จากข้อมูลระบาดวิทยาของมะเร็งเต้านม พบอุบัติการณ์มากอันดับแรกในหญิงไทยและหญิงทั่วโลก และสามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย
ผู้ป่วยส่วนมากมักพบโรคในช่วงอายุ 50-60 ปี โดยแตกต่างกันตามเชื้อชาติ สำหรับข้อมูลในประเทศไทยพบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี ซึ่งพบว่าร้อยละ 80 เป็นมะเร็งในระยะแรก (ระยะที่ 1-3) ร้อยละ 10 เป็นมะเร็งในระยะกระจาย (ระยะที่ 4) และจากการตรวจคัดกรองที่มากขึ้นในปัจจุบันจึงทำให้พบมะเร็งเต้านมระยะแรกมากขึ้นในประเทศไทย
มะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มไม่มีอาการ และการตรวจร่างกายอาจไม่พบเนื่องจากรอยโรคเล็กมากเปรียบเสมือน “มฤตยูเงียบ” การตรวจคัดกรองด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์จึงมีความสำคัญ ส่วนการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเต้านมก็เป็นสิ่งที่ต้องหมั่นสังเกต เนื่องจากว่ามะเร็งเต้านมในช่วงแรกอาจไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บปวดอย่างชัดเจน แต่จะเห็นได้จากความผิดปรกติของลักษณะเต้านมมากกว่า เช่น เต้านมคัดตึงและแข็งเกินปรกติ เนื้อเต้านมยุบ ผิวไม่เรียบเนียนเสมอกัน หรือเต้านมมีรอยแดงเป็นจ้ำปรากฏตลอดเวลา และมีอาการร้อนตรงจุดแดงนั้น เป็นต้น ซึ่งโดยปรกติผู้ป่วยสามารถเช็กความผิดปรกติเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง และหากพบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจกรองอีกครั้งด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและการวินิจฉัยจากแพทย์ร่วมด้วย
แนะนำให้ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ พร้อมตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทางปีละ 1 ครั้ง หากมีอาการน่าสงสัยควรตรวจทุกๆ 6 เดือน ในกรณีที่มีความผิดปรกติแพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อโดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็ม (Needle biopsy) โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เจ็บตัวน้อย และได้ผลการวินิจฉัยที่ตรงจุด หากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกๆก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยให้ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมดทุกราย หรือในบางรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกหมดก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้ทันที ด้วยการใช้เต้านมเทียมหรือการใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง เนื้อเยื่อที่นิยมใช้ ได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง กล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหลัง ซึ่งการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เป็นวิธีการที่ปลอดภัย มีผลแทรกซ้อนน้อย
โดยการรักษานี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนเต้านมจริงทั้งด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส สร้างความรู้สึกว่ายังมีเต้านมอยู่ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ภายหลังตัดเต้านมออกทั้งเต้าสามารถทำในคราวเดียวกัน โดยใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดไม่เกิน 4-6 ชั่วโมง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกนั่งบนเตียงและลุกเดินได้ ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 5-7 วัน ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้
ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ สามารถช่วยรักษาชีวิตและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปรกติ มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตมากขึ้น มะเร็งเต้านมรักษาได้หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