ด้วยเหตุที่โรคไตมีหลายชนิด อาการของผู้ป่วยจึงมีความแตกต่างกันไป และโรคไตยังสามารถแบ่งแยกย่อยได้อีกตามลักษณะอาการและตำแหน่งที่มีปัญหา อย่างเช่น กรวยไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน เนื้อเยื่อไตอักเสบ และนิ่วในไต เป็นต้น
แต่ถ้าพูดถึงอาการโรคไต จะมีกลุ่มอาการ 2 ชนิดที่พบมากที่สุด ได้แก่ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไตวายเรื้อรังนั้น ทางการแพทย์ถือว่าเป็นฆาตรกรเงียบเลยทีเดียว เนื่องจากโรคนี้มักจะไม่แสดงอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อตอนที่ไตเสียหายไปพอสมควรแล้ว
รู้จักอาการโรคไตที่พบบ่อย
เนื่องด้วยสาเหตุที่เป็นโรคไตมีหลายชนิด อาการโรคไตของผู้ป่วยแต่ละคน จึงมีลักษณะแตกต่างกัน ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงกลุ่มอาการ 2 ชนิดที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคไตวายเฉียบพลัน และ โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคไตวายเฉียบพลัน คือ ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น เกิดภาวะช็อกจากการเสียน้ำหรือเลือดเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง หรือได้รับสารพิษหรือผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงตั้งแต่เริ่มแรกทั้งๆที่ไตยังไม่เสื่อม เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ ตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดโลหิตแดง และโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย และหากตรวจวัดความดันโลหิตจะพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาการผิดปกติเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เห็นในระยะแรกๆ ตั้งแต่เริ่มเป็น ภาวะไตวายเฉียบพลันมีอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากมาพบแพทย์และรักษาอย่างทันท่วงที เนื้อไตและการทำงานของไตก็อาจสามารถกลับฟื้นคืนเป็นปกติได้เช่นกัน
- โรคไตวายเรื้อรัง คือ เนื้อไตจะถูกทำลายไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาแรมเดือน แรมปี เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคไตที่เกิดจากเบาหวาน โรคไตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง โรคไตที่เกิดจากเกาท์ ฯลฯ ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นเลยโดยผู้ป่วยจะมีความเป็นอยู่ ดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทุกอย่างเป็นเวลาหลายๆ ปี ระหว่างนี้ถ้าผู้ป่วยมาตรวจร่างกาย แพทย์ก็อาจจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นถ้าตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย จนในที่สุดการทำงานของไตเหลือเพียงร้อยละ 25 หรือหนึ่งในสี่ของปกติ จะเริ่มมีอาการโรคไตแสดงออกมาให้เห็นบ้าง และถ้าการทำงานของไตเสื่อมลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกมาชัดเจนทุกราย
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไตวายเรื้อรังและการรักษา คลิก บทความการคัดกรองโรคไตเรื้อรัง
อาการโรคไต และผลกระทบต่อระบบต่างๆ
อาการต่างๆ ที่สังเกตได้ ว่าไตของเรากำลังมีปัญหา เพราะเมื่อไตทำงานได้ไม่ปกติ ร่างกายขับของเสียได้ไม่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และท้ายที่สุดหากการทำงานของไตเหลือเพียงร้อยละ 25 ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการต่างๆให้พอสังเกตได้ ดังนี้
- สภาพทั่วๆไป ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง อิดโรย เหนื่อยง่าย หงุดหงิดง่าย หรือผู้ป่วยโรคไตบางรายอาจจะซูบผอมเนื่องจากน้ำหนักที่ลดลง ในทางตรงกันข้ามโรคไตบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยตัวบวม ขาบวมร่วมกับมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระบบผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีผิวหนังซีด แห้งคัน มีจ้ำเลือดเกิดขึ้นง่าย ผิวหนังแตกแห้ง เป็นแผลแล้ว
หายช้า หรือผู้ป่วยบางรายจะมีผิวหนังตกสะเก็ดดำคล้ำกว่าปกติ
- ระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้ สะอึก ปวดท้อง ท้องเดิน เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เป็นแผลในกระเพาะและลำไส้
- ระบบหัวใจและการหายใจ ถ้าไตทำงานได้น้อยลงจนขับปัสสาวะและเกลือแร่ไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมทำให้หัวใจทำงานไม่ไหว และมีอาการเหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจเกิดภาวะน้ำคั่งในเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำคั่งในปอด ปอดบวม ทำให้หายใจไม่ออก ไอเป็นเลือด
- ด้านระบบประสาท สมองและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการปลายประสาทเสื่อม ทำให้มือเท้าชา ปวดหลังบริเวณบั้นเอว กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ขาดสมาธิ สมองเสื่อม ไม่สามารถคิดและจดจำได้เหมือนปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีในที่สุดอาจมีอาการชัก หมดสติ หรือเสียใจชีวิตได้
- ระบบกระดูก เนื่องจากไตสูญเสียหน้าที่ในการสังเคราะห์วิตามินดี มีผลทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดภาวะกระดูกพรุน แตกหักง่าย ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคไตวายจะหยุดเจริญเติบโตและแคระแกร็น
- ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีไตวายระยะเริ่มแรก ในตอนกลางคืนจะปัสสาวะบ่อยและมีสีจาง จนที่สุดเมื่อการทำงานของไตเสื่อมลงหรือไตวาย ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อยมาก
- ระบบโลหิต ผู้ป่วยทุกรายเมื่อไตเสื่อมลง เข้าภาวะโรคไตวายระยะสุดท้าย จะผลิตฮอร์โมนไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง ทำให้โลหิตจาง ผู้ป่วยทุกรายเมื่อไตเสื่อมลง จะมีอาการซีด และมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกง่าย เลือดไหลไม่หยุด และมีจ้ำเลือดขึ้นตามตัวได้ง่าย
- ระบบภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายมักจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้ง่าย
- ระบบฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกายผู้ป่วยโรคไตวาย มักจะมีการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนเกือบทุกชนิด ทั้งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง จากต่อมไธรอยด์ จากต่อมพาราไธรอยด์ จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากรังไข่เพศหญิง ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ หรือฮอร์โมนจากลูกอัณฑะในเพศชาย ทำให้เป็นหมันและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
การวินิจฉัย รู้ทันอาการโรคไต
เมื่อเราสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดความกังวลใจว่าอาการเหล่านี้อาจจะเกี่ยวข้องกับโรตไตหรือไม่นั้น ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ตรวจปัสสาวะ ถ้ามีภาวะผิดปกติของไต ปัสสาวะจะมีโปรตีนและเม็ดเลือดแดงปนมากับปัสสาวะ
- ตรวจเลือด ถ้ามีภาวะผิดปกติของไต ปริมาณไนโตรเจน กรดยูริก (Blood Nitrogen Urea, BUN) และ ครีเอตินิน (Creatinine, Cr) ที่เป็นของเสียจากกล้ามเนื้อจะตกค้างในเลือดสูงกว่าปกติ และนำผลเลือดที่ได้นี้มาใช้ในการประเมินค่าการทำงานของไตหรือ GFR (glomerular filtration rate) ในลำดับต่อไป
- การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) และ การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) ถ้ามีความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนร่วมกับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
สรุป
โรคไตในแต่ละประเภทนั้น อาการของผู้ป่วยอาจจะมีลักษณะแตกต่างกัน ตามโรคไตในแต่ละประเภท โดยอาการโรคไตวายเรื้อรังค่อนข้างจะซ่อนเร้น ค่อยๆ กำเริบมากขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือไม่มีอาการ บางครั้งแฝงมากับโรคอื่นอย่างลับๆ บางครั้งตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือด จึงทำให้ผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคไต เมื่อมีอาการก็มักจะมาพบแพทย์ซึ่งสายเกินไปเสียแล้วเพราะไตของผู้ป่วยเสียมากจนเกินความสามารถที่แพทย์จะรักษาให้หายเป็นปกติได้
ดังนั้นเมื่อเรารู้ถึงลักษณะอาการของโรคไตตั้งแต่เนิ่นๆ หมั่นคอยสังเกตอาการ และพบแพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรง