คำถาม: เพิ่งคลอดบุตรได้ประมาณ 2 อาทิตย์ ช่วงที่อยู่ ร.พ. ลูกชายตัวเหลือง คุณหมอบอกว่าต้องส่องไฟไม่มีอันตราย ส่องไฟแล้วก็จะหายเหลือง ตอนนี้ลูกชายหายเป็นปกติแล้ว แต่ยังสงสัยว่าไฟที่ส่องทำให้ลูกหายตัวเหลืองได้อย่างไร คุณหมอยังบอกด้วยว่ากลับบ้านให้นำลูกมาโดนแดดอ่อน ๆ ตอนเช้า ก็จะช่วยให้หายเหลืองได้ดีขึ้น ไม่ทราบว่าไฟที่ ร.พ. ส่องกับแสงแดด เหมือนหรือต่างกันตรงไหนค่ะ
คำตอบ: โดย แพทย์หญิงเดือนเพ็ญ วันทนาศิริ
ภาวะตัวเหลืองหลังคลอดเกิดจาก
ลูกชายมีภาวะตัวเหลืองหลังคลอดจึงเกิดจากสารที่เรียกว่า บิลิรูบิน ไปเกาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เห็นผิวหนัง ตา มีสีเหลือง ปกติร่างกายจะมีการสร้างสารบิลิรูบินและทำลายขับถ่ายสารออกไป เด็กปกติจะมีตัวเหลืองจาง ๆ เมื่ออายุ 3 – 4 วัน และหายไปเมื่ออายุประมาณ 7 วัน ในภาวะบางอย่างร่างกายจะมีการสร้างสารนี้มากขึ้น หรืออวัยวะที่ทำลายและขับถ่ายสารนี้ไม่ทำงาน ก็จะเกิดทำให้มีตัวเหลืองขึ้น ภาวะเหล่านี้ เช่น หมู่เลือดของมารดาและทารกไม่เหมือนกัน เม็ดเลือดแดงผิดปกติ การติดเชื้อและท่อน้ำดีอุดตัน เมื่อสารบิลิรูบินมากผิดปกติก็จะไปเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งสมองทำให้มีการทำงานผิดปกติ เราจึงต้องรีบรักษาภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติ โดยการกำจัดและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดตัวเหลือง
การรักษาภาวะตัวเหลืองหลอดคลอด
การรักษามี 2 วิธี คือ
- การฉายแสง แสงจะทำปฏิกิริยากับสารบิลิรูบิน ทำให้เกิดการทำลายและขับถ่ายออกจากร่างกาย เด็กจะถูกปิดตาเพื่อป้องกันไม่ให้แสงทำอันตรายต่อตา ถอดเสื้อผ้า และนำไปนอนใต้เครื่องฉายแสง
- การเปลี่ยนถ่ายเลือด จะทำกรณีเด็กตัวเหลืองมากไม่สามารถทำให้ลดลงโดยการฉายแสงได้ทัน ส่วนแสงแดดก็สามารถทำให้ตัวเหลืองลดลงได้ กรณีเด็กตัวเหลืองไม่มาก เนื่องจากทำได้ลำบากต้องถอดเสื้อผ้าและนำไปผึ่งแดดช่วงแดดอ่อน เพราะถ้าแดดจ้าก็จะร้อนเกินไป ถ้าอากาศหนาวการถอดเสื้อผ้าก็จะหนาวเกินไป