“ตะเตือนไต” คำน่ารัก ๆ ซึ่งล้อเลียนมาจากคำว่า “สะเทือนใจ” ที่วัยรุ่นชอบใช้กัน แต่ดูเหมือนว่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์เริ่มมีปัญหา “สะเทือนไต” กันจริง ๆ เสียแล้ว มีรายงานว่า ในระหว่างปี ค.ศ. 1990 – 2010 อันดับของสาเหตุการเสียชีวิตของคนเนื่องมาจากโรคไตวายเรื้อรังนั้น ค่อย ๆ เขยิบขึ้นมาจากเดิมที่อยู่อันดับที่ 27 จนตอนนี้อยู่ที่อันดับที่ 18 แล้ว และมีแนวโน้มที่จะทำคะแนนสูงขึ้นในอนาคต
โรคไต เป็นคำสั้น ๆ ที่มีความหมายกว้างซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติของไต แต่เมื่อเจาะลึกลงไปถึงลักษณะของความผิดปกติของไตแล้ว จะแบ่งแยกย่อยได้อีกตามลักษณะอาการและจุดที่มีปัญหา อย่างเช่น กรวยไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน เนื้อเยื่อไตอักเสบ และนิ่วในไต เป็นต้น
แต่มักจะมีกลุ่มอาการอยู่ 2 ประเภทที่พบกันมาก ได้แก่ ภาวะไตวายเฉียบพลันและภาวะไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไตวายเรื้อรังนั้น ทางการแพทย์ถือว่าเป็นฆาตรกรเงียบเลยทีเดียว เนื่องจากโรคนี้มักจะไม่แสดงอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อตอนที่ไตเสียหายพอสมควรแล้ว
สารบัญ
- สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เราเป็นโรคไต
- อาการที่ฟ้องว่าเราอาจเป็นโรคไต
- โรคไตวายเรื้อรัง ภัยร้ายล่องหนที่ควรระวัง!
- แนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหนีห่างโรคไต
- แนวทางการรักษาอาการไตวายเรื้อรัง
- สรุป
สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เราเป็นโรคไต
ปราการด่านแรกที่จะทำให้เราปลอดภัยจากโรคไต คือ การรู้จักสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคนี้ เพื่อที่เราจะได้หลีกเลี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ต้นตอมักจะมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา โรคที่เราเป็นอยู่ และกรรมพันธุ์
1. กลุ่มโรค NCDs
หลายคนคงจะคุ้นเคยดีกับกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มาจากความเสื่อมสภาพของร่างกายอันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่ 6 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งต่าง ๆ โรคความดัน และโรคอ้วนลงพุง
กลุ่มโรคเหล่านี้ มักมีคนพูดติดตลกว่า เหมือนเป็นสินค้าขายพ่วงแบบแพ็กเกจ ที่เวลาไปซื้อชิ้นหนึ่งแล้ว มักจะมีสินค้าชิ้นอื่น ๆ แถมพ่วงมาให้ด้วย หรือกล่าวคือ พอได้เป็นโรค ๆ หนึ่งแล้ว ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ พ่วงตามมาด้วยนั่นเอง
สำหรับในประเทศไทยนั้น พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไตกว่า 70% เป็นผลมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง (ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรค NCDs) เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูง จะไปเร่งอัตราการกรองของเสียผ่านไต
ในขณะที่โรคเบาหวาน จะทำให้เซลล์ต่าง ๆ ขาดพลังงานและตาย นอกจากนี้ ยังทำให้มีปริมาณน้ำตาลไหลเวียนในเลือดสูง ทั้งคู่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้น
2. พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม
แม้ว่ากลุ่มโรคทางพฤติกรรมข้างต้น เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรคไต แต่ก็ยังมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของเราด้วย เช่น การดื่มน้ำน้อยเกินไป การกินอาหารรสจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารรสเค็ม เป็นต้น
อย่าคิดว่าไม่กินเค็มแล้วจะไม่เสี่ยง
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสาเหตุของโรคไตอาจมาจากภาวะเจ็บป่วยโรคอื่นอยู่ก่อน แต่ก็ยังมีอีก 1 เรื่องที่คนไทยมักเข้าใจผิดกัน คือ การได้รับปริมาณโซเดียมต่อวันมากเกินไป แต่เข้าใจว่าตัวเองไม่ได้กินเค็ม
โดยทั่วไปแล้ว ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วัน สูงสุดไม่ควรจะเกิน 2,300 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และสภาวะในร่างกาย ซึ่งเทียบได้กับเกลือประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 6 มิลลิกรัม
จะเห็นได้ว่า พิจารณาจากการเทียบเคียงนี้แล้ว เป็นไปได้มากว่าเราน่าจะได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกายเกือบทุกวันเลยทีเดียว
ดังนั้น การกะประมาณด้วยความรู้สึก ว่าตัวเองกินเค็มหรือไม่อย่างไรนั้น อาจเป็นวิธีที่ไม่แม่นยำ ทำให้เราไม่ระมัดระวังในการเลือกกินอาหารมากเท่าที่ควร เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนกินอาหารรสจืดกว่าเพื่อน ๆ
นอกจากนี้ ด้วยความที่คนไทยมักเป็นชาติที่รับประทานอาหารที่มีรสเค็มเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว สังเกตได้จากเมนูอาหารต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แม้ว่าจะสั่ง “เค็มน้อย” ก็ยังเกินเกณฑ์โซเดียมที่ควรได้รับต่อวันอยู่ดี
โดยสรุปแล้ว พวกเราล้วนมีพฤติกรรมการกินที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคไตได้โดยไม่รู้ตัว
ระวัง ยา อาหารเสริม สมุนไพร และสารเคมีที่ได้รับประจำ
เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ อยู่แล้ว ว่าไม่ควรกินยาปริมาณมากหรือกินต่อเนื่องจนเกินไป เพราะจะมีผลต่อตับและไตได้ ปกติแล้ว ข้อแนะนำในการใช้ยามีดังนี้
- หากแพทย์ยังไม่สั่งให้หยุดกินยา ไม่ควรหยุดยาเองเป็นอันขาด เช่น ยารักษาโรคความดัน
- ก่อนซื้อยา ควรสอบถามเภสัชกรหรือผู้จัดจำหน่าย
- หากจำเป็นต้องซื้อกินเอง พยายามหลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์แก้อาการปวดเมื่อย เช่น NSAIDs
ยา NSAIDs (Non-steroidalanti-inflammatory drugs) หรือที่เรียกว่า ยาเอ็นเสด เช่น ไอบิวพรอเฟน (ibuprofen) นาโปรเซน (naproxen) และ แอสไพริน (aspirin) ยาพวกนี้ไม่ควรกินบ่อย ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ซึ่งมักเป็นยาที่ใช้ในการลดไข้ คลายเส้น แก้ปวดเมื่อย เป็นยาที่นิยมใช้กันมาก ยาชนิดนี้ จะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงไตลดลง
นอกจากนี้ ตัวยาจะทำให้เนื้อไตเสียหายได้ด้วย โดยปกติแล้ว ไตจะฟื้นสภาพได้เองเมื่อหยุดใช้ยา แต่ถ้ามีการใช้ยาประเภทนี้ไปนาน ๆ อาจส่งผลให้ไตไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาดีเหมือนเดิมได้อีก
สมุนไพรและอาหารเสริม หากกินไม่ถูกวิธี ก็ทำร้ายไตได้ นอกจากประเด็นของส่วนผสมและสารออกฤทธิ์ที่อยู่ในตัวสมุนไพรหรืออาหารเสริมแล้ว ปริมาณการกินที่มาก และความต่อเนื่องในการกินที่ยาวนาน เช่น มากกว่า 3 เดือน ก็สามารถส่งผลเสียต่อไตได้เช่นเดียวกัน
จึงไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรสามารถรักษาโรคได้ ไม่แนะนำให้ซื้อมาใช้เอง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสมุนไพร
3. โรคอื่น ๆ
นอกจากพฤติกรรมและกลุ่มโรคเสื่อมอย่าง NCDs แล้ว โรคไตยังอาจมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยหรือการติดโรคชนิดอื่น ๆ เช่น ร่างกายสร้างภูมิต้านทานที่ผิดปกติไปทำลายไต ไตมีการอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นนิ่วอุดตัน และโรคเก๊าท์ เป็นต้น
อาการที่ฟ้องว่าเราอาจเป็นโรคไต
เมื่อรู้ถึงสาเหตุและวิธีป้องกันโรคไตกันไปบ้างแล้ว ต่อไปคือการสังเกตอาการเบื้องต้น ที่อาจแสดงให้เห็นว่าไตของเรากำลังมีปัญหา เพราะเมื่อไตทำงานได้ไม่ปกติ ร่างกายขับของเสียได้ไม่มีประสิทธิภาพ โดยทั่วไป มักจะแสดงออกมาในลักษณะอาการต่าง ๆ ที่พอสังเกตได้ ดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะออกลดลง
- อ่อนเพลีย อ่อนแรง
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- มีอาการบวม นอนราบแล้วเหนื่อย จากการขับน้ำออกน้อย
- มีภาวะซีด
- คันตามตัว
- ชาปลายมือเท้า
- มีอาการซึม
- เกิดภาวะชัก
หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบโดยละเอียดต่อไป
อ่านรายละเอียด อาการโรคไตเพิ่มเติมได้ที่นี่
โรคไตวายเรื้อรัง ภัยร้ายล่องหนที่ควรระวัง!
โรคไตแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคไตชนิดเฉียบพลันและโรคไตชนิดเรื้อรัง ที่จริงแล้ว เราไม่ควรประมาทโรคไตทุกชนิดเลย เนื่องจากมีอันตรายพอ ๆ กัน แต่บทความนี้ จะขอพูดถึงโรคไตวายเรื้อรังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่มีความน่ากลัว 2 ประการ ดังนี้
1. ในช่วงเริ่มต้นจะไม่แสดงอาการ และเริ่มมีอาการเมื่อไตเสียหายไปแล้ว
แม้ว่าเราอาจจะเรียนรู้อาการที่คนเป็นโรคไตมักจะเป็นมาบ้างแล้ว แต่จะเป็นอย่างไร? หากว่าอาการที่กล่าวมานี้ ไม่ได้แสดงออกมาในระยะเริ่มต้นของอาการไตวายเรื้อรัง
เมื่ออาการไตวายเริ่มปรากฏให้เห็น ระดับการทำงานของไตมักจะลดเหลือเพียง 25% ของปกติ และจะแสดงอาการชัดเจนทุกราย เมื่อ ไตเสื่อมลงเหลือต่ำกว่า 10%
อาการที่พบในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
ผู้ป่วยที่ไตมีระดับการทำงานที่ต่ำลงมาก จะเริ่มมีอาการแสดงออกมาให้เห็นบ้าง โดยมักจะเป็นอาการบวมน้ำ บวมรอบดวงตา ขา กดบุ๋มสองข้าง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะแดงเป็นเลือด หรือมีฟองปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปวดบั้นเอว ซึ่งเกิดจากไตไม่สามารถกำจัดของเหลวและเกลือส่วนเกินได้
ในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซีด โลหิตจาง มีจ้ำตามตัว หรือรู้สึกคันตามตัว อาเจียนเป็นเลือด หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด ถ้าของเสียค้างในสมองมาก ๆ อาจมีอาการชักหรือสมองหยุดทำงาน บางรายอาจเป็นหมันและหมดสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วย
ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อเริ่มอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
โรคไตเรื้อรังสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่มีโอกาสสูงที่จะเกิดง่ายในผู้มีปัจจัยเสี่ยง หากพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มที่เสี่ยง ได้แก่
- มีน้ำหนักเกิน หรือ อ้วน
- มีโรคประจำตัว หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคในกลุ่ม NCDs
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไตวายเรื้อรัง และเบาหวาน
- สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ควรเข้ารับการตรวจร่างกายโดยละเอียดเป็นประจำตามข้อแนะนำของแพทย์ เช่น ตรวจค่าการทำงานของไตจากเลือด (Creatinine) เป็นต้น นอกจากนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่หากมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป (ช่วงอายุที่ไตมีโอกาสเสื่อมลง) ก็ควรไปตรวจร่างกายเป็นประจำ เพราะหากรอให้มีอาการก่อนถึงค่อยไป เราก็มักจะไม่ได้ไปตรวจหาค่าเหล่านี้กันเป็นประจำอยู่แล้ว ยกเว้นแต่เพียงว่าเรากำลังรักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ อยู่
2. กระทบคุณภาพชีวิตรอบด้าน โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย
โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก เพราะเมื่อเป็นแล้ว ไตจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ทำให้ต้องได้รับการรักษา เช่น ฟอกเลือด หรือเปลี่ยนไต แล้วยังต้องระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายการรักษาที่สูงมาก โดยเฉพาะในระยะสุดท้าย
ดังนั้น แม้ว่าโรคไตวายเรื้อรังจะฟังดูน่ากลัว แต่การเข้าใจถึงสาเหตุของโรค และเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองจากโรคนี้อย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงที่เราจะเป็นโรคไตประเภทอื่น ๆ ที่มาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเราด้วย
แนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหนีห่างโรคไต
ดังที่ได้กล่าวถึงสาเหตุของการเป็นโรคไตไว้เบื้องต้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม โรคไตมักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ซึ่งเป็นจุดที่เราสามารถควบคุมและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้
อย่างแรกที่เราควรทำคือการลดอาหารรสจัด อาหารรสหวาน และอาหารรสเค็ม ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงการคิดเอาเองว่าตัวเองไม่ได้กินเค็ม แต่เป็นการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่เราบริโภคเป็นประจำ ควรตั้งเป้าหมายที่จะลดการกินอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง
ขอแนะนำให้เข้าไปศึกษา ปริมาณโซเดียมของอาหารประเภทต่าง ๆ ได้ที่นี่
