ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายเพราะมีหน้าที่กำจัดน้ำส่วนเกินและของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นหากเกิดภาวะไตวายเรื้อรังจะส่งผลให้เกิดการคั่งค้างของของเสียในร่างกาย ซึ่งภาวะดังกล่าวควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่นๆ ตามมาได้
ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการฟอกเลือดทางช่องท้องเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการรักษาภาวะไตวายที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดจะเป็นการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตโดยมีอัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิตสูงถึง 95 – 98% และจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายสูงถึง 85 – 90% และหลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
สารบัญ
- หน้าที่และความสำคัญของไต
- อาการของโรคไตวายเรื้อรัง
- ทางเลือกเพื่อการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
- การปลูกถ่ายไตคืออะไร?
- ตัวเลือกการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- ข้อดี-ข้อเสียของการปลูกถ่ายไต
- คุณสมบัติของผู้ที่รับการปลูกถ่ายไต
- ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายมาจากไหนได้บ้าง
- การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไต
- การปฏิบัติตัวของผู้รับบริจาคไตในช่วงการผ่าตัด
- การปฏิบัติตัวของผู้รับบริจาคไตหลังการผ่าตัด
- อาหารและโภชนาการหลังการปลูกถ่ายไต
- การใช้ชีวิตประจำวันหลังการปลูกถ่ายไต
- ผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้วอยู่ได้กี่ปี
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ
- การปลูกถ่ายไตของ รพ.พระรามเก้า
- สรุป
หน้าที่และความสำคัญของไต
ไตเป็นอวัยวะในช่องท้องทางด้านหลังอยู่ระดับเดียวกับบั้นเอว มีรูปร่างคล้ายถั่ว ไตมีสองข้าง แต่ละข้างมีขนาดประมาณหนึ่งกำมือ หน้าที่หลักของไต คือ ขับน้ำส่วนเกินและของเสียที่เกิดจากการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ออกนอกร่างกายผ่านทางปัสสาวะ นอกจากหน้าที่ขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายแล้วไตยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีก คือ
- ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- ควบคุมความเป็นกรดด่างในร่างกาย
- ควบคุมความดัน
- ควบคุมการสร้างวิตามินดี ช่วยรักษาสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัส และการสร้างกระดูก
- ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
- ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น renin-angiotensin-aldosterone system และ prostaglandin ที่มีผลต่อการควบคุมความดันเลือด และกระบวนการอักเสบของร่างกาย
อาการของโรคไตวายเรื้อรัง
ภาวะไตวาย หมายถึง ภาวะที่มีการทำงานของไตเสียไป ทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำและของเสียภายในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในหลายระบบ ถือเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะของเสียคั่งในร่างกาย โดยไตวายมีอาการดังต่อไปนี้
- บวม ความดันเลือดสูง
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
- ปวดกระดูก กระดูกเปราะ และหักง่าย
- เป็นหมัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา เกร็ง ชัก
- คันตามตัว มีภาวะเลือดจาง ผิวหนังหยาบคล้ำ มีจ้ำเลือดตามตัว
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
- หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบเหนื่อย มีภาวะน้ำท่วมปอดได้
- หากรุนแรงอาจถึงขั้นสมองหยุดทำงาน โคม่า เสียชีวิต
- ในเด็กจะหยุดการเจริญเติบโต แคระเกร็น
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการของโรคไต
ทางเลือกเพื่อการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง 3 วิธี
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)
เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยที่มีของเสียคั่งค้างผ่านเข้าไปในเครื่องไตเทียม เพื่อกรองของเสียออกแล้วนำเลือดที่ถูกกรองทำความสะอาดแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอีกครั้ง
2. การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (continuous ambulatory peritoneal dialysis; CAPD)
เป็นการใช้น้ำยาชะล้างของเสียออกจากร่างกายผู้ป่วย โดยใส่เข้าไปทางช่องท้อง และทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะระบายน้ำยาออก ของเสียในเลือดก็จะถูกชะล้างออกไปพร้อมกับน้ำยา วิธีนี้ผู้ป่วยต้องทำการล้างช่องท้องเป็นประจำทุกวันซึ่งอาจทำในช่วงเวลากลางคืน
3.การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (kidney transplantation)
การปลูกถ่ายไตเป็นการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังที่ให้ผลดีที่สุด โดยจะเป็นการผ่าตัดนำไตที่ยังทำงานได้ดีจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้ที่มีภาวะสมองตายมาทดแทนไตของผู้รับบริจาคที่สูญเสียการทำงานไป ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะสามารถมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
การปลูกถ่ายไต คืออะไร?
