อาการท้องผูกหรือลำไส้เสียอาจดูเหมือนเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน แต่จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณสำคัญของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลก
ในระยะแรกของโรค ผู้ป่วยมักไม่มีอาการชัดเจน ทำให้มะเร็งลำไส้ใหญ่ตรวจพบได้ยาก แต่เมื่อมะเร็งเริ่มแพร่กระจาย อาการจะเริ่มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้การรักษาเป็นเรื่องซับซ้อนและยากมากขึ้น เพราะเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะรุนแรง อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร?
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer หรือ Colorectal cancer) เกิดจากเซลล์ในผนังลำไส้ใหญ่ที่เจริญเติบโตผิดปกติ ซึ่งในระยะแรกจะเป็นเพียงเนื้องอก แต่หากปล่อยไว้ เนื้องอกนี้จะพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาเป็นมะเร็งแล้ว ลำไส้ใหญ่จะทำงานผิดปกติ ซึ่งหน้าที่หลักของลำไส้ใหญ่คือการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ดังนั้นเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะทำให้การทำงานนี้เสียไป และทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการขับถ่าย เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือบางครั้งอาจจะมีเลือดปนมากับอุจจาระ
หากมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งจะเริ่มกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้ ๆ และเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ปอด หรือแม้แต่สมอง ซึ่งอาจทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะเหล่านี้มีปัญหา ดังนั้นการตรวจพบมะเร็งในระยะแรก ๆ จึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ผลการรักษาดี และไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจแตกต่างกันไปตามระยะของโรค แต่ที่พบบ่อยมีดังนี้
- มีการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป
- ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียที่เป็นต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการที่เนื้องอกในลำไส้ใหญ่กีดขวางทางเดินของอุจจาระ หรือทำให้การดูดซึมน้ำผิดปกติ นอกจากนี้ หากอุจจาระมีลักษณะผอมและยาวกว่าเดิม อาจแสดงว่ามีการตีบแคบหรืออุดตันของลำไส้ โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นได้ทั้งในมะเร็งระยะเริ่มต้นและระยะลุกลาม อย่างไรก็ตามอาการนี้อาจคล้ายกับอาการของโรคลำไส้แปรปรวน
- มีเลือดปนในอุจจาระ
- เลือดอาจมีลักษณะสีแดงสด ซึ่งมักเกิดจากมะเร็งในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายใกล้ทวารหนัก หรือเป็นสีดำคล้ำ หากเกิดจากเลือดที่ออกจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้น
- ผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตได้จากอุจจาระที่เป็นสีเข้มหรือมีเลือดปนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องทำการตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Stool occult blood) จึงจะสามารถตรวจพบได้
- อาการปวดหรือไม่สบายท้อง
- อาการปวดหรือไม่สบายในช่องท้อง อาจเกิดจากการที่เนื้องอกขัดขวางการเคลื่อนตัวของลำไส้ ทำให้เกิดการบิดของลำไส้หรือการสะสมของก๊าซในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือปวดเกร็งได้
- หากเนื้องอกลุกลามไปถึงผนังลำไส้ อาจทำให้เกิดการอักเสบหรือการติดเชื้อร่วมด้วย
- อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย
- เมื่อมีเลือดออกในลำไส้เรื่อย ๆ ซึ่งเกิดจากมะเร็งที่ลำไส้ จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง (Anemia) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำ ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หรือเวียนศีรษะ โดยภาวะโลหิตจางเรื้อรังจากมะเร็งลำไส้ใหญ่นี้ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว เพราะเลือดจะออกครั้งละไม่มากแต่เป็นแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจึงไม่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
- น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
- ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจมีน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่ และเนื้องอกเองก็ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ
- รู้สึกว่าขับถ่ายไม่สุด
- อาการนี้เกิดจากการที่เนื้องอกในลำไส้ใหญ่ขัดขวางทางเดินของอุจจาระ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่สามารถขับถ่ายได้เต็มที่ ถึงแม้ว่าจะพยายามขับถ่ายแล้วก็ตาม
- อาการนี้มักพบในมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เกิดใกล้ทวารหนัก ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเหมือนมีอะไรมาขัดขวางทางเดินอุจจาระ
การสังเกตและตระหนักถึงอาการเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หากคุณหรือคนใกล้ชิดพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เช่น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
มะเร็งลําไส้ใหญ่ อาการระยะแรกมีอะไรบ้าง?
