มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากที่ผิดปกติ ทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น อาจพบได้ในชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่พบมากขึ้นในคนที่อายุเกิน 60 ปี สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากที่แท้จริง ยังไม่มีใครทราบ แต่พบความสัมพันธ์กับอาหารไขมัน กรรมพันธุ์ และสภาพแวดล้อม
ประเทศไทยพบมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอันดับที่ 10 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอายุระหว่าง 60-79 ปี
ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
– ระยะที่1 มะเร็งมีขนาดเล็ก ตรวจไม่พบจากการตรวจทางทวารหนัก ตรวจพบโดยบังเอิญจากชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าตัด หรือจากการเจาะตัดต่อมลูกหมากในรายที่มีผลเลือดสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) สูงผิดปกติ มักไม่มีอาการในระยะนี้
– ระยะที่2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก สามารถคลำพบโดย การตรวจทางทวารหนัก ปกติไม่พบอาการในระยะนี้
– ระยะที่3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และกระจายออกนอกต่อม สามารถคลำพบโดย การตรวจทางทวารหนัก มักมีปวดปัสสาวะบ่อย ,ปัสสาวะเป็นเลือด, ปัสสาวะลำบาก , ต้องเบ่ง และ บางครั้งปัสสาวะไม่ออก
– ระยะที่4 มะเร็งลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลือง , กระดูก หรืออวัยวะอื่นๆ มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะไม่ออก, ปัสสาวะเป็นเลือด, ปวดหลัง, ปวดกระดูก, น้ำหนักลด, อ่อนเพลีย และเป็นอัมพาต
แนวทางในการตรวจวินิจฉัย
1. ตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) แพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมากโดยใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนัก
เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
2. การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือดที่สำคัญคือ PSA
( Prostate Specific Antigen)
3. การตรวจอัลตราซาวน์ดของต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Transrectal Prostatic Ultrasound) เป็นการตรวจโดยใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียง สอดเข้าทางทวารหนัก
4. 4. การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากด้วยเข็มผ่านทางทวารหนัก เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา