โรคหอบหืด (asthma) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้มีการตีบตันของหลอดลม โดยมักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ เวลาที่มีอาการเราจะเรียกว่าหอบหืดกำเริบ อาการที่พบบ่อยคือ หายใจมีเสียงหวีด ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม โดยอาการเหล่านี้มีหลากหลายความรุนแรง หลายครั้งการเกิดหอบหืดกำเริบรุนแรงถึงขั้นการหายใจล้มเหลวต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตได้ แต่ถ้าหอบหืดกำเริบไม่รุนแรงแต่ปล่อยให้มีการอักเสบในหลอดลมบ่อย มีอาการหลอดลมตีบตันบ่อยๆ ในที่สุดจะเกิดการตีบตันของหลอดลมแบบถาวร ซึ่งจะรักษาได้ยาก
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยหอบหืดจะเริ่มจากประวัติและอาการเช่น อาการหายใจมีเสียงหวีด, หายใจไม่อิ่ม-แน่นหน้าอก, ไอเรื้อรัง โดยอาการจะเป็นๆหายๆ มักจะแย่ลงในเวลากลางคืนหรือเวลาออกแรง และอาการมักถูกกระตุ้นโดยตัวกระตุ้นบางอย่างเช่น การออกกำลังกาย, อากาศเย็น, สารก่อภูมิแพ้, หรือการติดเชื้อไวรัส
และต้องมีการยืนยันการวินิจฉัยเรื่องหลอดลมตีบตันเป็นๆหายๆ (variable airflow limitation) โดยอาจจะใช้
- การตรวจความผันแปลของความแรงสูงสุดในการหายใจออก หรือ peak expiratory flow rate (PEF) โดยpeak flow meter โดยให้ผู่ป่วยกลับบ้านไปบันทึกที่บ้านเองอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จะพบว่ามีความผันแปลของ PEF เกินมาตรฐาน
- การตรวจสมรรถนะสภาพปอด หรือ pulmonary function test (PFT) โดย spirometry ต้องทำการตรวจที่โรงพยาบาล จะพบว่ามีการผันแปลของการตีบตันของหลอดลมหลังได้ยาขยายหลอดลม หรือหลังได้ตัวกระตุ้น
การประเมินความรุนแรงของหอบหืด
การประเมินโรคหอบหืดเราประเมิน 2 หัวข้อหลักๆคู่กัน เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมคือ
1. การควบคุมอาการ (symptom control)
ถ้าผู้ป่วยควบคุมอาการหอบหืดได้ดีคือ ต้องมีอาการของหอบหืดในช่วงกลางวัน และต้องการใช้ยาพ่นฉุกเฉินไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมถึงต้องไม่มีอาการตื่นกลางคืนจากหอบหืดเลย และไม่มีกิจกรรมใดๆที่ทำไม่ได้จากอาการหอบหืด
2. ความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงเวลาเกิดหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน (risk of adverse outcome)
ต้องประเมินจากหลายองค์ประกอบ เช่น
- ตรวจ pulmonary function test พบสมรรถนะปอดว่าต่ำกว่าปกติ (FEV1<60%)
- มีโรคร่วมอื่นๆที่กระตุ้นหอบหืดได้ง่าย เช่น ตั้งครรภ์, ภาวะอ้วน, กรดไหลย้อน, มีประวัติแพ้อาหาร
- ยังต้องสัมผัสกับตัวกระตุ้นหอบหืด เช่น สูบบุหรี่, มลพิษทางอากาศ (air pollution), สารกระตุ้นภูมิแพ้
- เคยมีประวัติหอบหืดกำเริบอย่างรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเข้า ICU
โดยถ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงเวลาเกิดหอบหืดกำเริบ มีความจำเป็นที่จะต้องมียาควบคุมอาการต่อเนื่อง และอยู่ภานใต้การดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง
โดยคนไข้ที่ความคุมอาการได้ไม่ดี มักจะมีความเสี่ยงที่เกิดอาการกำเริบได้มากขึ้น แต่คนไข้ที่ควบคุมอาการได้ดี ก็ยังมีโอกาสเกิดอาการกำเริบแบบรุนแรงได้เช่นกัน
การรักษาโรคหอบหืด
เป้าหมายของการรักษาโรคหอบหืดคือ ต้องควบคุมอาการได้ดี (มีการใช้ยาฉุกเฉินไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์) สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหอบหืดกำเริบอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังต้องไม่เกิดภาวะหลอดลมตีบตันถาวรในระยะยาว โดยจะปรับยาอย่างเหมาะสมไม่มากเกินไป เพื่อลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษา
การรักษาโดยยา
โดยปัจจุบันการรักษาหอบหืด ยาหลักๆในการรักษาคือยาพ่นขยายหลอดลมและลดการอักเสบของหลอดลม โดยยาพ่นแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆดังนี้
- ยาฉุกเฉินบรรเทาอาการ (relievers) ใช้เฉพาะเวลามีอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน ยากลุ่มนี้จะเป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธ์เร็ว ได้แก่ short-acting beta- agonist (SABA), ICS/formoterol
- ยาควบคุมอาการ (controllers) โดยจะเริ่ม controllers ตามขั้นความรุนแรงของอาการ โดยยาในกลุ่มนี้ เช่น Inhaled corticosteroids (ICS), ICS/LABA( long-acting beta2-agonist), LAMA (long acting muscarinic antagonist) มีฤทธิ์ลดการอักเสบของทางเดินหายใจและขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์ยาว
นอกจากนี้ในปัจจุบันหอบหืดที่ควบคุมยากยังมียา biologics ใหม่ๆออกมาหลายตัวเพื่อควบคุมหอบหืดได้ดีขึ้น เช่น omalizumab (anti-IgE), mepolizumab และ benralizumab (anti-IL5), dupilumab (anti-IL4)
การรักษาอื่นๆ ร่วมด้วยนอกจากยา
- หยุดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น, สารก่อภูมิแพ้, air pollution
- รักษาโรคร่วมให้ดี เช่นภูมิแพ้, โรคอ้วน
- มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึง breathing exercise
- วัคซีน ปัจจุบันแนะนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และ วัคซีน covid-19
โรคหอบหืดและ covid-19
ผู้ป่วยหอบหืดไม่ได้เป็นความเสี่ยงของการติดเชื้อ covid-19 และจากการศึกษาปัจจุบันยังไม่พบว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ดีเป็นความเสี่ยงที่ covid-19 จะรุนแรงหรือเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจาก covid-19
โรคหืดกำเริบเฉียบพลัน
เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน แนะนำให้ใช้ยาพ่นฉุกเฉิน (reliver) กลุ่ม inhaled short-acting B2-agonist (SABA) เช่น salbutamol MDI 4-10 puff ทุก 20 นาที ถ้าพ่น 3 รอบแล้วยังไม่หายให้รีบมาห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเพื่อประเมินและรับการรักษาที่เหมาะสมเพิ่มเติม
สรุป
โรคหอบหืดเป็นโรคที่รุนแรงถึงชีวิตได้ แต่ก็สามารถควบคุมได้เช่นกัน โดยการเข้าใจโรค รู้จักอาการและสิ่งกระตุ้นอาการ ใช้ยาพ่นถูกวิธีและสม่ำเสมอ หมั่นออกกำลังกาย รักษาโรคร่วมต่างๆ ลดความเครียด รู้จักอาการฉุกเฉิน และหมั่นพบแพทย์ตามนัด ดังนั้นใครที่เป็นโรคหอบหืดอยู่ หรือมีอาการที่สงสัยโรคหอบหืด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป