เคยเป็นไหม นั่งทำงานอยู่ดี ๆ ก็ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอขึ้นมาเฉย ๆ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นแค่อาการเมื่อยล้าจากการทำงานหนักตามปกติหรือเพียงแค่ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป จนละเลยไม่ใส่ใจคิดว่าพักสักหน่อยก็คงหาย แต่รู้หรือไม่ว่าอาการปวดที่รู้สึกอยู่อาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า กระดูกของคุณไม่ไหวแล้ว
นายแพทย์ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า โรคกระดูกสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ ล้วนมีโอกาสที่จะมีปัญหาหรือเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกได้ทั้งสิ้น โดยอาการเบื้องต้นของโรคกระดูกที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ อาการปวด นอกจากนี้ในบางรายอาจจะมีอาการอื่น ๆ เช่น อาการขัด มีเสียงความผิดปกติของการขยับ ขาอ่อนแรง ซึ่งหากไม่อยากให้ลุกลามไปถึงขั้นที่เกิดอาการรุนแรงและอันตราย ก็ต้องระมัดระวังและเข้ารับการตรวจรักษาสุขาพตั้งแต่เริ่มต้น
สำหรับโรคกระดูกโดยทั่วไปแล้วมีสาเหตุมาจากการใช้งาน ความเสื่อม และอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในคนทำงานส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการใช้งานหักโหมจนเกินไป โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมไปถึงคนที่ต้องเดินนาน ยืนนาน เมื่อประกอบกับการนั่งหรือยืนผิดท่า ก็มีโอกาสที่จะทำให้กล้ามเนื้อคอ หลัง และขาอักเสบ อันจะนำไปสู่อาการเบื้องต้นของโรคกระดูกได้ ซึ่งหากยังปล่อยให้ตัวเองใช้งานกระดูกส่วนต่าง ๆ ผิดท่าไปนาน ๆ ก็จะเพิ่มโอกาสและความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกเสื่อมให้มากขึ้น ส่วนผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ อาการของโรคกระดูกที่พบบ่อย ๆ คือการปวดขา ปวดเข่า หรืออาการปวดในอวัยวะที่ใช้ในเล่นกีฬานั้น ๆ
ในผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรคกระดูกเสื่อม ทั้งคอเสื่อม เข่าเสื่อม และ หลังเสื่อม ซึ่งอาจจะเกิดจากอุบัติเหตุหรือการใช้งานกระดูกส่วนนั้น ๆ หนักเกินไปสะสมเป็นเวลานาน โดยอาการเบื้องต้นที่สังเกตได้คือ หากกระดูกคอเสื่อมจะมีอาการปวดคอร้าวลงไปถึงแขน บางครั้งอาจมีอาการแขนชาหรือแขนอ่อนแรงร่วมด้วย หากกระดูกหลังเสื่อมจะปวดหลัง ชาที่ขา หรือมีอาการขาไม่มีแรง แต่หากเข่าเสื่อม สะโพกเสื่อม จะมีอาการปวดเมื่อลงน้ำหนักไปยังจุดนั้น ๆ ในบางรายอาจจะมีเสียงที่เข่าเวลาขยับ นั่งยอง ๆ หรือคุกเข่าไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นหนักมากอาจจะทำให้เกิดอาการขาโก่งผิดรูปได้
ทั้งนี้ตำแหน่งของการเกิดปัญหาหรือโรคเกี่ยวกับกระดูกในแต่ละคนขึ้นอยู่กับที่มาและสาเหตุ เช่น คนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์บ่อย ๆ นาน ๆ ต้องก้มเยอะ ๆ ก็มีโอกาสที่กล้ามเนื้อและกระดูกคอหรือหลังจะอักเสบได้ หากเป็นคนที่ต้องยืนนาน ๆ โอกาสที่จะมีปัญหาในกระดูกขาหรือเข่าก็สูงกว่าคนทั่วไป หรือในนักกีฬาที่ต้องใช้ช่วงแขนและไหล่เยอะ ก็อาจจะพบอาการของโรคกระดูกแขนและกระดูกไหล่ได้เช่นกัน ฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่าอาการปวดกระดูกหรือเรียกรวม ๆ ว่าโรคเกี่ยวกับกระดูกสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายอวัยวะ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูก เช่น โรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์โดยตรง
ดังที่บอกไปว่าปัญหาและโรคเกี่ยวกับกระดูกสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย ซึ่งเมื่อเป็นแล้วแน่นอนว่าจะทำให้เจ็บปวดและทรมาน หากไม่อยากมีอาการเหล่านั้นก็ต้องหันมาดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไว้ก่อน ซึ่งสามารถทำได้ด้วย 4 ข้อปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้
- กินเพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรง โดยเน้นอาหารประเภทโปรตีนและอาหารที่มีส่วนประกอบของแคลเซี่ยมในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย ฯลฯ
- ออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นทั้งหลายเป็นเหมือนเกราะที่ห่อหุ้มกระดูกไว้ ถ้ากล้ามเนื้อและเอ็นแข็งแรง เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยอย่างอุบัติเหตุหรือการกระทบกระทั่งก็จะกระทบกับกระดูกน้อยลง
- ใช้งานอวัยวะอย่างระมัดระวังให้ถูกวิธีและพอดี ต้องดูแลตัวเองไม่ให้ใช้งานอวัยวะหรือกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งผิดวิธีหรือใช้งานหักโหมจนเกินไป
- หาอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง หากรักที่จะเล่นกีฬาหรือใช้ชีวิตผาดโผนก็ต้องรู้จักการดูแลตัวเอง ถ้าจะเล่นกีฬาบางประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงก็ต้องใส่อุปกรณ์เซฟตี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายต่อกระดูก
เพียงแค่ใส่ใจและดูแลตัวเองเท่านี้ ก็ห่างไกลปัญหาและโรคที่เกี่ยวกับกระดูกได้แล้ว