ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่สามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ คนจำนวนดังกล่าวก็จะดำเนินเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End-Stage Renal Disease: ESRD) ที่จำเป็นต้องเข้ารับการฟอกไตกับปลูกถ่ายไตในสถาบันโรคไตต่าง ๆ ซึ่งมีขั้นตอนซับซ้อนและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
บทความนี้จึงได้รวบรวม 5 วิธีป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตเบื้องต้น เพื่อให้คนทั่วไปที่อยากห่างไกลโรค เกิดความเสื่อมของไตได้ช้าที่สุด แต่จะทํายังไงให้ค่าไตลดหรือวิธีดูแลไตให้แข็งแรงต้องทำอย่างไรบ้าง สามารถอ่านได้ที่นี่!
Key Takeaways
- วิธีการดูแลป้องกันให้ไตให้เสื่อมช้าลง เริ่มต้นได้จากการทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อช่วยในการขับสารพิษ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดต้านอักเสบมากเกินความจำเป็น และควบคุมอาการของโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต เก๊าต์ ให้เป็นปกติ
สารบัญบทความ
- โรคไตเกิดจากสาเหตุอะไร?
- สัญญาณโรคไต อาการแบบไหนที่ควรระวัง?
- 5 วิธีรักษาโรคไตเบื้องต้น ลดความเสี่ยงไตทรุดตัวเร็ว
- วิธีรักษาโรคไตเบื้องต้น เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับยืดเวลาก่อนเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีรักษาโรคไตเบื้องต้น
โรคไตเกิดจากสาเหตุอะไร?
ก่อนรู้จักวิธีการป้องกันโรคไตเบื้องต้น ต้องรู้ก่อนว่าโรคไตมีสาเหตุมาจากอะไร? โดยโรคไตสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคถุงน้ำในไตชนิดพันธุกรรมเด่น (ADPKD) รวมถึงปัจจัยจากการเป็นโรคอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อไต อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะทางเดินปัสสาวะอุดกั้น โรคหลอดเลือดฝอยไตอักเสบ (Glomerulonephritis) โรคเก๊าต์ หรือโรคนิ่วในไต เป็นต้น
นอกจากนี้ การกินยาแก้ปวดชนิด NSAIDs ต่อเนื่องยาวนานหรือการทานยาสมุนไพรบางชนิด ยังทำให้ไตทำงานหนัก จนเกิดโรคไตเรื้อรังได้ จึงควรระมัดระวังในการกินยาหรือสมุนไพรให้มากขึ้น หากไม่อยากให้โรคไตทรุดตัวเร็ว
สัญญาณโรคไต อาการแบบไหนที่ควรระวัง?

ผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มต้นอาจไม่แสดงอาการ หลายคนจึงมักไม่รู้ตัวว่าเป็น แต่เมื่อการทำงานของไตถดถอยไปเรื่อย ๆ ผู้ป่วยอาจสังเกตอาการได้มากขึ้น เช่น ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ โลหิตจาง เกิดความดันโลหิตสูง หน้าบวม ขาบวม เมื่อกดที่หน้าแข้งจะขึ้นเป็นรอยบุ๋มชัดเจน นอกจากนี้อาจมีอาการคันตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหารร่วมด้วย
หากไม่ต้องการให้โรคดำเนินไปถึงระยะรุนแรง ควรตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อคัดกรองโรค และเรียนรู้วิธีป้องกันโรคไตเบื้องต้นที่ถูกต้อง เพื่อชะลอการเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้ได้นานที่สุด
5 วิธีป้องกันโรคไตเบื้องต้น ลดความเสี่ยงไตทรุดตัวเร็ว

วิธีป้องกันโรคไตเบื้องต้น เพื่อชะลอการทำงานของไต ไม่ให้ทรุดตัวไวเกินกำหนด ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยสามารถทำได้ดังนี้
1. ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด
วิธีการป้องกันโรคไตและชะลอความเสื่อมของไต ต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด อ่านฉลากโภชนาการก่อนทานเสมอ อาหารของคนโรคไตควรจัดให้มีสารอาหารครบถ้วน ลดหวาน มัน เค็มลง โดยใน 1 วันควรกินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา และน้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา
สำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 3-5 ควรจำกัดปริมาณโปรตีนในแต่ละวัน โดยผู้ป่วยควรทานโปรตีนไม่เกิน 0.8-1.0 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. ส่วนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไต ควรทานโปรตีนที่ 1.2-1.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. และดื่มน้ำปริมาณตามคำแนะนำแพทย์
ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป ของหมักดองรวมถึงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น นม เครื่องในสัตว์ เมล็ดถั่ว น้ำอัดลม ชา กาแฟ เนื่องจากจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
2. รักษาสุขภาพ ควบคุมอาการโรคร่วมให้เป็นปกติ
โรคไตเรื้อรัง อาจเป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวานลงไต ความดันโลหิตสูง โรคเก๊าต์ หรือโรคกรวยไตอักเสบ เพื่อดูแลไตให้เสื่อมสภาพช้าลง ควรเข้ารับการรักษาและคอยควบคุมอาการโรคร่วมอื่น ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ อาทิ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ 70-110 mg/dL การรักษาความดันโลหิตให้มีค่าประมาณไม่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท หรือการทานยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วยโรคกรวยไตอักเสบ เป็นต้น