ถัดมา คือ การลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ด้วยการเลือกเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารไขมันสูง ลดอาหารจำพวกแป้ง โดยเฉพาะข้าว ให้เลือกกินข้าวที่ยังไม่ผ่านการขัดสีมากนัก เน้นกินผักผลไม้ และควบคุมน้ำหนัก และแน่นอนว่า ควรลดสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากเป็นไปได้ ควรเข้ารับการตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเลือด
นอกจากนี้ การดื่มน้ำให้เพียงพอ (ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป) การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่าเครียด หรือหากมีอาการเครียดเรื้อรังอย่าปล่อยไว้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ ก็เป็นข้อแนะนำยอดนิยมที่ได้ผลดีและไม่ควรมองข้าม
แนวทางการรักษาอาการไตวายเรื้อรัง
หากเป็นโรคไตวายเรื้อรังในระยะแรก แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาและการคุมด้วยอาหารร่วมด้วย เพื่อประคับประคองไม่ให้ไตเสียหาย แต่หากโรคลุกลามจนไตอยู่ในสภาวะที่ทำงานไม่ได้แล้ว จะมีแนวทางการรักษาอยู่ 3 วิธี ได้แก่
การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา
การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (Peritoneal Dialysis) แพทย์จะใช้ท่อพลาสติกขนาดเล็กเข้าไปในช่องท้องผู้ป่วย เพื่อล้างช่องท้อง โดยจะทำวันละประมาณ 4 – 6 ครั้ง
เมื่อให้น้ำยาแล้ว ของเสียต่าง ๆ ในกระแสเลือดจะซึมผ่านผนังหน้าท้องด้านในเข้าสู่น้ำยาล้างช่องท้อง ซึ่งแต่ละครั้งจะใช้ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมงตามความสะดวกของผู้ป่วย ก่อนปล่อยน้ำเสียทิ้งไป
วิธีนี้มีข้อดีคือ ทำเองที่บ้านได้ ไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาลบ่อย ๆ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ต้องพยายามรักษาความสะอาดให้ดี ๆ เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อในช่องท้องได้
การใช้เครื่องฟอกเลือดหรือไตเทียม
เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้แล้ว จึงต้องใช้เครื่องมือที่ทำหน้าที่ฟอกเลือดแทนไต วิธีดังกล่าวมีหลักการคือ การนำเลือดของผู้ป่วยให้ไหลผ่านระบบกรองในไตเทียม เพื่อกรองของเสียออกจากเลือด โดยต้องทำอาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 3 – 5 ชั่วโมง
ข้อดีของวิธีการนี้คือ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาค่อนข้างเร็ว และไม่ต้องมีท่อหรือสายคาอยู่ที่ท้องเหมือนวิธีการแรก แต่ก็มีข้อจำกัดคือ ต้องมาทำที่โรงพยาบาลเป็นประจำ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สะดวกเท่าไรนักเมื่อเทียบกับวิธีแรก
การผ่าตัดเปลี่ยนไต
ทำได้โดยการนำเอาไตข้างหนึ่งจากผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือผู้ป่วยที่
ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองตาย (brain death) แล้วนำไปใส่ให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรค
ไตวายระยะสุดท้าย โดยทั่วไปมักจะใช้ไตจากญาติพี่น้องหรือพ่อแม่ลูกที่ร่วมสายเลือดเดียวกัน ยกเว้นในกรณีจำเป็นที่ต้องเป็นคนอื่นนอกเหนือจากนี้ จะต้องมีการตรวจสอบ
ความเข้ากันได้ของร่างกายโดยละเอียด
แนวทางดังกล่าวค่อนข้างได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ช่วยให้ขั้นตอนนี้ทำได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ การบริจาคไต 1 ข้างให้กับญาติ ๆ ไม่ได้มีผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริจาคแต่อย่างใดอีกด้วย
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม การผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ที่นี่
สรุป
ส่วนมากแล้ว โรคไตเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ยิ่งเรารู้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบัน เทคโนโลยีและแนวทางการรักษาโรคนี้ กำลังพัฒนาและมีแนวทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผ่าตัดเปลี่ยนไต ที่เป็นแนวทางการรักษาที่ได้รับการยอมรับ และมีประสิทธิภาพดี
เนื่องในวันไตโลก (World kidney) ปี 2564 นี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้ความรู้และกระตุ้นให้ผู้อ่านทุกท่านเห็นถึงความสำคัญของโรคไต เพราะถึงแม้ว่าแนวทางรักษากำลังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง
แต่หนทางป้องกันโรคไตที่มีต้นทุนต่ำและยังมีประสิทธิภาพที่สุด กลับเป็นเรื่องของการมีความรู้ความเข้าใจในโรคนี้ แล้วรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตตั้งแต่เนิ่น ๆ นั่นเอง