ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่พบมากในผู้สูงอายุ เพศชาย และผู้ที่มีโรคประจำตัว การเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน ช่วยให้คุณสามารถสังเกตอาการ ดูแลตัวเอง และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้จนมีเลือดออกหรือเสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดภาวะช็อกหรือเสียชีวิตจากภาวะเเทรกซ้อนจากการเสียเลือดได้
สารบัญ
- ทางเดินอาหารคืออะไร?
- ภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน คืออะไร?
- สาเหตุของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
- อาการของภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
- อาการของภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบนและส่วนล่างต่างกันอย่างไร?
- การวินิจฉัยภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
- การรักษาภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
- การป้องกันภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
- สรุป
ทางเดินอาหารคืออะไร?
ระบบทางเดินอาหาร คือระบบของอวัยวะของร่างกายในการลำเลียงและย่อยอาหาร ตั้งแต่ปากไปถึงทวารหนัก โดยในระบบทางเดินอาหารจะประกอบด้วยหลาย ๆ อวัยวะที่ทำงานเกี่ยวข้องกันตั้งแต่ ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อวัยวะเหล่านี้ทำหน้าที่ลำเลียงและบีบตัวนำพาอาหารไปผ่านกระบวนการย่อยอาหาร และการดูดซึมจากนั้นกากอาหารจะถูกทำให้กลายเป็นอุจจาระ และขับถ่ายไปยังสำไส้ตรงเเละทวารหนัก
ทางเดินอาหารส่วนบน หรือส่วนต้น
ทางเดินอาหารส่วนบนหรือส่วนต้นประกอบไปด้วย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งจะติดต่อกับตับอ่อนเเละท่อน้ำดี โดยตับอ่อนจะผลิตและหลั่งน้ำย่อยมาย่อยอาหารที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการย่อยอาหารมากที่สุด
ทางเดินอาหารส่วนล่าง
ทางเดินอาหารส่วนล่างประกอบไปด้วย ลำไส้เล็กส่วนกลางและส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง เเละทวารหนัก โดยลำไส้เล็กส่วนกลางและส่วนปลาย ทำหน้าที่หลักในการดูดซึมสารอาหาร เเร่ธาตุ เข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่ในการดูดน้ำซึมน้ำจากกากอาหารและดูดซึมวิตามินบางชนิด และผลิตอุจจาระเพื่อขับถ่ายออกจากร่างกาย
ภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบนคืออะไร?
ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (upper gastrointestinal bleeding; UGIB) คือภาวะความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารส่วนบน จนทำให้มีเลือดออก ซึ่งหากมีเลือดออกมากอาจทำให้ร่างกายเสียเลือดมากจนความดันตกหรือช็อกได้ และอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายต่าง ๆ
สาเหตุของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน
ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจแบ่งได้ดังนี้
สาเหตุเลือดออกในหลอดอาหาร
- ภาวะโป่งพองและเเตกของหลอดเลือดดำในหลอดอาหาร (rupture esophageal varices) จากการมีหลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร ซึ่งมักพบในผู้ที่มีภาวะตับแข็ง (cirrhosis)
- โรคหลอดอาหารอักเสบ (esopagitis) โดยมักมีสาเหตุสำคัญมาจากโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease; GERD)
- โรคมะเร็งในหลอดอาหาร (esophageal cancer)
- Mallory-Weiss Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่มีการฉีกขาดของรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร โดยมักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติอาเจียนหลาย ๆ ครั้ง หรือมีภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้นจนทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดอาหาร
สาเหตุเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- แผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori)
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การรับประทานยาลดไข้กลุ่ม แอสไพริน (aspirin) ที่ไม่เหมาะสม
- การรับประทานยาลดอาการปวดกลุ่ม NSAIDs (non-steroidal antiinflammatory drugs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) อย่างไม่เหมาะสม
- ภาวะที่มีการอักเสบของกระเพาะอาหาร (gastritis)
- ความเครียดต่าง ๆ เช่น ความเครียดจากการประสบอุบัติเหตุ ความเครียดจากการผ่าตัด
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (gastric cancer)
สาเหตุเลือดออกในลำไส้เล็กส่วนต้น
- แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori)
- การรับประทานยาลดไข้กลุ่ม แอสไพริน (aspirin) ที่ไม่เหมาะสม
- การรับประทานยาลดอาการปวดกลุ่ม NSAIDs (non-steroidal antiinflammatory drugs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) อย่างไม่เหมาะสม
- ลำไส้อักเสบจากโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome; IBS)
- มะเร็งลำไส้เล็ก
อาการของภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
- อาเจียนเป็นเลือด
- คลื่นไส้
- ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่
- เบื่ออาหาร
- กลืนอาหารลำบาก
- ถ่ายดำ หรือมีสีคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นเหม็น
- ปวดท้อง เเน่นท้อง โดยมีอาการคล้ายโรคลำไส้เแปรปรวน
- รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อยผิดปกติ
- อ่อนเพลีย
- หัวใจเต้นเร็วและเบา
- เป็นลม หมดสติได้
- ความดันต่ำ และอาจช็อกได้
อาการของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนที่ควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพราะหากปล่อยไว้ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อก หมดสติได้
- หน้ามืด เป็นลม หรือหมดสติ
- ปวดท้องรุนเเรง
- หายใจหอบเหนื่อย หรือเหนื่อยง่ายเวลาออกเเรง
- เหงื่อออก ใจสั่น หรือมีอาการหนาวสั่น
- ท้องโตขึ้นมาก ปวดท้อง
- ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือตัวซีดผิดปกติ
- พบจ้ำเลือดตามตัว
- ชีพจรเต้นเบาเเละเร็วผิดปกติ
- ความดันต่ำผิดปกติ
อาการของภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบนและส่วนล่างต่างกันอย่างไร?
ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน จะมีอาการที่พบได้บ่อยคือ อาเจียนเป็นเลือด เเละถ่ายดำมีสีคล้ายยางมะตอย เเต่ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง อุจจาระมักมีสีปกติแต่จะมีเลือดที่มีสีแดงสดปนออกอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกายโดยเเพทย์เเละการตรวจวินิจฉัยหลายอย่างเพื่อทำการวินิจฉัยโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การวินิจฉัยภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
การตรวจวินิจฉัยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน มีดังนี้
- แพทย์จะทำการซักประวัติ อาการต่าง ๆ ระยะเวลาที่พบอาการ การตรวจร่างกาย เเละประวัติการใช้ยา
- การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดู ปริมาณเม็ดเลือดแดง ความเข้มข้นของเลือด ค่าปริมาณเกล็ดเลือด ค่าการเเข็งตัวของเลือด รวมไปถึงตรวจดูค่าการทำงานของตับเเละไต
- การตรวจหาเชื้อ H. pylori ในกระเพาะอาหารผ่านทางลมหายใจ
- ตรวจอุจจาระเพื่อดูการปนเปื้อนของเม็ดเลือดแดง (stool occult blood)
- การใส่สายสวนล้างกระเพาะอาหาร (gastric lavage) เพื่อดูความรุนเเรงของภาวะเลือดออกภายในกระเพาะ
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (esophagogastroduodenoscopy; EGD)
- อัลตราซาวนด์ช่องท้องเพื่อตรวจดูตับอ่อน ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี รวมไปถึงตับ
- การตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูล (capsule endoscopy)
- การฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือดในทางเดินอาหาร (angiography)
- การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (computerized tomography; CT Scan)
การรักษาภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
การรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนจะรักษาตามสาเหตุเเละความรุนเเรง โดยแพทย์อาจพิจารณาการรักษาดังนี้
- การักษาด้วยยา: โดยเเพทย์อาจรักษาโดยการให้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม
- รักษาโดยการให้เลือด: ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกเรื้อรัง หรือเสียเลือดมาก จนมีภาวะความเข้มข้นเลือดต่ำเเละมีเกล็ดเลือดต่ำ โดยการให้เลือดจะช่วยเพิ่มปริมาณเลือดเเละเม็ดเลือดในร่างกายเเละเกล็ดเลือดเพื่อช่วยในการเเข็งตัวของเลือดให้กลับสู้ภาวะปกติ และป้องกันอาการช็อกได้
- การรักษาโดยการส่องกล้อง (endoscopy therapy): จะใช้เป็นการรักษาหลักในกลุ่มที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินทางอาหารส่วนบนหรือส่วนต้น หรือความผิดปกติของหลอดเลือดในระบบทางเดินอาหารส่วนบน โดยจะมีการส่องกล้องเพื่อฉีดสารที่ช่วยให้เลือดเเข็งตัวหรือทำการรักษาแผลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นการจี้ด้วยความร้อน
- การรักษาโดยหัตถการที่ใช้รังสีร่วมรักษา (interventional radiology): จะใช้การรักษานี้ในกรณีที่รักษาโดยวิธีการส่องกล้องไม่ได้ โดยจะทำการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดในทางเดินอาหารส่วนบน เเล้วจึงทำการแก้ไขความผิดปกติของหลอดเลือดเพื่อหยุดภาวะเลือดออก
- การผ่าตัด: การรักษาโดยวิธีการผ่าตัดจะใช้ในกรณีทีมีภาวะเลือดออกในขั้นวิกฤต หรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้ โดยจะทำการผ่าตัดเพื่อเย็บแผลหรือจุดที่มีเลือดออกอย่างรุนเเรง หรือทำการผ่าตัดเพื่อเเก้ไขความผิดปกติของหลอดเลือดในทางเดินอาหารส่วนบน
การป้องกันภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เเละอาหารที่มีไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
- งดการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน (aspirin) หรือ ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือยาประเภทสเตียรอยด์อย่างเหมาะสม โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- รับประทานให้ตรงต่อเวลา เเละไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนนอน
- เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ถูกหลักอนามัยเเละล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร เเละดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 เเก้ว
- ลดความเครียด ซึ่งอาจทำได้โดยการทำสมาธิ เเละหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเน้นผักเเละผลไม้ที่มีปริมาณเส้นใยเเละเเร่ธาตุสูง
- เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อเฝ้าระวังเเละคัดกรองโรค
สรุป
ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน มีอาการสำคัญคืออาเจียนเป็นเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ เเละถ่ายดำสีคล้ายยางมะตอย โดยเป็นภาวะที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนเสียเลือดมาก อาจทำให้ช็อกหรือเสียชีวิตได้ การรักษาต้องทำการรักษาควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา การตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีความสำคัญในการช่วยเฝ้าระวังเเละคัดกรองโรคได้