ไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไตวายจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื้อไตมีการอักเสบเรื้อรัง ไตมีถุงน้ำ ฯลฯ
เมื่อเกิดภาวะไตวายจะทำให้ของเสียคั่งในร่างกายเกิดภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่และน้ำในร่างกาย จนร่างกายไม่สามารถทนได้ ต้องบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของไต ผู้ป่วยควรพบแพทย์และใช้หลักการของอาหารบำบัดที่เหมาะสม ดังนี้
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าว / แป้ง, เนื้อสัตว์, ผัก, ผลไม้, น้ำมัน และต้องได้รับพลังงานเพียงพอ โดยในแต่ละมื้อควรมีอาหารหลากหลาย
2. ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ได้แก่ การลดหวาน, ลดมัน, ลดเค็ม เพื่อควบคุมโรคที่มีผลกระทบต่อไต
3. ควบคุมปริมาณเนื้อสัตว์ เพราะเนื้อสัตว์มีปริมาณโปรตีนสูง หากรับประทานมากเกิน จะทำให้ปริมาณของเสียในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ไตทำงานหนัก ปริมาณโปรตีนที่แนะนำ คือ 0.6 – 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือขึ้นอยู่กับระยะของโรค และควรเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพสูง ได้แก่ เนื้อปลา เนื่องจากมีไขมันต่ำ มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง, ไข่ขาว, เนื้อหมู, เนื้อไก่ (ไม่ติดหนัง / มัน), นมไขมันต่ำ เป็นต้น
4. ข้าว / แป้ง เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ เช่น ข้าวเจ้า ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี เป็นต้น แต่ในแป้งเหล่านี้ยังมีโปรตีนอยู่บ้าง ในกรณีจำกัดโปรตีนต่ำมากๆ อาจต้องใช้แป้งปลอดโปรตีน เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ เพิ่มเติมจากข้าวได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน ให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน
5. ไขมัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ และจำกัดไขมันอิ่มตัวทั้งจากพืชและสัตว์ เช่น กะทิ น้ำมันปาล์ม มันหมู รวมถึงไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม เนยขาว ในเบเกอรี่ต่างๆ แนะนำให้ใช้น้ำมันชนิดที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ในการประกอบอาหาร
6. จำกัดโซเดียมในอาหาร กรณีความดันโลหิตสูงหรือมีอาการบวม ต้องจำกัดปริมาณโซเดียม หากใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารได้ประมาณ 3 ช้อนชา/วัน เลี่ยงอาหารรสเค็มจัด รวมถึงอาหารแปรรูป, อาหารหมักดอง, อาหารตากแห้งต่างๆ และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอก, แฮม, เบคอน, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เป็นต้น
7. เครื่องเทศ และสมุนไพร ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องจำกัดปริมาณโซเดียมต่ำมาก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง แนะนำให้ใช้เครื่องเทศ และสมุนไพร เป็นตัวแต่งกลิ่นอาหาร ให้อาหารมีกลิ่น และรสชาติ ที่น่ารับประทานมากขึ้น เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ เป็นต้น
8. น้ำ น้ำเปล่าเหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด หรือหากอยากดื่มน้ำสมุนไพร ต้องไม่หวานจัด เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น หากมีความดันโลหิตสูง หรืออาการบวม ต้องจำกัดน้ำดื่ม ไม่เกิน 700 – 1,000 ซีซีต่อวัน เพราะความสามารถในการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคไตจะลดลง
9. ข้อปฏิบัติอื่นๆ เช่น งดบุหรี่ เหล้า กาแฟ ระวังมิให้ท้องผูกด้วยยา เพราะเมื่อขับถ่ายยากมีผลให้ความดันโลหิตขึ้น และยังมีผลทำให้ร่างกายดูดซึมโปแตสเซียมมากขึ้น อีกทั้งควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และนอนหลับสนิท ส่วนสารอาหารอื่นๆ อาจต้องมีการปรับและควบคุมตามอาการของโรค โดยการไปพบแพทย์และตรวจเลือดเป็นระยะๆ เพราะจะเป็นตัวช่วยบอกว่าควรจำกัดสารอาหารใดบ้าง เช่น
- หากมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยง ผักสีเขียวเข้ม หรือสีเหลืองเข้ม เช่น บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง ผักที่รับประทานได้ เช่น ฟักเขียว บวบ แตงกวา มะเขือยาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเลี่ยงอาหารที่ใช้โพแตสเซียมเป็นส่วนประกอบในสารปรุงแต่งอาหารหลายชนิด เช่น “ด่าง” ที่ใช้ใส่ใน แป้งบะหมี่ แป้งเกี๊ยว เพื่อให้แป้งมีลักษณะ “เหนียว” ผู้ป่วยที่มีภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูง จึงควรงดอาหารกลุ่มนี้ รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบรรจุซองด้วย
- หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยง ไข่แดง (ควรทานแต่ไข่ขาว) นมทุกรูปแบบ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง เมล็ดพืช เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ งดอาหารที่ใช้ยีสต์เพราะมีฟอสเฟตสูง เช่น ขนมปังปอนด์ แป้งซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท งดอาหารที่ใช้ผงฟู เช่น เค้ก คุ้กกี้ ซาลาเปา โดนัท
- หากมีระดับยูริกในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงแหล่งอาหารที่มีพิวรีนมาก เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด, ปีกสัตว์, น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์, ยอดผักอ่อนๆ พวกยอดตำลึง, ยอดฟักแม้ว, ยอดฟักทอง, หน่อไม้ฝรั่ง รวมถึงต้องรับประทานอาหารไขมันต่ำด้วย เพราะอาหารไขมันสูงทำให้กรดยูริกขับถ่ายทางปัสสาวะได้ไม่ดี
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคไต ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภคตั้งแต่ตรวจพบว่าเป็นโรค โดยอาจให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการควบคุมอาหาร รวมถึงการมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อความต่อเนื่องในการวางแผนรักษา หรือการพบนักโภชนาการเพื่อช่วยกันวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อชะลอความเสื่อมของไตลงได้