“บุหรี่ทำให้อายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 13.2 ปีในผู้ชาย และ 14.5 ปีในผู้หญิง “
การติดบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ ควันบุหรี่มีผลกระทบต่อหัวใจและระบบทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ , อัมพฤกษ์อัมพาต , ถุงลมโป่งพองและมะเร็ง (โดยเฉพาะมะเร็งปอด , มะเร็งในช่องปาก , มะเร็งกล่องเสียงและมะเร็งตับอ่อน) นอกจากนี้ยังมีผลต่อหลอดเลือดและโรคความดันโลหิตสูง ผลกระทบของบุหรี่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาณบุหรี่ที่สูบต่อวัน
ในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่มีผลต่อเซลล์ในร่างกาย และยังมีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีผลต่อร่างกายและจิตใจ บุหรี่ยังมีผลต่อเด็กทารกในครรภ์ ทำให้มารดาที่ตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งบุตร คลอดบุตรที่เสียชีวิต คลอดบุตรที่มีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ บุหรี่ยังมีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง บุหรี่ทำให้อายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 13.2 ปีในผู้ชาย และ 14.5 ปีในผู้หญิง ผู้สูบบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ 25-30 % และมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติ 20-30%
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การสูบบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่งที่เป็นๆหายๆ และมีแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่นๆโดยให้ชื่อโรคนี้ว่า “โรคติดบุหรี่” และถ้าไม่เลิกสูบบุหรี่จะมีผู้เสียชีวิตอันสืบเนื่องจากบุหรี่ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ปัจจุบันมีบริการช่วยเลิกบุหรี่โดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ การที่ผู้ป่วยไม่ทราบและไม่เข้าถึงการให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ ทำให้คนส่วนมากเลือกวิธีการเลิกบุหรี่ด้วยตนเองแบบหักดิบซึ่งมีอัตราความสำเร็จต่ำและมีโอกาสกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำได้มาก
เมื่อท่านตั้งใจที่จะลด ละ เลิกบุหรี่อย่างแท้จริง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่คอยให้คำปรึกษา ท่านจะได้รับการซักถามประวัติการสูบบุหรี่ และจะได้รับคำแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด โดยได้รับการประเมินความประสงค์และความพร้อมในการเลิกบุหรี่ ประเมินความรุนแรงของการติดบุหรี่ ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้สูบบุหรี่ รวมถึงจะได้รับการช่วยเหลือและบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ และจะมีการนัดติดตามอาการและผลการเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่อง
ผู้ป่วยที่มีประวัติการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ เหนื่อยง่าย มีเสมหะมาก ไอเรื้อรัง จะได้รับคำแนะนำให้ตรวจสมรรถภาพทางปอดเพื่อค้นหาโรคระบบทางเดินหายใจ หากพบว่าในครอบครัวมีบุคคลอื่นที่สูบบุหรี่ แนะนำให้เลิกสูบบุหรี่กันทุกคน พร้อมทั้งแนะนำให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวมาปรึกษาเรื่องเลิกบุหรี่ด้วย
ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพทำให้อัตราการเลิกบุหรี่สำเร็จเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1. สารนิโคตินทดแทน ซึ่งจะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ให้ลดลงและลดอาการถอนนิโคติน ในเมืองไทยมียาในรูปแบบหมากฝรั่งและแบบแผ่นติดผิวหนัง
2. ยากลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน ได้แก่ nortriptyline , buproprion SR , varenicline ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้ และทำให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
สำหรับการรักษาทางเลือก เช่น แพทย์แผนไทย การฝังเข็ม อาจมีส่วนช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น แต่ยังต้องรอดูข้อมูลสนับสนุนต่อไปในอนาคต ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีความจำเป็นในการใช้ยาเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ แต่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ
กรณีที่ผู้ติดบุหรี่ได้พยายามเลิกบุหรี่แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จอาจรู้สึกท้อแท้ได้ เนื่องจากธรรมชาติของโรคติดบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นๆหายๆ ขอเพียงแต่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ในกรณีดังกล่าวการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือบุคลากรวิชาชีพทางสาธารณสุข เพื่อรับคำแนะนำหรือรับยาจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้น