ช่วงนี้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กลับมาสูงเกินมาตรฐานอีกครั้งหนึ่งแล้วค่ะ เรามาทบทวนความรู้เรื่องนี้ เพื่อความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพกันดีกว่านะคะ
PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทาง United state Environmental Protection Agency ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดตามขนาดของฝุ่นเป็นหน่วยไมครอน ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 โคยฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็กเพียงแค่ 1 ใน 25 ของขนาดเส้นผม และมีน้ำหนักเบามาก แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 ได้แก่ ควันเสียจากการเผาไหม้ของรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ควันไฟจากการเผาไร่นาและสิ่งปฏิกูลของภาคการเกษตร และจากโรงงานอุตสาหกรรม
PM 2.5 ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายใน ระบบทางเดินหายใจ คือ ทําให้เกิดโรคใน ระบบทางเดินหายใจ โดยหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะสะสมในปอด ทําให้สมรรถภาพการทํางานของปอดลดลง หากเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรังในระบบการหายใจ เช่น โรคหืด ถุงลมโป่งพอง หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ก็อาจจะเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ จึงเกิดอาการคันจมูก จาม แสบจมูก มีน้ำมูกไหล ไอมาผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อยได้
หากสูดหายใจเข้าไปต่อเนื่องในระยะยาวจะส่งผลให้การทำงานของปอดแย่ลง จนอาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย นอกจากนี้ PM 2.5 อาจผ่านผนังถุงลมและเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือด จึงสามารถกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ และอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง PM 2.5 อย่างเคร่งครัดได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืดรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก
สำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพปกติ ระดับของ PM 2.5 ที่ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” ของกรมควบคุมมลพิษ คือ มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากค่ามากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะถือว่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” แต่ระดับของ PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในเด็กจากแถลงการณ์ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย อ้างอิงตามระดับของกรมควบคุมมลพิษ จะต่ำกว่านั้น คือ มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในเด็กปกติ และ มากกว่า 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในเด็กที่มีโรคปอด หอบหืด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ
ข้อควรปฏิบัติ ในช่วงที่มีปัญหา ค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน มีดังนี้
- ควรอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างและเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ
- หากจำเป็นต้องเดินทางออกนอกบ้าน ก็ควรใส่หน้ากากชนิด N95 ชนิดที่สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้โดยต้องสวมให้ถูกต้องอย่างกระชับกับรูปหน้า
- ผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจระบบทางเดินหายใจหรือระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน
- ไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง
- ติดตามค่า PM 2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ เพื่อการเฝ้าระวัง อย่างสม่ำเสมอ