ออกกำลังกายก็มีสิทธิ์เป็นโรคหัวใจจริงหรือ?
หลายคนชอบออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ และยิ่งในปัจจุบันเทรนด์การวิ่งนับว่าเป็นกีฬาอีกหนึ่งชนิดที่สังคมไทยนิยมกันมากขึ้น
จึงทำให้หลายคนหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งหรือเข้าร่วมในการวิ่งมาราธอน การออกกำลังกายทำให้ระดับความดันโลหิต ไขมัน, น้ำตาลในเลือด และ น้ำหนักลดลง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ในขณะเดียวกันทำไมยังมีข่าวว่า คนทั่วไปหรือแม้กระทั่งนักกีฬาที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยังเป็นโรคหัวใจหรือมีการเสียชีวิตเฉียบพลัน
จากข้อมูลพบว่า การเสียชีวิตเฉียบพลันในนักกีฬา พบได้น้อยในอเมริกา พบแค่เพียง 1 ใน 100,000 รายต่อปี แต่จะพบมากขึ้นในกลุ่มนักกีฬาที่มีอายุมาก สาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลันนั้นขึ้นอยู่กับอายุของนักกีฬา
– กลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนมากเป็นจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ, หลอดเลือดหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง
– กลุ่มอายุมากกว่า 35 ปี ส่วนมากมักเป็นจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภายนอกดูแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าหัวใจของคุณจะแข็งแรงตามไปด้วยเสมอไป โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายแล้วเคยมีอาการดังนี้
– เจ็บแน่นหน้าออกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับ
– จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่
– หายใจสั้น หอบ
– อาจมีอาการเจ็บร้าวที่บริเวณแขน
– คอ ไหล่ และกราม
– เหงื่อออกท่วมตัว
– คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น
สำหรับสาเหตุของการเกิด โรคหัวใจ นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเด็น ไม่มีสาเหตุที่ตายตัวแน่นอน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจบ่งชี้ว่าน่าจะมีส่วนในการพัฒนาไปสู่การเป็นโรคหัวใจได้ ในกรณีนี้ ขอพูดถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของโรคหัวใจ โดยแบ่งออกได้เป็นดังนี้
ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากภายในครอบครัวมีประวัติที่เป็นโรคหัวใจ เมื่อตกมาถึงเรา ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันนั้นล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุม หรือเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับเรื่องพันธุกรรมที่ได้รับถ่ายทอดมา
ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ประกอบด้วย การใช้ชีวิต อาหาร การออกกำลังกาย การจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการงดสูบบุหรี่ รวมไปถีงเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน ระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือด หากรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและห่างไกลจากการเป็นโรคหัวใจ และลดอัตราเสี่ยงที่อาจจะเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ รวมทั้งการเข้ามาตรวจสมรรถภาพหัวใจทุกปี ก็เป็นหนึ่งแนวทางการป้องกันได้ เพราะหากรู้เร็วว่าเรามีความเสี่ยง จะสามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที