เมื่อพูดถึงการผ่าตัดของผู้หญิง นอกจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการผ่าตัดแล้ว ความเจ็บปวดจากการผ่าตัดและรอยแผลหลังผ่าตัด คืออีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งผู้หญิงทุกคนให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้เพิ่มทางเลือกในการรักษาให้คุณผู้หญิง โดยสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีและทิ้งเพียงรอยแผลเล็ก ๆ ไว้ อาการเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง นั่นคือ การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช (glynecologic laparoscopy surgery)
สารบัญ
อาการเตือนโรคทางนรีเวช
- มีเลือดออกผิดปกติ หรือตกขาวผิดปกติทางช่องคลอด โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน
- มีประจำเดือนออกมาก เป็นระยะเวลานาน ปวดเบ่งเวลามีประจำเดือน
- คลำพบว่ามีก้อนนูน หรือมองเห็นก้อนบริเวณหน้าท้อง รู้สึกเจ็บ หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- อาหารไม่ย่อย ท้องอืดเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ปวดร้าวไปหลัง เอว ก้นกบ ปวดลงขา
- ปัสสาวะขัดหรือลำไส้แปรปรวน ถ่ายอุจจาระลำบาก
การผ่าตัดทางนรีเวช
การผ่าตัดและหัตถการทางนรีเวชในปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดหลาย ๆ วิธี ซึ่งเทคนิคใหม่ ๆ ช่วยทำให้แผลมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง หายเร็วขึ้น และยังช่วยลดเรื่องรอยแผลเป็นตัวช่วยเรื่องความสวยงามได้อีกด้วย การผ่าตัดและหัตถการทางนรีเวชมีหลายประเภท เช่น
- การผ่าตัดเปิด เป็นการผ่าตัดรักษาแบบเดิม ซึ่งสามารถรักษาโรคทางนรีเวชได้หลายโรค แต่มีข้อเสียคือ ต้องเปิดแผลขนาดใหญ่ ผู้ป่วยต้องพักฟื้นหลังการผ่าตัดรักษานาน
- การผ่าตัดด้วยความเย็นที่ปากมดลูก (cervical cryosurgery) มักเป็นการผ่าตัดรักษาด้วยความเย็นที่แพทย์แนะนำระหว่างการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap smear)
- โคลโปสโคป (colposcopy) เป็นการส่องกล้องทางนรีเวชอย่างหนึ่งใช้ในการวินิจฉัยโดยไม่ต้องผ่าตัด เพื่อยืนยันผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap smear) ที่ผิดปกติ
- การขยายและการขูดมดลูก (dilation & curettage; D&C) เป็นหัตถการที่พบได้บ่อย สามารถใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งมดลูก ติ่งเนื้อมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับการยุติการตั้งครรภ์และภาวะรกค้าง
- การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก (hysteroscopy) ใช้ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดปกติของมดลูก เช่น การตัดชิ้นเนื้อมดลูก ระบุสาเหตุของภาวะแท้งซ้ำ เป็นต้น
- การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ (robotic surgery) ใช้หุ่นยนต์ในการช่วยผ่าตัด เป็นเทคนิคการรักษาที่มีความแม่นยำและลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ
- การผ่าตัดช่องคลอด (vaginal surgery) เป็นการผ่าตัดผ่านช่องคลอด ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่เกิดเเผลในช่องท้อง
- การผ่าตัดผ่านกล้องในอุ้งเชิงกราน (pelvic laparoscopy) เป็นการผ่าตัดส่องกล้องผ่านหน้าท้อง สามารถรักษาโรคทางนรีเวชได้หลายชนิด เช่น รักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และเนื้องอกในมดลูก รักษาไส้เลื่อน และโรคอื่น ๆ
การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช คืออะไร?
การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช หรือการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (gynecological laparoscopic) เป็นการผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษร่วมกับกล้องมองขยายผ่านจอรับภาพ โดยแพทย์จะเจาะรูเล็ก ๆ ผ่านผนังหน้าท้องขนาด 0.5-1.0 เซนติเมตร จำนวน 3-4 รู โดยไม่ต้องเปิดผนังหน้าท้องเป็นแผลกว้าง แล้วใส่อุปกรณ์พิเศษที่มีกล้องกำลังขยายสูงผ่านรูที่เจาะ
โดยแพทย์จะสามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในช่องท้องผ่านจอภาพได้ชัดเจนจนเรียกได้ว่าเทียบเท่าหรือดีกว่าการผ่าตัดเปิดแบบเดิม จากนั้นแพทย์จึงสอดเครื่องมือขนาดเล็ก 0.5 มิลลิเมตรเข้าไปทำการผ่าตัดรักษาพยาธิสภาพ และยังสามารถนำชิ้นเนื้อส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยชนิดของเนื้อเยื่อ หรือสาเหตุของโรค ได้อีกด้วย
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก แตกต่างจากการผ่าตัดเปิดด้วยวิธีเดิม
- เจ็บปวดน้อยเนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้ยาบรรเทาอาการปวดชนิดแรง
- ฟื้นตัวเร็ว สามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วัน และออกจากโรงพยาบาลกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้น ซึ่งหากเป็นแผลผ่าตัดเปิดทางหน้าท้องจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 1- 2 วันหลังผ่าตัด
- ไม่ต้องหยุดงานเป็นเวลานาน พักฟื้นที่บ้านเพียง 1-2 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ
- เกิดพังผืดภายหลังการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าวิธีเดิม
ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช
- แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดส่องกล้องต้องได้รับการอบรมและมีประสบการณ์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านการส่องกล่อง ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาล
- ไม่สามารถใช้การผ่าตัดส่องกล้องกับผู้ป่วยทางนรีเวชทุกราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มากกว่า 15 เซนติเมตรขึ้นไป โรคมะเร็งทางนรีเวช หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะอ้วน ข้อจำกัดด้านอายุ และโรคประจำตัวบางอย่าง การตั้งครรภ์ มีสัญญาณชีพที่ผิดปกติและไม่คงที่ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์พิจารณาการผ่าตัดที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย
- มีพังผืดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมากเกินไป เช่น ผู้ป่วยที่เคยมีการติดเชื้อในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดช่องท้องมาแล้วหลายครั้ง เป็นต้น
- ในผู้ป่วยบางโรคต้องใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่าการผ่าตัดเเบบเปิดหน้าท้อง และมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
โรคที่รักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
- ภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) เนื้องอกมดลูก (myoma)
- เนื้องอกรังไข่หรือถุงน้ำรังไข่ (ovarian cyst)
- พังผืดในอุ้งเชิงกราน (lysis of adhesion) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไส้ติ่งแตก อุ้งเชิงกรานอักเสบ โพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic pregnancy)
- การทำหมันด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง (tubal sterilization)
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้อง
- การเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจ ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลการผ่าตัดแบบส่องกล้องก่อนเข้ารับการผ่าตัด หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์ผู้รักษาเพื่อลดความวิตกกังวล นำไปสู่การวางแผนดูแลและเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- การเตรียมพร้อมทางด้านร่างกาย
- ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสภาวะทางร่างกายจากแพทย์ ทีมแพทย์ผู้ดูแลและวิสัญญีแพทย์ ก่อนนัดทำการผ่าตัด เพื่อประเมินปัญหาสุขภาพและค้นหาความผิดปกติที่เป็นข้อห้ามในการผ่าตัดส่องกล้อง หากพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อการผ่าตัด แพทย์อาจจะเลื่อนการผ่าตัดออกไปก่อน
- หากมีแพ้ยา หรืออาหาร และมีโรคประจำตัวที่มียาต้องรับประทานประจำ เช่น ยาเบาหวาน ยาละลายลิ่มเลือด ต้องแพทย์ให้ทราบก่อนวันผ่าตัด และนำยาดังกล่าวมาให้แพทย์ดูด้วย ยาบางชนิดอาจต้องหยุดก่อนผ่าตัดส่องกล้อง
- งดดื่มสุรา งดสูบุหรี่ ก่อนผ่าตัด
- นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอก่อนผ่าตัด
- งดอาหาร เครื่องดื่มทุกชนิดหลังเที่ยงคืน
- ฝึกเทคนิคการหายใจ และฝึกไอ อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ลดอาการคั่งค้างจากยาสลบและฟื้นตัวเร็วขึ้น
- ทำความสะอาดร่างกาย เช่น ล้างเล็บสีด้วยน้ำยาล้างเล็บ เตรียมลำไส้ให้สะอาด ตามมาตรฐานการส่องกล้องผ่าตัด
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
ปกติแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัดส่องกล้อง 1 วัน โดยแพทย์ผู้รักษาจะประเมินอาการผิดปกติ ภาวะแทรกซ้อน การฟื้นตัวจากยาสลบ เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านต่อได้ เมื่อกลับบ้าน มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- งดดื่มแอลกอฮอล์ หรือขับรถ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
- สามารถอาบน้ำได้หลังการผ่าตัด (แพทย์จะปิดพลาสเตอร์กันน้ำที่แผล ขณะอาบน้ำห้ามถูแรง ๆ บริเวณแผล เพราะพลาสเตอร์อาจหลุด หากน้ำเข้าแผลอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่แผลได้)
- ระหว่างพักฟื้นร่างกาย สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด ควรป้องกันการตั้งครรภ์โดยใช้ยาคุมกำเนิดและปรึกษาแพทย์
- ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัดหากพบความผิดปกติ เช่น คลื่นไส้อาเจียนต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส บริเวณแผลอักเสบ บวม แดง หรือมีเลือดออก หายใจลำบาก รวมถึงหลังผ่าตัดวันแรกมีประจำเดือนมามากกว่าปกติ มีลิ่มเลือดออกมาก ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2 ชั่วโมง เป็นต้น
การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช พักฟื้นกี่วัน?
หลังผ่าตัดส่องกล้อง จะมีการติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด เมื่อรู้สึกตัวดีแล้วและผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้เอง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถกลับบ้านได้ในวันถัดไป และสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 72 ชั่วโมง
ทั้งนี้การฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและระยะเวลาในการผ่าตัดส่องกล้อง ทั่วไปอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นประมาณ 3-7 วัน หลังผ่าตัด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนรุนแรงพบได้น้อยมาก อาจมีอาการแน่นท้อง ปวดร้าวหัวไหล่ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใส่เข้าช่องท้องขณะผ่าตัดจะดันกระบังลมและช่องท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันในการฟื้นตัว บางรายมีอาการคลื่นไส้ ไม่สุขสบายตัวได้
สรุป
ปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องหรือการผ่าตัดผ่านกล้อง จัดเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ดีวิธีหนึ่ง ที่ใช้รักษาโรคทางนรีเวชอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านอุปกรณ์ ความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางของแพทย์และทีมดูแลผู้ป่วย จากที่ในอดีตมีเพียงการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเท่านั้น โดยการผ่าตัดส่องกล้องมีความปลอดภัยสูง ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็ว ใช้เวลาสั้น ๆ ในการพักฟื้น และภาวะแทรกซ้อนรุนแรงน้อย ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของผู้ป่วย รพ.พระราม 9 พร้อมดูแลคนที่คุณรัก ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง ทีมแพทย์ และบุคลากรที่มีมาตรฐานวิชาชีพ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสากล