หญิงมีครรภ์กับการรักษาทางทันตกรรม
โดย ท.พ.สุรชาติ หนุนภักดี
ผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางระบบสรีระต่างๆ ของร่างกายตามมา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพในช่องปากด้วย หญิงมีครรภ์จึงควรได้รับการดูแลทางทันตกรรมเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะเกิดโรคต่างๆ ในช่องปากได้
มีคำกล่าวโบราณที่ว่ามีลูก 1 คน เสียฟัน 1 ซี่ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการตั้งครรภ์และสุขภาพช่องปาก ปัจจุบันนี้เราพบว่า เมื่อมีการตั้งครรภ์จะมีการถ่ายเทแคลเซี่ยมจากกระดูกมารดาไปสร้างอวัยวะให้กับทารกในครรภ์ ดังนั้นกระดูกรองรับฟันจึงอ่อนแอลงและส่งผลถึงความแข็งในการยึดเหนี่ยวฟันด้วย
หญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาโรคเหงือกนั้นเป็นเพราะ ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สูงขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยตรงต่อหลอดเลือดขนาดเล็กของเหงือกทำให้สภาพของเหงือกเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 8 เหงือกบริเวณฟันหน้าจะอักเสบมากกว่าฟันหลัง มีลักษณะบวมแดง เลือดออกง่าย ยิ่งถ้าหากสภาพช่องปากมีหินปูนอยู่แล้วหรือใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ และไม่รักษาสุขภาพช่องปากให้ดียิ่งทำให้สภาพเหงือกแย่ลงไปอีก บางรายเหงือกจะเป็นก้อนโตคล้ายเนื้องอก ก้อนเนื้อนี้จะโตอย่างรวดเร็วอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 2 เซ็นติเมตร แต่ไม่มีอาการปวดเจ็บแต่ประการใด นอกจากจะไปขัดขวางการบดเคี้ยว ส่วนใหญ่เนื้องอกนี้จะหยุดโตเอง และลดขนาดลงหลังจากภาวะตั้งครรภ์ผ่านพ้นไปแล้วหลายเดือน แต่หากก้อนเนื้อขัดขวางการเคี้ยวอาหารมีเลือดออกง่ายอาจต้องทำการผ่าตัดออก
ผลกระทบทางอ้อมอีกทางหนึ่งของการตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะที่มักจะแพ้ท้อง การอาเจียนจะทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดออกมาทำลายผิวเคลือบฟันได้ หญิงแพ้ท้องจะลำบากในการแปรงฟันเพราะ จะคลื่นไส้อาเจียนทุกครั้งที่แปรงฟัน บางคนอาจอยากทานของเปรี้ยว ของดอง หรือของหวาน ประกอบกับการละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากทำให้สภาพช่องปากแย่ลงไปอีก ความเครียด ความวิตกกังวล เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญโดยเฉพาะถ้าหากต้องมาทำฟันด้วยแล้วจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
ความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของหญิงมีครรภ์ ได้ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หญิงมีครรภ์ต้องได้รับการดูแลรักษาทางทันตกรรมอย่างเหมาะสมและใกล้ชิด
การบำบัดทางทันตกรรมใดๆ ในช่วงไตรมาสแรก (3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) ควรทำเฉพาะกรณีฉุกเฉิน หรือที่ทำง่ายๆ เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน การถ่ายภาพรังสีเอ็กซเรย์ต้องได้รับการปกป้องร่างกายและครรภ์จากเสื้อตะกั่วและควรทำเฉพาะกรณีจำเป็นจริงๆ การรักษาที่ยุ่งยากขึ้นและใช้เวลานานๆ เช่น การใส่ฟันปลอม การรักษารากฟัน การอุดฟันยากๆ การรักษาโรคเหงือกที่รุนแรง ควรกระทำในระยะตั้งครรภ์ 4 ถึง 6 เดือน สำหรับในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ มารดาจะรู้สึกอึดอัดไม่สบาย การให้นอนราบนานๆ อาจเกิดสภาวะแทรกซ้อนได้จึงควรหลีกเลี่ยงการรักษาทางทันตกรรมในช่วงนี้ ยกเว้นกรณีจำเป็นจริงๆ ซึ่งการบำบัดทันตกรรมต้องกระทำช่วงเวลาสั้นๆ ให้พลิกตัวบ่อยๆมารดาไม่ควรเกร็ง ไม่ควรเครียด
ส่วนการให้ยาในทางทันตกรรมนั้น มีความปลอดภัยสูงไม่ว่าจะเป็นยาชาเฉพาะที่ หรือยาปฏิชีวนะจำพวก Penicillin, Erythromycin base หรือยาแก้ปวดจำพวก Paracetamol
กล่าวโดยสรุปแล้วหญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่จะเกิดภาวะเหงือกอักเสบและฟันผุได้ง่ายกว่าคนปกติ จึงควรได้รับการรักษาและดูแลทางทันตกรรมอย่างใกล้ชิด ก่อนที่อาการของโรคจะเป็นมาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาคือ ช่วงตั้งครรภ์ 4-6 เดือน ซึ่งสามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่อุดฟัน ถอนฟัน รักษารากฟัน รักษาโรคเหงือก การใช้ยาต่างๆ ก็มีความปลอดภัยเช่นกัน แต่ถ้าหากปล่อยปละละเลยจนกระทั่งทนไม่ไหวค่อยมารักษาในช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ การรักษาทางทันตกรรมก็จะมีความยุ่งยาก และมีข้อจำกัดหลายอย่าง.