เราสามารถลดโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40 โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้
- ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ (physical inactivity)
การศึกษาพบว่าออกกำลังกายชนิดแอโรบิก เช่น เดิน วิ่ง ปั่น จักรยาน หรือว่ายน้ำ 45-60 นาที ต่อครั้ง สามารถลดการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ - การสูบบุหรี่ (smoking)
ไม่ว่าจะเป็นผู้สูบเอง หรืออยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่ล้วนเพิ่มโอกาสสมองเสื่อม การเลิกสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเลิกที่อายุเท่าไหร่ สามารถลดโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมได้ - การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป (excessive alcohol consumption)
แอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อม และทำให้เกิดเร็วขึ้นตั้งแต่อายุน้อยกว่า 65 ปี ปริมาณที่มากเกิน 14 ดื่มมาตรฐาน (standard drink) ต่อสัปดาห์ เช่น เบียร์ สัปดาห์ละ 8 กระป๋อง( 330 ซีซี) หรือไวน์ สัปดาห์ละ 11 แก้ว (แก้ว 100 ซีซี) ทำให้สมองส่วนความจำฝ่อ (hippocampal atrophy) - มลภาวะทางอากาศ (air pollution)
เช่น ฝุ่น PM 2.5 ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ สัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์ การศึกษาพบว่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 1 µg/m³ เพิ่มโอกาสสมองเสื่อมมากขึ้น 1.6 เท่า - อุบัติเหตุต่อสมอง (head injury)
ทำให้เกิดการสะสมโปรตีนชนิด Tau ผิดปกติในบริเวณสมองส่วนความจำ hippocampus การศึกษาพบว่าอุบัติเหตุทางสมอง 1 ครั้ง เพิ่มโอกาสสมองเสื่อม 1.2 เท่า หากเกิดอุบัติเหตุทางสมองมากกว่า 5 ครึ้งขั้นไป เพิ่มความเสี่ยงเป็น 2.8 เท่า - ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (infrequent social contact)
การศึกษาในประเทศญี่ปุ่น พบว่าการมีคู่สมรส ลูกหลาน เพื่อนมาเยี่ยมเยียน การทำงานหรือร่วมกิจกรรมทางสังคม ลดโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมได้ร้อยละ 46 เทียบกับกลุ่มที่มี social isolation - การศึกษาน้อย (less education)
การเรียนหนังสือในวัยเด็กจนถึงอายุ 20 ปี ช่วยลดโอกาสเกิดสมองเสื่อม สำหรับผู้สูงวัยควรมีกิจกรรมฝึกสมอง เช่น เล่นเกมส์ อ่านหนังสือ ฝึกแก้ไขปัญหา รวมถึง การเกษียณอายุช้าลง ช่วยให้สมองเสื่อมช้าลง - น้ำหนักเกิน (obesity)
ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไป ในช่วงอายุ 35-65 ปี เพิ่มความเสี่ยงสมองเสื่อมตอนอายุมากขึ้น 1.3 เท่าเทียบกับคนน้ำหนักปกติ และการลดน้ำหนักช่วยให้สมาธิและความจำดีขึ้น - ความดันสูง (hypertension)
การควบคุมความดันตัวบน (systolic blood pressure) น้อยกว่า 130 มม.ปรอท ตั้งแต่อายุ 40 ปี ช่วยลดการเกิดสมองเสื่อมได้ - โรคเบาหวาน (diabetes)
ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 1.6 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป โดยเฉพาะถ้าเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุน้อย ควรปรับพฤติกรรมเสี่ยงโรคเบาหวาน เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่ายารักษาโรคเบาหวานสามารถลดโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมได้ - โรคซึมเศร้า (depression)
ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีโอกาสสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม SSRI (serotonin reuptake inhibitor) ลดโอกาสสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ - การสูญเสียการได้ยิน (hearing impairment)
เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถรักษาได้แต่อาจถูกละเลย พบว่าการได้ยินลดลง 10 เดซิเบล เพิ่มโอกาสโรคสมองเสื่อม 1.3 เท่า เพราะเสียการกระตุ้นสมอง กระตุ้นความคิด ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การใส่เครื่องช่วยฟัง ช่วยแก้ไขปัญหาการได้ยิน อย่างไรก็ตามอาจต้องใช้ความพยายามในการปรับตัว ทั้งนี้ครอบครัวลูกหลานควรช่วยสนับสนุน ให้กำลังใจ ปรับเปลี่ยนเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสม ตามคำแนะนำแพทย์
ปัจจัยเสี่ยง 12 ข้อหลีกเลี่ยงไม่ยาก เริ่มทำวันนี้ เพื่อวันหน้าเราจะเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรงและช่วยเหลือตนเองได้อย่างดี
แหล่งที่มา คณะบรรณาธิการ วารสาร Lancet ปีพศ. 2563 (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32738937/)