การปลูกถ่ายไต (kidney transplantation) คือ การผ่าตัดเปลี่ยนไต โดยนำไตจากผู้บริจาคไต (donor) ซึ่งอาจเป็นไตจากผู้บริจาคมีชีวิตที่เป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติสายตรงร่วมสายเลือด หรือไตที่ได้รับบริจาคจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังต้องขึ้นทะเบียนกับสภากาชาดไทยเพื่อขอรับบริจาคไต
ตัวเลือกการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (living-related kidney transplant)
เป็นการปลูกถ่ายไตโดยไตที่นำมาปลูกถ่ายมาจากญาติ ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง ลูก หลาน ลุง ป้า น้า อา หรือบางกรณี จากสามี ภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยผู้บริจาคจะบริจาคไต 1 ข้าง ซึ่งการที่ผู้บริจาคมีไตเหลือเพียง 1 ข้างจะยังสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติ
การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย (decreased donor kidney transplant)
เป็นการปลูกถ่ายไตโดยไตที่นำมาปลูกถ่ายจะมาจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายจากการประสบอุบัติเหตุ หรือสาเหตุอื่น ๆ ในกรณีที่ญาติพี่น้องไม่สามารถบริจาคไตให้ได้ ซึ่งในประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะของสภากาชาดไทยจะเป็นผู้รับบริจาคและจัดสรรไตให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
ข้อดี-ข้อเสียของการปลูกถ่ายไต
การปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังที่ให้ผลดีที่สุด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดบางประการซึ่งต้องมีการวางแผนการรักษาร่วมกันระหว่างทีมแพทย์และตัวผู้ป่วยเพื่อให้การรักษานี้เกิดประโยชน์สูงสุดและปลอดภัยที่สุดกับตัวผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง
ข้อดี
- ถ้าไตที่นำมาปลูกถ่ายทำงานดีจะสามารถทดแทนไตเดิมได้เกือบ 100%
- คุณภาพชีวิตเกือบเหมือนคนปกติ
- ไม่ต้องควบคุมอาหารและน้ำอย่างเข้มงวดเหมือนการรักษาวิธีอื่น ๆ
- สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น สามารถมีบุตรได้
ข้อเสีย
- เป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้นจึงอาจมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดได้
- ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
- เสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ติดเชื้อง่าย เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันสูง
- เสี่ยงต่อภาวะร่างกายปฏิเสธไตที่ปลูกไต (rejection)
- ต้องมีผู้บริจาคไต
- ต้องมีการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการปลูกถ่ายไต
คุณสมบัติของผู้รับการปลูกถ่ายไต (recipient)
- เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 15%
- กรณีที่รอรับไตจากผู้ป่วยสมองตาย จะต้องได้รับการรักษาโรคไตวายด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตทางช่องท้องด้วยน้ำยามาแล้ว
- ไม่มีภาวะติดเชื้อ
- ไม่เป็นผู้ที่ติดเชื้อ HIV
- ไม่เป็นโรคตับแข็งชนิดที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไตได้
- ไม่เป็นโรคมะเร็งหรือ หากเคยเป็นโรคมะเร็งต้องได้รับการรักษาให้หายขาดมาแล้วอย่างน้อย 2 – 5 ปี แล้วแต่ชนิดของมะเร็ง
- ไม่มีภาวะเสี่ยงสูงสำหรับการผ่าตัด เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว เป็นต้น
- ไม่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- ไม่มีภาวะจิตใจผิดปกติ
- ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด
- กรณีอื่น ๆ อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายมาจากไหนได้บ้าง
ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายได้ต้องเป็นไตที่ได้มาจากญาติ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายเท่านั้น สำหรับประเทศไทยมีกฏหมายและกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไตที่ชัดเจนและเคร่งครัดเพื่อไม่ให้มีการซื้อขายไตเกิดขึ้น แพทย์และผู้ป่วยที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างเข้มงวด
ไตจากผู้บริจาคมีชีวิต
- ผู้บริจาคต้องเป็นเครือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม ได้แก่
- บิดามารดา บุตรหรือธิดาตามธรรมชาติ พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน ที่สามารถพิสูจน์ได้ทางกฏหมายหรือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น HLA และ/หรือ DNA จากบิดามารดา
