ไข้หวัดใหญ่ (influenza) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่มักมีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว ซึ่งสามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งอาการป่วยมักรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และความรุนแรงของอาการก็มีความแตกต่างกันตามสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย และในรายที่รุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
สารบัญ
- ไข้หวัดใหญ่คืออะไร?
- ไข้หวัดใหญ่มีสายพันธ์ุอะไรบ้าง?
- อาการของไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร?
- ไข้หวัดใหญ่ติดต่ออย่างไร?
- ระยะฟักตัวของไข้หวัดใหญ่นานกี่วัน?
- ระยะแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่
- ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
- การรักษาไข้หวัดใหญ่
- ไข้หวัดใหญ่กี่วันหาย?
- การป้องกันไข้หวัดใหญ่
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- สรุป
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร?
ไข้หวัดใหญ่หรือ influenza เป็นโรคติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจที่เรียกว่า influenza virus ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดหลัก ๆ คือ influenza สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B ไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อในเยื่อบุทางเดินหายใจทั้งส่วนบนบริเวณจมูก ลำคอ และสามารถลุกลามลงระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ซึ่งคือบริเวณหลอดลมและปอด
ไข้หวัดใหญ่มีสายพันธ์ุอะไรบ้าง?
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มี 2 สายพันธุ์หลักที่ก่อโรคในคน คือ ไวรัสสายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B แต่ละสายสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ชนิด รวมเป็น 4 สายพันธุ์ย่อย ดังต่อไปนี้
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถก่อโรคได้ทั้งในคนและในสัตว์ โดยเป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลก ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถแบ่งย่อยตามชนิดของโปรตีนบนเปลือกของไวรัส ได้เป็นอีก 2 สายพันธุ์ย่อย คือ
- H1N1
- H3N2
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B สามารถก่อโรคได้ในคนเท่านั้น กลายพันธุ์ได้ช้ากว่าสายพันธุ์ A และมักจะทำให้เกิดอาการรุนแรงได้น้อยกว่า โดยแบ่งย่อยได้เป็น 2 ตระกูล คือ
- Yamagata
- Victoria
อาการของไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร?
อาการของไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
- ไข้
- ปวดศรีษะ
- ปวดเมื่อยตามตัว
- เจ็บคอ ไอ
- คัดจมูก
- ปอดอักเสบติดเชื้อ หรือมีภาวะการหายใจล้มเหลวได้ หากอาการรุนแรง
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ไข้หวัดใหญ่ติดต่ออย่างไร?
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อจากคนสู่คน ผ่านสารคัดหลั่งที่เป็นละอองฝอย (droplet precaution) ทั้งน้ำมูก น้ำลาย ส่วนมากจะผ่านมาทางการจาม ไอ พูด ซึ่งสารคัดหลั่งเหล่านี้สามารถกระจายได้ไกลถึง 6 ฟุต โดยจะเข้ามาทางจมูก ปากหรือลงปอด บางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อยจะติดต่อทางการสัมผัสสารคัดหลั่งจากสิ่งของแล้วจับบริเวณจมูก ปาก
ระยะแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่
ระยะเวลาการแพร่กระจายเชื้อของไข้หวัดใหญ่ สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ จนถึง 5-7 วันหลังมีอาการป่วย โดยจะแพร่กระจายเชื้อได้มากที่สุดใน 3-4 วันแรกหลังเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยบางกลุ่มจะมีระยะการแพร่กระจายเชื้อที่นานกว่า 7 วันได้ เช่น ในกลุ่มเด็กทารก และกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
- ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
การรักษาไข้หวัดใหญ่
สามารถรักษาได้โดยการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งการเริ่มยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการจะช่วยลดอาการให้หายเร็วขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนได้
ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติโดย FDA มีทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่
- Oseltamivir phosphate (trade name Tamiflu®) เป็นยารับประทาน
- Aanamivir (trade name Relenza®) เป็นยาผง
- Peramivir (trade name Rapivab®) เป็นยาฉีด
- Baloxavir marboxil (trade name Xofluza®) เป็นยารับประทาน
ไข้หวัดใหญ่กี่วันหาย?
สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไข้หวัดใหญ่มักจะหายไปได้ใน 5-7 วันหลังจากเริ่มมีอาการ แต่อาการไอและอ่อนเพลียอาจยังคงอยู่ได้หลายสัปดาห์ แต่ในผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการไม่มากและหายได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
การป้องกันไข้หวัดใหญ่
เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อผ่านละอองฝอยของสารคัดหลั่งที่ฟุ้งกระจายในอากาศจากการจาม ไอ หรือพูดคุย และติดต่อทางการสัมผัสสารคัดหลั่งจากสิ่งของต่าง ๆ ดังนั้นการป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ จึงสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ
- การป้องกันการได้รับเชื้อ ด้วยมาตรการเบื้องต้น ได้แก่
- ใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ
- ใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับมือ
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ผู้คนแออัด อากาศไม่ถ่ายเท
- ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- การป้องกันการติดเชื้อและอาการรุนแรง โดยการเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่
วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันการติดเชื้อ และลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้ แนะนำให้ฉีดซ้ำทุกปีก่อนถึงฤดูกาลของการระบาด คือ ช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว วัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับสายพันธุ์ของไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีนเท่านั้น โดยในแต่ละปีสายพันธุ์ที่ใช้ผลิตวัคซีนจะแตกต่างกันไปตามความคาดหมายว่าเชื้อสายพันธุ์ใดจะระบาดในปีนั้น ๆ ถ้าปีใดคาดหมายได้ถูกต้องก็จะป้องกันได้ดี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนเชื้อตาย มีแบบ 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ ในปัจจุบันยังมีวัคซีนแบบ 4 สายพันธุ์แบบขนาดสูง (high dose quadrivalent vaccine) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่าขนาดมาตรฐาน ซึ่งแนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
ในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากติดเชื้อ แต่ในสหรัฐอเมริกา CDC แนะนำให้ทุกคนที่อายุมากกว่า 6 เดือนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
สรุป
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีการระบาดทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว ทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการไม่รุนแรง แต่ในผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจมีอาการรุนแรง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งจะมีการผลิตให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่จะมีการระบาดในแต่ละปี จะช่วยลดอาการรุนแรงและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้