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกอาจไม่ชัดเจน แต่สามารถสังเกตได้จากอาการและการเปลี่ยนแปลงในอุจจาระ
อาการที่ควรระวัง
- การเปลี่ยนแปลงในการขับถ่าย
- อาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียบ่อย ๆ โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
- อุจจาระอาจมีขนาดเล็กลงหรือมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น อุจจาระเป็นเส้นเล็ก ๆ
- มีเลือดในอุจจาระ
- อาจมีเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งอาจเป็นสีแดงสดหรือสีดำ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก
- อาการปวดท้อง
- มีอาการปวดหรือไม่สบายในช่องท้อง เช่น ปวดเกร็งหรือท้องอืด
- น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
- น้ำหนักอาจลดลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการกินหรือการออกกำลังกาย
- รู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย
- อาจรู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการสูญเสียเลือดหรือมีภาวะโลหิตจาง
- รู้สึกว่าท้องขับถ่ายไม่สุด
- รู้สึกเหมือนว่าลำไส้ยังไม่โล่งแม้ว่าจะขับถ่ายแล้ว
การสังเกตอุจจาระ
การสังเกตอุจจาระเป็นสิ่งสำคัญในการตรวจหาสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่ อุจจาระสามารถบ่งบอกถึงการทำงานของระบบทางเดินอาหารและสุขภาพโดยรวมได้ ดังนี้
- ลักษณะของอุจจาระ
- ขนาดและรูปร่าง: อุจจาระที่มีขนาดเล็กหรือรูปร่างแบนกว่าปกติ อาจบ่งบอกถึงการตีบตันของลำไส้
- เนื้อและความหนา: อุจจาระที่มีเนื้อไม่สมบูรณ์อาจเป็นสัญญาณของปัญหาในระบบย่อยอาหาร
- สีของอุจจาระ
- สีแดงสด: อาจมีเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งมักเกิดจากลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
- สีดำหรือสีคล้ำ: อาจบ่งบอกถึงเลือดที่ออกจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้น
- สีซีด: อาจหมายถึงปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของตับหรือถุงน้ำดี
- กลิ่นของอุจจาระ
- อุจจาระที่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติอาจหมายถึงปัญหาในการย่อยอาหารหรือการติดเชื้อ
- ความถี่ในการขับถ่าย
- การขับถ่ายบ่อยขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ ควรสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่
- อาการร่วมอื่น ๆ
- ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด หรืออาการคลื่นไส้
การสังเกตอาการและอุจจาระอย่างละเอียดสามารถช่วยให้เรารู้ทันต่อสัญญาณของโรคได้ หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และเพื่อการรักษาที่เหมาะสม
มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากอะไร?
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้เเน่ชัดว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากอะไร โดยจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมเเละประวัติคนในครอบครัวที่มีผู้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้พฤติกรรมการดูเเลสุขภาพ อาหาร เเละการออกกำลังกาย ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่อันตรายอย่างไร?
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งลำดับที่ 4 ของมะเร็งทั้งหมด มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเเรกมักไม่มีอาการ เเต่เมื่อเซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามจะทำให้มีอาการชัดเจนขึ้น ซึ่งก็จะมีความอันตรายเพิ่มขึ้น
และเนื่องจากเซลล์มะเร็งสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เเละตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเเรก ๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลลัพธ์ในการรักษา
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีกี่ระยะ?
