Skip to content
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • TH
    • EN
    • CN
    • AR
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Praram 9 Star Doctors
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Praram 9 Star Doctors
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา

มะเร็งตับปฐมภูมิ (หรือมะเร็งของเซลล์ตับ) โรคมะเร็งที่พบบ่อย ป้องกันและรักษาได้อย่างไรบ้าง?

นพ.ปรเมษฐ์ เหลืองอ่อน

บทความ

โรงพยาบาลพระรามเก้า

  • วันที่โพสต์ 8 พฤศจิกายน 2023
มะเร็งตับป้องกันและรักษาได้

มะเร็งตับปฐมภูมิ คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตับเอง ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึง  hepatocellular carcinoma (HCC) ไม่รวมกับมะเร็งท่อน้ำดีในตับ  

hepatocellular carcinoma (HCC) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย เเละยังเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 1 ในเพศชายเเละอันดับที่ 3 ในเพศหญิง ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก โดยเป็นมะเร็งที่มีอัตราเสียชีวิตสูงมาก จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่ไม่ได้รับการรักษามีอัตราการรอดชีวิตใน 1 ปีเพียง 17.5% เเละอัตราการรอดชีวิตภายใน 2 ปีอยู่ที่ 7.3% ซึ่งมะเร็งตับปฐมภูมิ ชนิด HCC ในระยะเเรกเริ่มมักไม่แสดงอาการเเละตรวจพบยากทำให้มะเร็งลุกลามก่อนตรวจพบเเละได้รับการรักษาซึ่งมะเร็งตับในระยะแรกเริ่มสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดหรือใช้จี้ความร้อนหรือการเปลี่ยนถ่ายตับ จึงไม่ควรละเลยการตรวจคัดกรองเพื่อการป้องกันโรคมะเร็งชนิดนี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ

สนใจนัดหมายแพทย์

สารบัญ

  • มะเร็งตับเกิดจากอะไร?
  • อาการของโรคมะเร็งตับ
  • มะเร็งตับมีกี่ระยะ?
  • การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
  • มะเร็งตับรักษาหายไหม?
  • การรักษามะเร็งตับ
  • การป้องกันโรคมะเร็งตับ
  • สรุป

มะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC เกิดจากอะไร?

สาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC ได้แก่

  1. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B) โดยพบว่าประเทศไทยมีผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับบีมากถึง 2.2 ล้านคน เเละอาจพบเป็นผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายที่ไม่มีอาการ เเต่สามารถเเพร่ให้ผู้อื่นได้ โดยการเเพร่จากมารดาสู่บุตร การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ เเละจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย รวมไปถึงการใช้เข็มฉีดยาหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งความอันตรายของไวรัสตับอักเสบบี คือ ผู้ป่วยสามารถเป็นมะเร็งตับโดยที่ไม่ต้องเป็นตับแข็งก่อน
  2. โรคตับเเข็งจากสาเหตุต่าง เช่น การดื่มสุรา ไขมันเกาะตับ ไวรัสตับอักเสบซ๊ เเละตับเเข็งที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกายที่ทำลายเซลล์ตับ
  3. การได้รับสารอะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อราในอาหารเเห้งหลายชนิด เช่น ถั่ว ข้าวโพด พริกเเห้ง เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ

ดังนั้นเนื่องจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับชนิด HCC ตามที่กล่าวเบื้องต้น แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งตับชนิด HCC ในประเทศไทย จึงแนะนำให้ตวจคัดกรองในผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี หรือเป็นตับแข็งจากสาเหตุอื่นๆ ด้วยการตรวจอัลตราซาวน์ตับ และเจาะค่ามะเร็งตับ Alfa-fetoprotein ทุก 6 เดือน

> กลับสู่สารบัญ

อาการของโรคมะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC

โรคมะเร็งตับในระยะเริ่มเเรกมักไม่มีอาการที่ชัดเจน โดยอาจพบก้อนมะเร็งขนาดเล็ก 2-3 เซนติเมตร ซึ่งมักจะพบจากการตรวจอัลตราซาวนด์ตับเเละการตรวจเลือดค่า AFP การตรวจพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นนี้จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้

อาการแสดงของโรคมะเร็งตับจะเกิดขึ้นเมื่อตัวเซลล์มะเร็งมีขนาดมากกว่า 10 เซนติเมตรขึ้นไปซึ่งเป็นระยะที่รักษาให้หายขาดได้ยาก โดยมักมีอาการดังนี้

  • ปวดท้องใต้ชายโครงขวาเรื้อรัง โดยมีอาการคล้ายโรคกระเพาะ
  • เบื่ออาหารเเละน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เเน่นท้อง ท้องผูก เเละอาจมีไข้ต่ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ
  • คลำพบก้อนขนาดใหญ่บริเวณช่องท้อง
  • อาการอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะตับเเข็ง เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง เเละท้องโตขึ้นผิดปกติ

> กลับสู่สารบัญ

มะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC มีกี่ระยะ?

มะเร็งตับสามารถเเบ่งได้ 5 ระยะโดยเเบ่งตามขนาดของเซลล์มะเร็งเเละการลุกลาม ได้แก่

1.ระยะเเรกเริ่ม (very early stage)

จะพบก้อนมะเร็งขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตรโดยยังไม่ลุกลามเข้าไปยังหลอดเลือดในตับ ในระยะนี้สามารถตรวจพบได้น้อยมาก โดยสามารถตรวจพบได้เพียง 30% เท่านั้น

2.ระยะแรก (early stage)

จะพบก้อนมะเร็งขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรเพียงก้อนเดียว หรือ ก้อนที่มีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตรไม่เกิน 3 ก้อน

3.ระยะกลาง (intermediate stage)

จะพบก้อนมะเร็งจำนวนหลายก้อน โดยระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำการรักษาโดยการผ่าตัดได้เเละหากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก

4.ระยะแพร่กระจาย (advanced stage)

โดยเซลล์มะเร็งในระยะนี้จะลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลือง หลอดเลือดดำ เเละอวัยวะอื่น ๆ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการรอดชีวิตใน 1 ปี เพียง 25% เท่านั้น

5.มะเร็งตับระยะสุดท้าย (end-stage)

ในระยะนี้การทำงานของตับจะเหลือน้อยมาก ๆ เเละผู้ป่วยจะมีอาการปวดรุนเเรงมากเเละมีภาวะเเทรกซ้อนต่าง ๆ ร่วมด้วย ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตใน 1 ปี เพียง 11%

> กลับสู่สารบัญ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับปฐมภูมิชนิดHCCสามารถทำการตรวจคัดกรองได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี แต่หากจำเป็นต้องตรวจให้ละเอียดและแม่นยำมากขึ้นควรได้รับการตรวจจากแพทย์เฉพาะทางโรคตับและทางเดินอาหาร ซึ่งการตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับสามารถตรวจได้ดังนี้

  1. การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากสามารถวินิจฉัยโครงสร้างเเละความผิดปกติของตับได้ เช่น ลักษณะของเนื้องอกในตับ ไขมันพอกตับ เเละตับอักเสบ เเละยังสามารถบอกภาวะการถูกทำลายของตับได้ เเต่มีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีภาวะตับเเข็ง การตรวจด้วยวิธีนี้จะไม่สามารถจำเเนกชนิดของเนื้องอกในตับได้
  2. การตรวจเลือด เพื่อดูค่าการทำงานของตับ
  3. การตรวจวัดสารก่อมะเร็งในเลือด หรือ alpha-fetoprotien (AFP) เป็นการตรวจเพื่อหาสารโปรตีนชนิดพิเศษ ที่สามารถบ่งบอกถึงมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น
  4. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography; CT SCAN) โดยแพทย์อาจพิจารณาการตรวจ CT scan แบบต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือแบบไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย การตรวจ CT scan จะทำให้ทราบถึงลักษณะของเนื้อตับว่าปกติหรือไม่ และยังบอกถึงการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย 
  5. การตรวจด้วยคลื่นเเม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging; MRI) เพื่อดูลักษณะก้อนมะเร็งอย่างละเอียดหรือเนื้องอกในบริเวณตับ รวมไปถึงดูการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ

> กลับสู่สารบัญ

มะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC รักษาหายไหม?

โรคมะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบเร็วเเละอยู่ในระยะเริ่มต้นถึงระยะกลาง โดยอาจทำการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามคำเเนะนำของเเพทย์ ร่วมกับการปฎิบัติตัวเเละดูเเลตัวเองอย่างเหมาะสม

> กลับสู่สารบัญ

การรักษามะเร็งตับชนิด HCC

การรักษาโรคมะเร็งตับปฐมภูมิ ชนิด HCC เเพทย์จะให้คำเเนะนำเเละปรึกษากับผู้ป่วยเเละครอบครัวเพื่อเลือกเเนวทางการรักษาที่เหมาะสม โดยเเนวทางการรักษาในเเต่ผู้ป่วยเเต่ละรายจะขึ้นกับขนาด จำนวนเเละตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง รวมไปถึงภาวะต่าง ๆ เเละโรคประจำตัวของผู้ป่วยเเต่ละราย โดยเเนวทางการรักษาสามารถจำเเนกได้ตามระยะของโรคดังนี้

1.ระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้

การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมะเร็งตับที่มีก้อนมะเร็งไม่เเพร่กระจายออกนอกตับ เเละผู้ป่วยมีสภาพร่างกายเเข็งเเรง ซึ่งการรักษาผผู้ป่วยที่ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ สามารถทำได้ 3 วิธี

  1. การผ่าตัดตับออกบางส่วน เหมาะกับผู้ป่วยที่มีมะเร็งระยะแรกเริ่มและระยะแรก ที่การทำงานของตับยังทำงานได้ดี และผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
  2. การทำลายเซลล์มะเร็งตับด้วยความร้อน (thermal ablation) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีมะเร็งระยะแรกเริ่มและระยะแรก ที่ก้อนมะเร็งขนาดไม่เกิน 3-5 cm ซึ่งผลการรักษามีอัตราการรอดชีวิตไกล้เคียงกับการผ่าตัด แต่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำมากกว่าการผ่าตัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงและ การทำงานของตับไม่สมบูรณ์
  3. เปลี่ยนตับ (liver transplantation) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษา แต่อย่างไรก็ตามต้องคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้ด้วย

2.การรักษามะเร็งตับที่ลุกลามเฉพาะที่

การรักษามะเร็งตับที่ลุกลามเฉพาะที่ เเต่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะตับเเข็งหรือมีก้อนมะเร็งติดกับหลอดเลือดใหญ่ในตับ รวมไปถึงผู้ที่มีความเสี่ยงการเสียชีวิตจากการผ่าตัดสูง จึงจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การให้ยามุ่งเป้า(targeted therapy) หรือการให้ยาอิมมูน(immunotherapy)เพื่อยับยั้งการเเบ่งตัวของเซลล์มะเร็งตับ
  • การฉีดยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ (transarterial chemoembolization; TACE) เป็นการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัดเข้าไปยังหลอดเลือดแดงในตับที่เลี้ยงก้อนเซลล์มะเร็งโดยตรงร่วมกับการอุดกั้นหลอดบริเวณนั้น เพื่อให้ก้อนมะเร็งขาดเลือดเเละสลายไปเอง
  • การอุดกั้นหลอดเลือดแดงของตับด้วยสารกัมมันตรังสี (radioembolization) เป็นทางเลือกการรักษาเพื่อทำลายก้อนมะเร็งและลดขนาดของก้อนมะเร็งตับ
  • การฉายแสงที่ตับ (radiotherapy)

3.การรักษามะเร็งตับในระยะสุดท้าย

ในระยะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยจะทำการรักษาได้เพียงชะลอให้เซลล์มะเร็งเเพร่กระจายตัวช้าลง หรือลดอาการปวด เป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยในระยะนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สนใจนัดหมายแพทย์

> กลับสู่สารบัญ

การป้องกันโรคมะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC

การป้องกันโรคมะเร็งตับทำได้โดย 2 วิธีหลัก ๆ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันเเละการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

  1. การสร้างภูมิคุ้มกัน ทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอเเละบี ร่วมกับสังเกตอาการผิดปกติด้วยตนเอง เเละตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำทุกปี
  2. การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น
  • ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเเละซี
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดเเละสารคัดหลั่งของผู้อื่นโดยตรง ควรสวมใส่ถุงมือยางทุกครั้ง เเละไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเช่น ใบมีดโกนหนวด เข็มเจาะหู หรือเข็มที่ใช้ในการสักผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อรา เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง พริกป่น กระเทียม ข้าวโพดเเละเต้าเจี้ยว และไม่ควรเก็บอาหารจำพวกนี้ไว้เป็นเวลานานเพราะอาจมีเชื้อราที่ก่อมะเร็งได้ 
  • หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปต่าง ๆ  เช่น อาหารใส่สารกันบูด แฮม ไส้กรอก ปลาเค็ม กุนเชียง กุ้งเเห้ง
  • ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ปลาน้ำจืดที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรืออาหารหมัก เช่น ปลาร้า เเหนม ปลาจ่อม เพื่อป้องกันการเกิดพยาธิ
  • งดดื่มสุราเเละงดสูบบุหรี่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เเละรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม

> กลับสู่สารบัญ

สรุป

มะเร็งตับปฐมภูมิชนิด HCC เป็นมะเร็งที่มีอัตราการตายสูงเเละไม่มีอาการในระยะเเรกเริ่ม ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาพบแพทย์เมื่ออาการของโรคเข้าสู่ระยะลุกลามไปแล้ว  การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ และการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งตับได้ โดยหากตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะเเรก ๆ เเละระยะกลางเเล้วทำการรักษาต่อเนื่องกับทีมเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเเละปฎิบัติตามคำเเนะนำของเเพทย์ ก็จะสามารถทำให้มีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งตับได้สูงมาก

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

สนใจนัดหมายแพทย์

> กลับสู่สารบัญ

บทความล่าสุด

หัวใจล้มเหลว

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม
ลิ้นหัวใจเทียม

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

อ่านเพิ่มเติม
บอลลูนหัวใจ

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

อ่านเพิ่มเติม
ดูบทความทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V

ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

  • Praram 9 Hospital
  • @praram9hospital

แพทย์ผู้เขียนบทความ

Dr.-Poramet-Luangon

นพ.ปรเมษฐ์ เหลืองอ่อน

ศูนย์ศัลยกรรม

นัดหมาย

ประวัติเพิ่มเติม

 

ศูนย์แพทย์

ศูนย์ศัลยกรรม_1-1

ศูนย์ศัลยกรรม

เยี่ยมชม

ดูทั้งหมด

บทความอื่นๆ

หัวใจล้มเหลว

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม
ลิ้นหัวใจเทียม

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม
บอลลูนหัวใจ

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

อ่านเพิ่มเติม
อ่านบทความทั้งหมด
Facebook-f Youtube Instagram Line
  • 1270
  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • นัดหมาย
  • บทความสุขภาพ
  • แพ็กเกจ
  • ข่าว และกิจกรรม รพ.
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว
  • นักลงทุนสัมพันธ์
  • การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • ร่วมงานกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไข

Copyright © 2025 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital

  • เกี่ยวกับเรา
  • ศูนย์การแพทย์
  • ค้นหาแพทย์
  • ห้องพัก
  • Health Guru
    • บทความสุขภาพ
    • Praram 9 Star Doctors
  • แพ็กเกจ
  • ติดต่อเรา