IQ (intelligence quotient) เป็นคำที่ทุกคนคงเคยได้ยินกันมานานจนคุ้นเคยกันดี ต่างจาก EQ (emotional quotient) และ AQ (adversity quotient) ซึ่งเป็นคำที่ทันสมัยกว่า และเป็นที่สนใจซักถามกันมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการที่คนเราจะประสบความสำเร็จพร้อม ๆ กับการมีความสุขในชีวิต ก็ควรจะต้องมีองค์ประกอบของทั้ง 3 สิ่งนี้อยู่ในตัวในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้
IQ คืออะไร?
เราจะมาคุยกันถึง IQ ก่อนเป็นลำดับแรก คนเราทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับลักษณะเฉพาะตัว และถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อมในภายหลัง IQ หรือความสามารถทางเชาว์ปัญญาก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งถูกกำหนดมาตั้งแต่แรกเกิด โดยมีปัจจัยด้านพันธุกรรมไปเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในครรภ์ของมารดาจนกระทั่งหลังคลอดก็เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อเชาว์ปัญญาเช่นกัน เช่น ภาวะแวดล้อมที่มีการให้ความรัก ความอบอุ่น ให้การกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ก็จะมีผลต่อการเสริมสร้างศักยภาพนี้ให้ มากขึ้น หรือในทางกลับกันก็บั่นทอนให้ลดลงได้
เชาว์ปัญญาเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่แสดงออกให้เห็นได้ผ่านพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงถึงความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถปรับตัวต่อเหตุการณ์ใหม่ ๆ ความสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล และเป็นพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมาย จะเห็นว่าเชาว์ปัญญาไม่ใช่ผลจากความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถนำพฤติกรรมใดเพียงอย่างเดียวไปตัดสินว่าคน ๆ นั้นโง่หรือฉลาดได้
เนื่องจากเชาว์ปัญญาเป็นสิ่งที่คนสนใจกันมานาน จึงมีการคิดมาตรวัดเชาว์ปัญญาขึ้นเพื่อให้ได้ผลออกมาเป็นตัวเลขที่สื่อกันได้ง่าย และเป็นที่รู้จักกันในคำว่า IQ นั่นเอง
IQ ย่อมาจากอะไร?
คำว่า IQ ย่อมาจาก Intelligence Quotient เป็นคำที่ William Stern เป็นผู้บัญญัติขึ้น เพื่อบ่งถึงระดับเชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคล โดยมีสูตรว่า
IQ = (อายุสมอง (MENTAL AGE) X 100) / อายุจริง (CHRONOLOGICAL AGE)
โดยอายุสมองมาจากการวัด โดยการใช้แบบทดสอบเชาว์ปัญญา ค่าคะแนนที่ได้จากการทดสอบจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับคะแนนมาตรฐานที่บุคคลในระดับอายุเดียวกันนั้นทำได้ จะเห็นว่าถ้าอายุสมองเท่ากับอายุจริง ค่า IQ ของบุคคลนั้นจะออกมาเท่ากับ 100 ซึ่งคือ ค่าเฉลี่ยของ IQ ในคนส่วนใหญ่นั่นเอง
การจําแนกระดับไอคิว
Classification of Intelligence by I.Q. Range
ค่า IQ ปกติ คือ 90 – 109 ส่วนที่ต่ำกว่าปกติเล็กน้อย คือ 80 – 89 จะเรียกว่ากลุ่ม Dull normal เป็นกลุ่มคนที่สามารถเรียนรู้ในระบบปกติได้ เพียงแต่จะช้ากว่าเล็กน้อยในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิชาการ กลุ่มที่ต่ำลงไปอีก คือ 70 – 79 ถือเป็นกลุ่ม Borderline MR (คำว่า MR มาจาก Mental Retardation หรือ ความบกพร่องทางสติปัญญา หรือ ที่เมื่อก่อนเรียกกันว่าปัญญาอ่อนนั่นเอง) กลุ่มนี้มักจะต้องการความช่วยเหลือพิเศษจึงจะสามารถเรียนรู้ได้ ส่วนกลุ่มต่ำกว่านั้น คือ เด็กสติปัญญาบกพร่องจะต้องอาศัยระบบการศึกษาพิเศษซึ่งจะแบ่งระดับไปตามความรุนแรงของความบกพร่อง กลุ่มที่บกพร่องอย่างอ่อน เป็นกลุ่มที่จัดเป็น Educable คือ เรียนรู้ทางด้านวิชาการได้ในระดับหนึ่ง สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยในการเรียนรู้จะต้องใช้เวลาที่มากกว่าปกติ ส่วนกลุ่มสติปัญญาบกพร่องปานกลาง จัดเป็นพวก Trainable คือ สามารถฝึกฝนสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันได้ ส่วนกลุ่มบกพร่องรุนแรงถึงรุนแรงมาก เป็นกลุ่มที่ต้องอาศัยผู้ดูแลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกลุ่มนี้มักมีโรคทางกายอื่น ๆ ร่วมด้วยอยู่แล้ว ซึ่งเราจะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้
ต่อไปเราจะมาดูกลุ่มในฝั่งตรงข้ามกันบ้าง กลุ่มที่มีค่า IQ สูงกว่าค่าปกติ คือ กลุ่ม Bright Normal จะสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็ว เข้าใจอะไร ๆ ได้ง่ายกว่าคนในระดับอายุเดียวกัน ที่สูงขึ้นมาอีก คือ กลุ่ม Superior และ Very superior กลุ่ม 2 กลุ่มหลังนี้ฟังดูน่าจะประสบความสำเร็จรวดเร็วกว่าคนอื่นในทุก ๆ ด้าน เนื่องจากความฉลาดที่โดดเด่น แต่บางครั้งจะกลับพบว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาด้านอารมณ์ และพฤติกรรมได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความฉลาดเกินปกติของเขาทำให้คนรอบข้างคาดหวังกับเขามาก และมองข้ามความต้องการด้านอื่น ๆ ของเขาไป
ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถจัดแบ่งคนเป็นกลุ่ม ๆ ดังในตารางนี้ได้อย่างตายตัว เพราะค่า IQ ก็คล้ายกับแถบสีรุ้งที่แต่ละสีจะไม่แบ่งแยกกันโดยเด็ดขาด ความแตกต่างของตัวเลขเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจไม่บ่งชี้ถึงความแตกต่างของเชาว์ปัญญาเท่าใดนัก โดยรายละเอียดของความสามารถในแต่ละด้านมีความสำคัญมากกว่า