มะเร็งลำไส้ใหญ่แบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดยแต่ละระยะมีลักษณะและลักษณะการลุกลามที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ระยะที่ 0 (Carcinoma in situ): เป็นระยะเริ่มต้นที่เซลล์มะเร็งอยู่ในผนังลำไส้ใหญ่ ยังไม่ลุกลามไปที่เนื้อเยื่อโดยรอบ
- ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามเข้าไปในผนังลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2: มะเร็งลุกลามเข้าไปในชั้นลึกของผนังลำไส้ใหญ่หรือเข้าไปในเนื้อเยื่อโดยรอบ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 3: มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ห่างออกไป
- ระยะที่ 4: มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ตับ ปอด หรือกระดูก ซึ่งถือเป็นระยะที่รุนแรงที่สุด
การจำแนกประเภทนี้ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและคาดการณ์ผลลัพธ์ได้ดีขึ้น
การวินิจฉัยมะเร็งสำไส้ใหญ่
การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ แม้จะไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โดยการตรวจมีหลายวิธี เช่น
- การตรวจร่างกายและซักประวัติครอบครัว: แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและโรคในครอบครัวเพื่อประเมินความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การใช้นิ้วคลำตรวจทางทวารหนัก: เป็นวิธีตรวจเบื้องต้นที่ช่วยตรวจสอบความผิดปกติในบริเวณทวารหนัก
- การตรวจเลือดและตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง: การตรวจเลือดเพื่อหาสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคมะเร็ง
- การตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจหาเลือดที่มองไม่เห็นในอุจจาระ (fecal occult blood test) ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงปัญหาในลำไส้ได้
- การตรวจลำไส้ด้วยการส่องกล้อง (Colonoscopy): ซึ่งหากพบเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อตรวจสอบหาเซลล์มะเร็ง
- การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT colonoscopy): เป็นการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพลำไส้ใหญ่ ทำให้เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น
มะเร็งลำไส้ใหญ่ รักษาหายไหม?
มะเร็งลำไส้ใหญ่มีโอกาสรักษาหายได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกตรวจพบในระยะเริ่มต้น การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง ขนาดของเนื้องอก และสภาพทั่วไปของผู้ป่วย โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
- การผ่าตัด
- สำหรับมะเร็งในระยะเริ่มต้น มักใช้การผ่าตัดเพื่อตัดเนื้องอกออก และอาจต้องตัดส่วนของลำไส้ที่ได้รับผลกระทบจากมะเร็งออกด้วย
- การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- ใช้เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยมักใช้ในระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจาย หรือในระยะลุกลาม
- การรักษาด้วยรังสีบำบัด (Radiation therapy)
- อาจใช้ก่อนหรือหลังการผ่าตัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือทำให้ขนาดเนื้องอกเล็กลง
- การรักษาด้วยการใช้ยาเฉพาะเจาะจง (Targeted therapy)
- เป็นการใช้ยาที่ออกแบบมาเพื่อมุ่งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติในร่างกายมากนัก ซึ่งช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา
- การตรวจติดตาม
- หลังจากการรักษามะเร็งแล้ว ควรมีการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบว่ามีการกลับมาเป็นอีกหรือไม่
หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์เฉพาะทางและตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก โอกาสในการรักษาหายจะสูงมาก ดังนั้นการตรวจสุขภาพและการตรวจคัดกรองมะเร็งจึงสำคัญในการป้องกันและรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
การป้องกันมะเร็งสำไส้ใหญ่
การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพ
- การตรวจคัดกรองเป็นประจำ: ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อหาความผิดปกติ นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติครอบครัวควรตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าจะอายุไม่ถึง 45 ปีก็ตาม
- การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์: เน้นการทานผักและผลไม้ รวมถึงธัญพืชเต็มเมล็ด และลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อแดงและอาหารแปรรูป
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ: ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักและลดความเสี่ยงของโรค
- การควบคุมน้ำหนัก: รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เนื่องจากน้ำหนักเกินอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การลดการบริโภคแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่: ลดการดื่มแอลกอฮอล์และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง
- การรักษาโรคประจำตัว: หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคลำไส้อักเสบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาและป้องกันไม่ให้ลุกลามกลายเป็นมะเร็งในอนาคต
สรุป
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แม้ว่าอาการในระยะแรกอาจไม่ชัดเจน แต่การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป จะช่วยป้องกันและตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่ในระยะแรก จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น และทำให้มีโอกาสรักษาหายมากขึ้น