- ลุง ป้า น้า อา หลานที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเดียวกันหรือครึ่งหนึ่ง ลูกพี่ลูกน้องในลำดับแรก หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมครึ่งหนึ่ง เช่น พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ในกรณีนี้จะต้องพิสูจน์ว่า ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคมี HLA และ/หรือ DNA ที่มีความสัมพันธ์กัน
- ผู้บริจาคต้องเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรืออยู่กินฉันสามีภรรยาโดยเปิดเผยกับผู้รับบริจาคมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี กรณีที่มีบุตรร่วมกันโดยสายเลือดไม่ต้องใช้ระยะเวลา 3 ปี หากมีปัญหาในการพิสูจน์บุตรร่วมกันให้ใช้ DNA เป็นเครื่องพิสูจน์
- กรณีชาวต่างประเทศต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- เอกสารยืนยันการเป็นเครือญาติหรือสามีภรรยา ต้องได้รับการรับรองจากสถานฑูตหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ของประเทศผู้มาร้องขอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ และได้รับการรับรองด้านความถูกต้องของผู้ออกเอกสารจากกรมกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
- ต้องมีการพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยวิธี HLA และ DNA หรือวิธีอื่น ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ ที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกันจากสถาบันทางการแพทย์ของรัฐในประเทศไทย
ไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย
- คุณสมบัติของผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย: ผู้บริจาคจะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองตายตามกฏหมายข้อบังคับแพทยสภา และตามหลักเกณฑ์ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยเป็นผู้คัดสรรผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รอรับบริจาคโดยใช้หลักการจัดสรรทางการแพทย์ทั้งนี้มีเกณฑ์การจัดสรรไตให้กับผู้รอรับบริจาคโดยผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังสามารถขึ้นบัญชีรับบริจาคไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยได้ โดยการจัดสรรไตจะจัดเรียงตามชนิดของหมู่เลือดและความเหมือนของเนื้อเยื่อ เมื่อได้รับบริจาคไตมาแล้ว ผู้ป่วยที่มีหมู่เลือดเข้ากับผู้บริจาคทั้งหมดจะถูกทดสอบความเข้ากันได้ของยีน รายชื่อผู้ป่วยทั้งหมดจะถูกนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการให้คะแนนให้แน่ใจว่าได้ผู้ป่วยที่เหมาะสมที่สุดในการเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการรอขึ้นบัญชีรับบริจาคด้วย ซึ่งคณะกรรมการจะมีการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ โปร่งใส และยุติธรรม
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไต
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งตัวผู้ป่วยที่จะได้รับการปลูกถ่ายไตและหากไตได้รับบริจาคจากญาติพี่น้อง ผู้บริจาคไตก็จะต้องมีการเตรียมตัวด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้บริจาคไตต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติว่าสามารถบริจาคไตได้ รวมไปถึงต้องมีการทดสอบสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ ความเข้ากันของหมู่เลือด และจะมีการอธิบายรายละเอียดจากแพทย์และทีมงานเพื่อให้ผู้บริจาคไตมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านก่อนการผ่าตัด
หากผู้รับบริจาคไตรอรับไตจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายที่ได้รับการจัดสรรโดยสภากาชาดไทย ผู้ที่ขอรับบริจาคไตต้องดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และปฏิบัติตนตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ตลอดเวลาหากมีไตที่เหมาะสมที่สามารถปลูกถ่ายได้
และ รพ. พระรามเก้า มีนโยบายในการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ที่เคยบริจาคไตมาแล้ว และผู้รับการปลูกถ่ายไตเพื่อให้เกิดความมั่นใจและคลายความกังวล รวมถึงเข้าใจกระบวนการปลูกถ่ายไต
การปฏิบัติตัวของผู้รับและผู้บริจาคไตในช่วงการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
สำหรับผู้บริจาคไต
- เข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำไตออก
- พักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดประมาณ 5 – 7 วัน
- กลับไปพักฟื้นที่บ้านและกลับมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจไตหลังการบริจาคตามแพทย์นัด
สำหรับผู้รับบริจาคไตจากญาติหรือสามี-ภรรยา
- เข้ามาพักในโรงพยาบาลก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนไตอย่างน้อย 1 วัน
