โรคภูมิแพ้ไม่ใช่โรคร้ายแรง เพราะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้บรรเทาลงจนคุณรู้สึกดีขึ้นเหมือนเป็นปกติได้ หากได้รับการรักษาและมีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง
โรคภูมิแพ้ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ โรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล และโรคภูมิแพ้ชนิดตลอดปี
อาการที่มักพบอยู่เสมอในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ได้แก่ จาม คัดจมูก ตา หู และลำคอ มีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาบ่อยๆ รู้สึกคัดจมูก ตาแดง และมีน้ำตาไหล นอกจากนี้ยังอาจมีอาการเจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ปวดศีรษะ หรือปวดบริเวณคาง และหน้าผากร่วมด้วย
หากคุณมีอาการต่างๆ เหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และกำหนดวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ที่เหมาะที่สุด เพราะหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจกลายเป็น โรคไซนัส และโพรงหลังจมูกอักเสบได้
โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร
โรคภูมิแพ้เกิดจากการที่เราหายใจเอาสารบางอย่างที่เรียกว่า “สารแพ้” เข้าไปในร่างกาย ซึ่งสารแพ้ที่สำคัญ ได้แก่
- เกสรดอกไม้ เกล็ดเล็กๆ ของเกสรดอกไม้ที่ปลิวมาตามลม คือสาเหตุสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เราป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ชนิดเป็นไปตามฤดูกาล
- ฝุ่นในบ้าน ฝุ่นที่เกาะอยู่ตามที่ต่างๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบนชั้นหนังสือ ผ้าม่าน ที่นอน หมอน หรือล่องลอยอยู่ทั่วไปในอากาศ จะมีแมลงตัวเล็กมาก เรียกว่า ไรฝุ่น (Dust Mite) เกาะอยู่ และไรฝุ่นนี่เอง คือเจ้าตัวร้ายในบ้าน ที่ทำให้เราป่วยเป็นโรคภูมิแพ้
- เชื้อรา เชื้อรามักอยู่ในที่มืดและชื้น เช่น ในห้องน้ำ ใต้ถุนบ้าน ในตู้เย็น ในดินที่ปลูกต้นไม้ เชื้อราขยายพันธุ์โดยการกระจายเกล็ดเล็กๆ ไปในอากาศ เรียกว่า “สปอร์” ถ้าเราสูดหายใจเอาสปอร์เข้าไปก็อาจทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้
- สัตว์ สัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข นก ม้า และกระต่าย ก็เป็นสาเหตุสำคัญของโรคภูมิแพ้เช่นกัน โดยรังแค น้ำลาย และปัสสาวะของสัตว์ รวมทั้งขนนก ล้วนทำให้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ได้ทั้งสิ้น
- มลพิษและสารระคายเคือง เช่น ควันธูป ควันบุหรี่ น้ำหอม สเปรย์ปรับอากาศ ควันไฟจากเตาถ่ายและเตาผิง ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ และสารที่มีกลิ่นแรงๆ สามารถทำให้เกิดการระคายต่อจมูก และทำให้อาการโรคภูมิแพ้เลวลง
- แมลงสาบ ถ้าบ้านคุณมีแมลงสาบในห้องครัว ท่อระบายน้ำ ตู้กับข้าว ถังขยะ ฝุ่นที่เกิดจากซากหรือชิ้นส่วนของแมลงสาบเป็นตัวกระตุ่นให้เกิดอาการแพ้ทางจมูกและโรคหอบหืด โดยเฉพาะในเด็ก
สารแพ้สร้างปัญหาให้คุณได้อย่างไร
ปกติแล้วสารแพ้เป็นสารที่ไม่มีพิษภัยต่อร่างกายของเรา แต่เมื่อคุณเป็นโรคภูมิแพ้ ร่างกายของคุณจะเข้าใจว่า สารแพ้เป็นสิ่งแปลกปลอมที่จำเป็นต้องทำลาย ดังนั้น เมื่อคุณหายใจเอาสารแพ้เข้าไป ร่างกายของคุณก็จะโจมตีสารแพ้เหล่านี้ และจะทำให้ช่องทางเดินอากาศภายในจมูกของคุณเกิดอาการบวมและอักเสบ ซึ่งทำให้คุณเกิดอาการทางจมูก เช่น คัดจมูก คัน มีน้ำมูกไหล สารแพ้ยังสามารถทำให้เกิดอาการผิดปกติในส่วนอื่นของร่างกายคุณได้ เช่น ตา หู และปอด
ปฏิกิริยาภูมิแพ้
เมื่อคุณหายใจเอาสารแพ้เข้าไป มันจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติของร่างกายที่เรียกว่า ภูมิแพ้ ซึ่งจะหลั่งสารเคมีชื่อ “ฮีสตามีน” (Histamine) ออกมา ซึ่งเจ้าฮีสตามีนนี้เองที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อของจมูก
ช่องจมูกเมื่อคุณเป็นโรคภูมิแพ้
- เยื่อบุโพรงจมูกบวม ทำให้มีน้ำขังจนเกิดอาการปวด รวมทั้งปวดศีรษะได้
- จมูกสร้างน้ำมูกมากขึ้น ทำให้ช่องจมูกอุดตัน และมีน้ำมูกไหลออกจากจมูก
- น้ำมูกไหลลงไปในช่องคอ (Postnasal Drip) ทำให้แสบระคายคอ และไอ
โรคแทรกซ้อนจากการเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง
อาจมีปัญหาอื่นที่เกิดเป็นผลตามมาจากการระคายเคืองและการอักเสบ ซึ่งเกิดจากภูมิแพ้ หากคุณมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา
1. การติดเชื้อของโพรงไซนัส (Sinusitis)
น้ำมูกที่ขังเป็นเวลานานในโพรงไซนัส จะมีการติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นได้ โดยมีอาการน้ำมูกหรือเสมหะลงคอที่ข้นเหนียวสีเหลือง – เขียว ถ้าเป็นบ่อยๆ จะกลายเป็นโรคไซนัสเรื้อรังได้
2. ตาอักเสบ
สารแพ้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) มีอาการตาแดง คัน บวม และมีน้ำตาไหล
3. ติ่งเนื้อในโพรงจมูก (Nasal Polyp)
เยื่อบุโพรงจมูกอาจบวมมากจนกลายเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ เรียกว่า Polyp ซึ่งอาจบวมโตมากจนอุดตันช่องจมูกได้
4. ปัญหาของหู
หูชั้นกลางกับช่องจมูกมีท่ออากาศเชื่อมต่อกัน ถ้าปฏิกิริยาภูมิแพ้ทำให้ท่อนี้เกิดการอุดตัน อากาศที่ถูกกักไว้ภายในจะทำให้รู้สึกหูอื้อได้ และอาจมีมูกขังภายใน จนเกิดการติดเชื้อและเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้
5. โรคหืด
หากคุณเป็นโรคหืด การระคายเคืองและการบวมของทางเดินอากาศที่เข้าสู่ปอดจะทำให้คุณหายใจลำบาก ซึ่งสาเหตุของการระคายเคืองและบวมนี้ บ่อยครั้งพบว่าปฏิกิริยาภูมิแพ้ของจมูกนี้จะกระตุ้นให้โรคหืดกำเริบได้
การประเมินอาการภูมิแพ้ของคุณ
เพื่อประสิทธิภาพของการรักษาที่ดีที่สุด แพทย์จำเป็นต้องประเมินอาการของคุณ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโรคภูมิแพ้ของคุณ ซึ่งอาจประกอบด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการทดสอบภูมิแพ้
การตรวจจะช่วยให้ทราบว่าโรคภูมิแพ้ของคุณเป็นชนิดตามฤดูกาลหรือเป็นตลอดปี มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด และคุณมีภาวะอื่นเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
A : การซักประวัติ
แพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วยของคุณและขอให้คุณเล่าอาการโดยละเอียด โดยคำถามที่แพทย์มักถามคนไข้ ประกอบด้วย
- คุณมีอาการอย่างไรบ้าง?
- คุณคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาการของคุณ?
- คุณเริ่มมีอาการดังกล่าวเมื่ออายุเท่าใด?
- คุมมีอาการในช่วงไหนของปี?
- มีใครในครอบครัวคุณเป็นโรคภูมิแพ้บ้าง?
นอกจากนี้ แพทย์จะถามถึงที่ที่คุณอาศัยอยู่ การทำงาน โรงเรียน งานอดิเรก สัตว์เลี้ยง รวมทั้งวิธีที่คุณทำเพื่อรักษาอาการโรคภูมิแพ้ของตัวเอง
B: การตรวจร่างกาย
แพทย์จะทำการตรวจจมูก ตา หู และคอของคุณ เพื่อดูว่ามีลักษณะของโรคภูมิแพ้ และการติดเชื้อหรือไม่ รวมทั้งต้องตรวจปอดและหัวใจด้วย
C: การตรวจอื่นๆ
ในระหว่างการประเมิน คุณอาจต้องรับการตรวจเอกซเรย์ไซนัสหรือคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโพรงจมูก หรือกระดูกบริเวณจมูกของคุณ
หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจข้างต้น แพทย์จะทำการประเมินผลและแนะนำแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคุณ ซึ่งอาจประกอบด้วย การใช้ยา วิธีที่จะหลีกเลี่ยงสารแพ้ และบางกรณีอาจต้องทำการทดสอบเพิ่มเติม หรือฉีดยาเพื่อลดอาการภุมิแพ้ด้วย
การทดสอบภูมิแพ้
หากผลการประเมินพบว่า คุณเป็นโรคภูมิแพ้ การทดสอบภูมิแพ้จะช่วยให้แพทย์ของคุณทราบได้ว่ามีสารแพ้อะไรบ้างที่คุณแพ้ ก่อนที่จะวางแผนการรักษาต่อไป แพทย์จะทำการทดสอบทางผิวหนังหรือตรวจเลือด เพื่อทดสอบว่าคุณมีปฏิกิริยาไวต่อสารแพ้ชนิดใดบ้าง
A: การทดสอบทางผิวหนัง
โดยทั่วไปการทดสอบจะเสร็จในวันเดียว แต่บางกรณีอาจต้องทำหลายวัน ขึ้นอยู่กับว่ามีสารแพ้ที่ต้องทดสอบมากเพียงใด
- ก่อนทำการทดสอบ
ยาที่คุณกนอยู่ โดยเฉพาะยาแก้หวัด และยาแก้แพ้ อาจมีผลต่อการทดสอบได้ คุณจึงควรถามแพทย์ว่าคุณควรหยุดยาแต่ละอย่างนานเพียงใด ก่อนการทดสอบ
- ระหว่างการทดสอบ
การทดสอบทางผิวหนังที่บริเวณแขนหรือแผ่นหลัง สำหรับโรคภูมิแพ้มีอยู่ 2 วิธี คือ
1.โดยการหยดสารทดสอบภูมิแพ้ลงบนผิวหนัง แล้วสะกิดเบาๆ ด้วยแท่งพลาสติกปลายแหลม (Prick Test)
2. โดยการฉีดสารทดสอบภูมิแพ้เข้าสู่ผิวหนังตื้นๆ บางรายที่ผลการทดสอบแบบที่หนึ่งให้ผลไม่ชัดแจน แพทย์อาจทดสอบซ้ำโดยวิธีนี้
ทั้งสองวิธีใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที จึงจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นที่ผิวหนัง แพทย์จะตัดสินได้ว่าคุณแพ้สารใดบ้าง โดยดูจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น
B: การทดสอบเลือด
ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถงดยาต้าน Histamine ก่อนมาทดสอบได้หรือผู้ป่วยที่มีอาการทางผิวหนังที่รุนแรงจนไม่สามารถทดสอบผิวหนังได้แพทย์จะเลือกวิธีเจาะเลือดไปตรวจ