ผู้ป่วยโรคไต ที่ต้องฟอกไตไปจนถึงผ่าตัดเปลี่ยนไต จำเป็นต้อง ได้รับการประสานงานอย่างต่อเนื่องหลายขั้นตอน แน่นอนว่าบุคคลที่ผู้ป่วยต้องมาพบคือแพทย์ โรคไต ที่ทำหน้าที่รักษา
แต่ยังมีอีกกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องใช้เวลาคุยกับผู้ป่วยด้วยมากที่สุด นั่นก็คือ “พยาบาล” เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไต ของสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคไต
“ผู้ป่วยโรคไต จะได้เจอพยาบาลที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน ในช่วงแรกของการรักษา ผู้ป่วยจะได้พบกับแพทย์โรคไตและ พยาบาลผู้ป่วยนอก เมื่อพบว่าเป็นโรคไตในระยะที่ต้องฟอกไต ก็จะได้พบกับ พยาบาลไตเทียม หากผู้ป่วยมีความประสงค์ที่จะรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนไต ก็จะได้พบกับ พยาบาลผู้ประสานงานเปลี่ยนไต ที่จะช่วยดูแลเรื่องการลงทะเบียนรอรับไตบริจาค และคอยดูแลให้ผู้ป่วยเตรียมความพร้อมในการรอรับไตบริจาค เช่น คอยติดตามให้เก็บตัวอย่างเลือดส่ง ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และจนสุดท้ายหากผู้ป่วยได้รับไตบริจาคจนผ่าตัดเปลี่ยนไตเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้พบกับ พยาบาลไอซียู, พยาบาลห้องผ่าตัด, พยาบาลผู้ป่วยใน ซึ่งรับหน้าที่ร่วมดูแลผู้ป่วยในทุกขั้นตอนก่อนและหลังการผ่าตัด หลังจากที่ผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว แพทย์จะนัดตรวจติดตามการทำงานของไตเป็นระยะที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งจะได้พบกับพยาบาลผู้ป่วยนอกอีกครั้ง”
จะเห็นได้ว่า “พยาบาล” เป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในทุกระยะของการรักษา เรียกได้ว่าใกล้ชิดกันเหมือนญาติ เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตที่ต้องเข้ามาฟอกไตก็จะต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน และในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกท้อแท้ในการรักษา พยาบาลได้เล่าถึงการให้กำลังใจผู้ป่วยว่า “เราเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโรคไต การได้พูดคุย ให้กำลังใจ อธิบายถึงวิธีการรักษา วิธีการดูแลตนเอง ทำให้เขาคลายกังวลเป็นเรื่องสำคัญ และเราต้องทะลายกำแพงที่กั้นความรู้สึกว่า เขาเป็นผู้ป่วย เราเป็นพยาบาล เราอยากให้เกิดความรู้สึกที่ดีและไว้วางใจต่อกันในระหว่างการรักษา ก็มีบ้างเหมือนกัน ที่เราเจอผู้ป่วยท้อจนขอหยุดรักษากลางคัน เราต้องให้กำลังใจให้เขาต่อสู้จนผ่านพ้นช่วงเวลาแบบนั้น บางครั้งการที่เราใกล้ชิดและดูแลผู้ป่วยมานาน เรารู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาคืออะไร เราต้องนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างแรงใจให้เขา เช่น ขอให้อดทน ต่อสู้เพื่อลูก เพื่อครอบครัว เราต้องค่อยๆ อธิบายขั้นตอนการรักษาและบอกถึงโอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติดังเดิม เพื่อที่เขาจะได้อยู่กับครอบครัวต่อไป เพราะฉะนั้นในการดูแลผู้ป่วย เราต้องดูแลเรื่องจิตใจของเขาด้วย เราต้องส่งเสริมให้เขาและครอบครัวเป็นแรงใจให้กันและกันในการต่อสู้กับความเจ็บป่วยของเขา เราคิดว่าเราดูแลเขาเหมือนญาติ ไม่ใช่แค่เพราะเป็นหน้าที่ ดังนั้นแต่ละครั้งเมื่อได้ข่าวว่าผู้ป่วยจะมีโอกาสได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต พวกเราก็พลอยรู้สึกดีใจและตื่นเต้นไปกับเขาและครอบครัวของเขาด้วยทุกครั้ง”
ด้าน พยาบาลผู้ประสานงานการเปลี่ยนไต ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาด้วยการเปลี่ยนไต ได้บอกเล่าขั้นตอนการลงทะเบียนรอรับไตบริจาคจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย และประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ว่า
“เมื่อผู้ป่วยต้องการเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคจากสภากาชาด เราจะนัดให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์โรคไตเพื่อตรวจร่างกาย ดูความพร้อมที่จะทำผ่าตัดเปลี่ยนไตหรือไม่ อธิบายขั้นตอนการเปลี่ยนไต อธิบายข้อดี ข้อเสียของการเปลี่ยนไต จากนั้นจึงลงทะเบียนรอรับไตบริจาค และเราต้องแนะนำดูแลให้ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งไปที่สภากาชาดทุกเดือน อย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสหากเกิดมีการบริจาคไตในช่วงนั้น
พอเมื่อถึงเวลาที่มีไตบริจาค ศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะแจ้งมาให้เราประสานงานแพทย์โรคไต, ทีมทำผ่าตัดรับไต และผู้ป่วยเพื่อเตรียมตัวรับการผ่าตัด ตอนนี้จะมีการให้ข้อมูลผู้ป่วยและครอบครัวเป็นระยะ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจขั้นตอนการเตรียมตัวผ่าตัดและสิ่งที่จะเผชิญได้อย่างสบายใจ ไม่วิตกกังวล ถึงแม้ว่าข้อมูลพวกนี้เราจะคุยกับผู้ป่วยและครอบครัวบ่อยๆ แต่พอเมื่อถึงเวลาแพทย์ต้องคุยอีกครั้งเพื่อซักซ้อมความเข้าใจก่อนเผชิญสถานการณ์จริง
เรารู้ว่าขั้นตอนแต่ละขั้นเป็นเรื่องยากในชีวิตของผู้ป่วย แต่สิ่งที่เขาจะได้รับคือ ชีวิตใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ตัวเขาเอง แต่ครอบครัวของเขา ก็เหมือนกับกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งเช่นกัน และมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยากพูดถึงคือ อยากขอบคุณผู้บริจาคไตให้ผู้ป่วย หากขาดผู้บริจาคไตให้ โอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมามีชีวิตใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ เราในฐานะพยาบาล ต้องขอขอบคุณผู้บริจาคไต และญาติ ด้วยความจริงใจ เพราะไตที่บริจาคมานั้นมีคุณค่ามาก ช่วยต่อชีวิตของคนๆ หนึ่งและครอบครัวให้กลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
จากบทสัมภาษณ์นี้ สิ่งที่สัมผัสได้ นั่นคือ “ความใส่ใจ” ของพยาบาลที่ไม่ได้เกิดแค่จากคำว่า “หน้าที่” หากแต่เกิดจาก “จิตใจ” ที่อยากเห็นผู้ป่วย กลับมามีชีวิตใหม่ ใช้ชีวิตได้ดังเดิม และมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งการทำงานด้วยใจของบุคคลากร ก็เป็นส่วนสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤตของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เกิดความรู้สึกที่ดีและไว้วางใจในการรักษา