- ตรวจร่างกายและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
สำหรับผู้รับบริจาคไตจากผู้ป่วยสมองตาย
หลังได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลว่ามีสิทธิ์การเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังนี้
- งดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม
- อาบน้ำ สระผม แล้วเดินทางไปโรงพยาบาลทันที
- เข้ารับการตรวจร่างกายและจิตใจเพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
การปฏิบัติตัวของผู้รับบริจาคไตหลังการปลูกถ่ายไต
ขณะอยู่โรงพยาบาล
หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดโดยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีการให้การดูแลและรักษาดังนี้
- ดูแลเรื่องความเจ็บปวดจากการผ่าตัด
- การฟื้นฟูร่างกายโดยกระตุ้นให้ออกกำลังกายหลังการผ่าตัดในสัปดาห์แรก
- แพทย์จะตรวจสอบการทำงานของไตใหม่เป็นระยะ ๆ หลังการผ่าตัด
- ปรับสภาพจิตใจและการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังการผ่าตัดโดยทีมจิตแพทย์
- ติดตามภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น ภาวะปฏิเสธไต การติดเชื้อ เป็นต้น
เมื่อออกจากโรงพยาบาล
- รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
- มาพบแพทย์ตามนัดหลังการปลูกถ่ายไตอย่างสม่ำเสมอ
- ดูแลสุขภาพ และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ อยู่ให้ห่างจากผู้ป่วยหวัดหรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ เป็นต้น
อาหารและโภชนาการหลังการปลูกถ่ายไต
ผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไต ควรเลือกอาหารให้เหมาะสม ดังนี้
- อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
- รับประทานข้าว แป้ง และน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม
- ควรเลือกชนิดคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนม เป็นต้น
- เลือกอาหารที่มีค่าการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่ำ (glycemic index < 55) เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ ข้าวบาร์เล่ย์ เป็นต้น
- อาหารกลุ่มไขมัน
- บริโภคเนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว เป็นต้น
- เลี่ยงอาหารทอด เบเกอรี่ และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- งด/เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดบริโภคอาหารมื้อดึก
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาเพื่อให้ระบบเผาผลาญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- อาหารกลุ่มโปรตีน
- ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพ เช่น นม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว เป็นต้น
- รับประทานโปรตีนอย่างเพียงพอเพื่อซ่อมแซมร่างกายหลังการผ่าตัด
- อาหารที่มีโซเดียม
- จำกัดปริมาณโซเดียมในอาหารเพื่อลดการทำงานของไต
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป หมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง
- เลี่ยงผงชูรส ผงปรุงรส และซุปก้อนในอาหาร
- ลดการบริโภคน้ำจิ้ม น้ำราดต่าง ๆ
การใช้ชีวิตประจำวันหลังการปลูกถ่ายไต
- การออกกำลังกาย
- หลังปลูกถ่ายไตสัปดาห์แรก ควรยืน เดินรอบ ๆ เตียง
- หลังปลูกถ่ายไต 2 – 4 สัปดาห์ ควรเดินรอบ ๆ บ้าน วันละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที
- หลังปลูกถ่ายไต 2 – 4 สัปดาห์ ควรเดินเร็ว ๆ จนเหงื่อออก ครั้งละ 15 – 30 นาที วันละ 1 – 2 ครั้ง
- หลังปลูกถ่ายไต 6 สัปดาห์ สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ
- เล่นกีฬาที่เหมาะสม ได้แก่ เต้นแอโรบิค ปิงปอง วิ่ง ว่ายน้ำ
- กีฬาที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชกมวย ยูโด มวยปล้ำ รักบี้ ฟุตบอล และกีฬาอื่น ๆ ที่มีการปะทะหรือชนกัน เป็นต้น
- การดื่มแอลกอฮอล์
- สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หากจำเป็นแต่ควรจำกัดปริมาณ
- ไม่ควรดื่มใกล้เวลารับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เพราะจะมีผลต่อการทำงานของไต
- การมีเพศสัมพันธ์
- สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- ควรมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (safe sex)
- หากมีปัญหาสมรรถภาพทางเพศควรปรึกษาแพทย์
- การมีบุตร
- สตรีที่ปลูกถ่ายไตควรทิ้งระยะเวลาตั้งครรภ์หลังปลูกถ่ายไตเป็นเวลา 2 ปี
- การตั้งครรภ์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้วอยู่ได้กี่ปี
ข้อมูลทางสถิติโดยสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 พบว่า จำนวนผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไตที่สามารถอยู่ได้ถึง 10 ปี มีมากถึง 78.2% นั่นหมายถึง จากผู้ป่วย 100 คน จะมีผู้ป่วย 78 คนที่สามารถอยู่ได้นานกว่า 10 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสในการผ่าตัดไตสำเร็จนั้นค่อนข้างสูงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามระยะเวลาการมีชีวิตหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งการดูแลตนเองของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ
ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ เช่น ไตที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไปแล้วเกิดการเสื่อมสภาพ มีโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่และส่งผลกระทบต่อไตที่เคยรับการผ่าตัดปลูกถ่ายมา การต่อต้านไตใหม่แบบที่เป็นเรื้อรัง การสลัดไตแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือการติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าควรทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ กระบวนการก็จะคล้ายกับการปลูกถ่ายไตครั้งแรก โดยไตใหม่อาจรับบริจาคไตจากญาติหรือรอรับบริจาคจากสภากาชาดไทย การปลูกถ่ายไตซ้ำนี้ผู้ป่วยอาจได้รับยากดภูมิคุ้มกันมากกว่าครั้งแรกเพื่อกดภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิมเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
การปลูกถ่ายไตของ รพ.พระรามเก้า
ตลอด 31 ปี นับตั้งแต่โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดให้บริการ (มิ.ย. 2535 – 30 มี.ค. 2567) สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้าได้ผ่าตัดปลูกถ่ายไตไปแล้ว 1,283 ราย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีสถิติที่น่าสนใจดังนี้
- ไตจากผู้บริจาคที่เป็นญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต จำนวน 395 ราย
- ไตจากผู้บริจาคที่เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 33 ราย
- ไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จำนวน 855 ราย
- 116 ราย ได้รับไตภายใน 1 เดือน
- 414 ราย ได้รับไตภายใน 6 เดือน
- 586 ราย ได้รับไตภายใน 12 เดือน
- ผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อายุ 11 ปี มีจำนวน 2 ราย (โดย 1 ราย ได้รับไตจากน้องชายของบิดา และอีก 1 ราย ได้รับไตจากผู้บริจาค จากศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย)
- ผู้ป่วยอายุมากที่สุดที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อายุ 84 ปี (ได้รับไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย)
- ทำการปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 399 ราย
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำในผู้ป่วยที่เคยล้มเหลวจากการเปลี่ยนไตในอดีต จำนวน 103 ราย
- มีผู้ป่วยตั้งครรภ์หลังปลูกถ่ายไต จำนวน 5 ราย มีเด็กที่เกิดจากมารดาที่ปลูกถ่ายไต จำนวน 7 ราย
- มีผลงานวิจัยทางการแพทย์ด้านการเปลี่ยนไต 60 ผลงาน
- สถาบันโรตไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้าได้รับประกาศนียบัตรเกียรติยศความเชี่ยวชาญเป็นเลิศทางด้านการเปลี่ยนไตตามมาตรฐานสากลระดับโลกจาก JCI (Joint Commission International, USA) เมื่อมี พ.ศ. 2559
สรุป
โรคไตวายเรื้อรังถือว่าเป็นโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง เพราะหากเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไตจะสูญเสียการทำงานไปเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถขับของเสียและควบคุมสมดุลของร่างกายได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือต้องฟอกเลือดโดยใช้น้ำยาผ่านทางช่องท้อง ซึ่งผู้ป่วยต้องฟอกไตหลายวันต่อสัปดาห์ ทำให้ไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
ปัจจุบันทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังคือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งอาจขอรับบริจาคไตจากญาติพี่น้องหรือสามี-ภรรยา หรือจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย เพราะหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวาย การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และไม่ทำลายการทำงานของไตถือเป็นการดูแลสุขภาพไตที่ดีที่สุด นอกจากนี้การติดตามความสมบูรณ์แข็งแรงของสุขภาพร่างกายเป็นประจำโดยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้เราทราบสภาวะทางสุขภาพ และสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงได้