โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งเพราะเป็นโรคที่คนทั่วไปอาจยังไม่ค่อยเข้าใจหรือยังไม่ค่อยตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากโรคนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจไม่รู้ตัวว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่ หรือแม้กระทั่งญาติหรือคนใกล้ชิดก็อาจไม่ได้สังเกตว่าคนใกล้ตัวกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่ หรือบางคนถึงกับคิดไปว่าผู้ป่วยคิดมาก เครียดเกินไป หรือคิดไปเอง ทำให้ผู้ป่วยหลาย ๆ คนได้รับการรักษาช้าหรือมีอาการรุนแรงมากจนเกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมา เช่น การคิดฆ่าตัวตาย การพยายามฆ่าตัวตาย
และหลายปีมานี้มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก และผู้ที่ติดเชื้อที่หายแล้วหลาย ๆ รายมี “ภาวะลองโควิด” ซึ่งพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัญหาสุขภาพจิด เช่น วิตกกังวล ปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ ภาวะนอนไม่หลับ และอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ ซึ่งทำให้มีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นในปัจจุบัน
การรักษาโรคซึมเศร้าตั้งแต่เพิ่งเริ่มมีอาการด้วยวิธีที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้าสามารถทำได้หลายวิธีตั้งแต่การรับประทานยา การพูดคุยกับจิตแพทย์ การรักษาจิตบำบัดเชิงลึก และการรักษาโดยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ transcranial magnetic stimulation (TMS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่ต้องผ่าตัดหรือดมยาสลบ ซึ่งบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการรักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน
โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า เกิดจากภาวะสารเคมีในสมองผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีกระทบทางด้านอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม ผู้ป่วยมักน้ำหนักลด มีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หรืออาจส่งผลไปถึงประสิทธิภาพการทำงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา การพบและพูดคุยกับจิตแพทย์ หรือการรักษาด้วยการพูดคุยกับนักจิตบำบัด การกระตุ้นด้วยการช็อตไฟฟ้า (electroconvulsive therapy: ECT) และการรักษาโดยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ transcranial magnetic stimulation (TMS)
Transcranial magnetic stimulation (TMS) คืออะไร?
Transcranial magnetic stimulation (TMS) คือ เทคโนโลยีการรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านกะโหลกศีรษะจากภายนอก โดยจะปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองให้ทำงานได้ดีขึ้นเพื่อฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของสมองและลดอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งนอกจากโรคซึมเศร้าแล้ว TMS ยังมาใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคไมเกรนชนิดมีออร่า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคจิตเภท (schizophrenia) โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บของไขสันหลัง และกล้ามเนื้อหดเกร็ง และช่วยในการเลิกบุหรี่ เป็นต้น
TMS รักษาซึมเศร้าได้อย่างไร?
การรักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS คือการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปเหนี่ยวนำ และกระตุ้นทำให้เกิดกระเเสประสาท แล้วทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมองและปรับการทำงานของสมองให้อยู่ในสภาวะปกติเเละลดการเกิดอาการซึมเศร้าลงได้ โดยการรักษาด้วย TMS นี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่ามีความปลอดภัยเเละมีประโยชน์ช่วยในการรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากการศึกษาพบว่าการรักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS นี้มีอัตราความสำเร็จในการรักษามากถึง 78%
รักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS ทำอย่างไร?
- จิตแพทย์จะทำการประเมินและซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการรักษา
- ในวันที่เข้ารับการทำ TMS ผู้ป่วยจะได้รับการรักษา ในห้อง TMS โดยจะนั่งบนเก้าอี้ที่ปรับเอน แล้ววางศีรษะในตำแหน่งที่เหมาะสมเเละสบาย จากนั้น สวมอุปกรณ์บริเวณศีรษะและใส่ที่อุดหูเพื่อป้องกันเสียงรบกวน
- เจ้าหน้าที่ (TMS team) จะนำอุปกรณ์ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มาติดบนศีรษะในตำแหน่งที่ต้องการกระตุ้นและทดสอบความแรงของการกระตุ้นที่เหมาะสม แล้วทำการกระตุ้น โดยจะกระตุ้นติดต่อกันเป็นเวลา 30-60 นาที โดยไม่ต้องวางยาสลบหรือยาระงับความรู้สึก ซึ่งความถี่ในการรักษาจะอยู่ที่ประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยจำนวนครั้งและระยะเวลาการรักษาจะขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วย TMS
แพทย์จะทำการแนะนำการรักษาด้วยวิธี TMS ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่ทนต่อผลข้างเคียงจากยาไม่ได้ หรือในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รักษาด้วยยามามากกว่า 1 ปี แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือไม่ตอบสนองต่อยาและปริมาณยาที่สูงขึ้น
โดยในปัจจุบันได้มีการเริ่มนำการรักษาด้วย TMS มาใช้ร่วมกับการรักษาด้วยการพูดคุยกับนักจิตบำบัดเเละการทานยาเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นอีกด้วย
ในบางกรณีอาจใช้ TMS ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต รวมไปถึงอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง เเละการเลิกบุหรี่
ผลการรักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS
การรักษาด้วย TMS จะช่วยลดอาการซึมเศร้า และอาการวิตกกังวลลงได้ แล้วยังช่วยให้มีสมาธิและทำให้การนอนหลับดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมในด้านบวก ทั้งในแง่การเข้าสังคมเเละการใช้ชีวิต การรักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS นี้เป็นการรักษาที่จะทำให้อาการของภาวะซึมเศร้าดีขึ้นได้ ภายใน 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนครั้งที่ทำการกระตุ้นและความรุนแรงของโรคแต่ละราย
การรักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS มีผลข้างเคียงหรือไม่?
การรักษาด้วย TMS เป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อย อาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะเล็กน้อยในบริเวณที่ทำการกระตุ้น และอาจเกิดอาการชักในขณะทำการรักษาโดยมีโอกาสเกิดเพียง 0.01% โดยอาการทั้งหมดสามารถหายได้เอง หรือรักษาให้หายได้ภายในวันที่ทำการกระตุ้น อย่างไรก็ตามก่อนรับการรักษาด้วย TMS จิตแพทย์จะประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยทุกราย กรณีที่มีความเสี่ยงการเกิดอาการชัก แพทย์อาจต้องพิจารณาความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
การรักษาด้วย TMS ดีอย่างไร?
- เป็นการรักษาที่ผู้ป่วยไม่ต้องมีการผ่าตัด หรือได้รับความเจ็บปวดจากการรักษา
- ให้ผลดีในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อาการรุนแรงและดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
- เป็นการรักษาที่มีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงจากการรักษาค่อนข้างน้อย
- เป็นวิธีการรักษาที่สามารถใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น การรักษาด้วยการรับประทานยา หรือการรักษาโดยการทำจิตบำบัดได้
- ช่วยเพิ่มการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะการรักษาวิธีนี้ช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าได้ดี ทำให้ลดการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยซึมเศร้าได้
- ภายหลังการรักษาสามารถกลับบ้านไปทำกิจวัตรประจำวันและทำงานได้ตามปกติ
สรุป
การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยเทคโนโลยี TMS เป็นทางเลือกการรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อยเเละสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นทางเลือกของการรักษาของผู้ป่วยซึมเศร้าที่อาการรุนแรง และดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด หรือไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวด อย่างไรก็ตามการรักษาด้วย TMS ต้องทำโดยจิตเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเเละเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญสูงเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด