทั้ง 5 หมู่ จำกัดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ลดปริมาณอาหารจำพวกเนื้อแดง เนื้อแปรรูป อาหารแปรรูปสูง และอาหารที่มีน้ำตาลให้น้อยที่สุด เน้นการบริโภคใยอาหารให้เพียงพอและหลากหลายเพื่อรักษาสมดุลแบคทีเรียที่ดีในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูกและท้องเสียลงได้ ฝึกการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด แบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ หากมีปัญหาฟันผุ ฟันหัก ควรพิจารณาการรักษารากฟัน ใส่ฟันปลอม หรือรากฟันเทียม เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารดีขึ้น
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีภาวะขาดสารอาหารก็จำเป็นต้องเสริมทดแทนตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น วิตามินบี12 วิตามินดี แคลเซียม หรือธาตุเหล็ก
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพออย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลจิตใจให้ไม่เครียด เพื่อรักษาสุขภาพโดยรวมของทั้งร่างกาย
- หากมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ไม่ควรปล่อยไว้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจหาสาเหตุ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการตรวจที่เหมาะสมต่าง ๆ เช่น การตรวจร่างกาย การส่งทดสอบทางห้องปฏิบัติการ การส่องกล้อง การตรวจอัลตร้าซาวนด์ช่องท้อง และการถ่ายภาพรังสีเพื่อวินิจฉัย เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้โรครุนแรง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สรุป
ปัญหาระบบทางเดินอาหารพบในผู้สูงอายุได้บ่อยกว่าในวัยหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่ค่อยชัดเจน การตรวจวินิจฉัยซับซ้อนกว่าในวัยหนุ่มสาว บางโรค เช่น โรคมะเร็งพบได้บ่อยมากกว่าวัยหนุ่มสาว และเมื่อผู้สูงอายุเป็นโรคทางระบบทางเดินอาหารก็มักจะรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า เนื่องจากมักมีโรคร่วมอื่น ๆ อยู่ด้วย ดังนั้นการหมั่นตรวจเช็กอาการผิดปกติ การตรวจคัดกรอง และการตรวจสุขภาพ จึงถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นในวัยผู้สูงอายุ เพราะสามารถป้องกันอาการรุนแรง และทำให้ตรวจพบโรคได้เร็วและรับการรักษาได้เร็วขึ้น