3. ออกกำลังกาย เสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง
วิธีป้องกันไตเสื่อม เสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย โดยเน้นออกกำลังกายระดับปานกลาง ที่ไม่สร้างความเหนื่อยล้ามากจนเกินไป เพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ทั้งยังช่วยควบคุมความดันโลหิต และลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นเหตุให้ไตเสื่อมช้าลง
4. ระมัดระวังในการใช้ยามากขึ้น
ผู้ป่วยควรใช้ยาทุกชนิดอย่างระมัดระวัง เลือกใช้ยาตามข้อบ่งชี้ และปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น โดยยาที่ผู้ป่วยไตบกพร่องควรระวัง ได้แก่ ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Piroxicam เป็นต้น เพราะการใช้ยานี้ต่อเนื่องยาวนานจะทำให้การไหลเวียนเลือดในไตผิดปกติ จนเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาหม้อ ยาลูกกลอนไร้ชื่อที่ผลิตขายทั่วไปในท้องตลาด เพราะอาจมีโลหะหนักกับสารสเตียรอยด์ปนอยู่มาก เมื่อสะสมเป็นเวลานาน จะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อไตให้ได้รับความเสียหาย ก่อเกิดเป็นโรคไตเรื้อรังในท้ายที่สุด
5. งดสูบบุหรี่ถาวร
การงดสูบบุหรี่ เป็นวิธีป้องกันการเกิดโรคไตเบื้องต้นที่มีความสำคัญ เนื่องจากบุหรี่เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะไตวายเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 60% โดยผลเสียจากการสูบบุหรี่ คือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หากผู้สูบเป็นโรคความดันโลหิตอยู่แล้ว จะเร่งให้เกิดภาวะ Hypertensive Nephrosclerosis หรือภาวะไตเสื่อมจากความดันโลหิตสูง สำหรับคนที่เป็นเบาหวานก็อาจจะก่อให้เกิดความเสื่อมของไตเร็วกว่าปกติได้
อีกทั้งบุหรี่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโปรตีนรั่วในน้ำปัสสาวะมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่ไตชนิด Renal cell carcinoma และ Transitional cell carcinoma ฉะนั้น การเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยโรคไตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ไตเสื่อมช้าลง
วิธีป้องกันโรคไตเบื้องต้น เคล็ด(ไม่)ลับ ยืดเวลาก่อนเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
โรคไต เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลายด้าน ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลรักษา จึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพ หมั่นเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีสม่ำเสมอ เพราะหากสามารถตรวจพบโรคได้เร็ว ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้อง ได้เรียนรู้วิธีรักษาโรคไตเบื้องต้น เพื่อนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองให้เหมาะสมมากขึ้นตั้งแต่เนิ่น ๆ
จะช่วยป้องกันไม่ให้ไตเกิดความเสียหายหนักจนเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง หรือสามารถชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าลง ยืดเวลาก่อนเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต หรือต้องเข้ารับการฟอกไตไปตลอดชีวิตได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีรักษาโรคไตเบื้องต้น
1. ไตฟื้นฟูตัวเองได้ไหม?
โรคไตวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเนื้อเยื่อไตได้รับความเสียหายเป็นเวลานานจนเกิดพังผืดขึ้น การปฏิบัติตามวิธีป้องกันรักษาโรคไตเบื้องต้นจึงเป็นเพียงการชะลอความเสื่อมเท่านั้น เมื่อโรคดำเนินสู่ระยะสุดท้าย จะต้องรักษาด้วยการฟอกไตตลอดชีวิต แต่กรณีไตวายเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม อาจสามารถหายขาดและฟื้นฟูไตให้กลับมาเป็นปกติได้
2. กินเค็มเสี่ยงเป็นโรคไตจริงไหม?
รสเค็มทำให้เสี่ยงเป็นโรคไตจริง แต่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะต้นตอที่แท้จริง คือ โซเดียมซึ่งแฝงอยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น เครื่องปรุงรส น้ำจิ้ม ขนมขบเคี้ยว อาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป ผงชูรส เมื่อบริโภคโซเดียมมากเกิน จะทำให้ไตทำงานหนัก และมีโซเดียมสะสมในเลือดสูง เป็นเหตุให้ไตเสื่อม วิธีป้องกันโรคไตเบื้องต้น จึงต้องจำกัดโซเดียมให้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
References
Chronic Kidney Disease (CKD). (2023, September 11). National Kidney Foundation. https://www.kidney.org/kidney-topics/chronic-kidney-disease-ckd
7 Golden Rules of Kidney Disease Prevention. (n.d.). National Kidney Foundation. https://www.kidney.org/7-golden-rules-kidney-disease-prevention
Preventing Chronic Kidney Disease. (2016). National Institutes of Health. https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/chronic-kidney-disease-ckd/prevention