โรคเบาหวาน (diabetes) ถือเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีความสำคัญและมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกระบวนการเมแทบอลิซึมที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงผิดปกติ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
การรู้จักอาการเบาหวานตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อจะได้สามารถวินิจฉัยและเริ่มต้นการรักษาได้อย่างรวดเร็วก่อนที่ความรุนแรงของโรคจะรุนแรงขึ้น
เบาหวานคืออะไร?
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินหรือมีภาวะดื้ออินซูลิน ออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดไม่มีประสิทธิภาพ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลให้เส้นเลือดแดงตีบตัน ทำให้มีอาการขาดเลือดของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบหัวใจและหลอดเลือด จอประสาทตา ไต และระบบประสาท หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เบาหวานอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
อาการเบาหวาน
อาการเบาหวานเริ่มต้น
อาการเบาหวานเริ่มต้นมักไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่หากมีอาการดังนี้ แปลว่าระดับน้ำตาลสูงชัดเจนแล้ว ได้แก่
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะปริมาณมาก บ่อยครั้งขึ้น แม้ในเวลากลางคืน
- รู้สึกกระหายน้ำบ่อยขึ้น เป็นผลมาจากการขาดน้ำ สูญเสียน้ำทางปัสสาวะมาก จะมีอาการกระหายน้ำ คอแห้ง หรือปากแห้งผิดปกติ
- รู้สึกหิวบ่อยขึ้น เนื่องจากเซลล์ในร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงส่งสัญญาณให้รู้สึกหิวบ่อย ๆ เพลีย บางคนรู้สึกเหมือนร่างกายขาดน้ำตาล รับประทานของหวานแล้วสดชื่นขึ้น
- น้ำหนักลด แม้จะรับประทานอาหารมากขึ้นก็ตาม เนื่องจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมและใช้น้ำตาลได้ จึงต้องใช้พลังงานจากการเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อ ทำให้น้ำหนักลดลง แต่ไม่แข็งแรง
- อาการอื่น ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนแรง ผิวแห้งคัน แผลหายช้า เป็นฝีที่ผิวหนังบ่อยๆ การมองเห็นพร่ามัว ชาตามปลายมือปลายเท้า เชื้อราที่ผิวหนัง เป็นต้น เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงไปทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย
หากมีอาการเบาหวานดังกล่าวหลายอย่างร่วมกัน ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคเบาหวานและพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
อาการเบาหวานระยะต่อมา
หากโรคเบาหวานไม่ได้รับการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม อาการแทรกซ้อนจะรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป และอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนี้
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบตันจากการสะสมของไขมันคอเลสเตอรอลตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจวาย โดยเฉพาะถ้ามีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ร่วมด้วย
**แนะนำแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ >> แพ็กเกจเช็คหัวใจให้ชัวร์ Exclusive Heart
- โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือหลอดเลือดสมองแตก มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
ระบบไต
- ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงเล็ก ๆ ที่ไตเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ จนไตสูญเสียการทำงานอย่างถาวร ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดหรือผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่
ระบบประสาท
- เส้นประสาทเสื่อม ทำให้เกิดอาการชา หรือปวดแสบปวดร้อน หรือรู้สึกเหมือนถูกแทงด้วยเข็มหรือมีดบริเวณปลายมือปลายเท้า ปลายประสาทเสื่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง และการสูญเสียนิ้วเท้า หรือเท้าในที่สุดท้าย
ระบบตา
- “อาการเบาหวานขึ้นตา” เพิ่มความเสี่ยงของ
– ต้อกระจก เลนส์ตาขุ่นทำให้ตาพร่ามัว มองไม่ชัดเจน
– จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งในระยะแรกอาจไม่มีอาการ แต่อาจรุนแรงขึ้นจนสูญเสียการมองเห็น - “อาการเบาหวานลงเท้า เสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรังที่เท้า เนื่องจากอาการชา จากเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม และเลือดไหลเวียนไม่ดี เนื่องจากหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันและเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง แผลลุกลามอาจสูญเสียเท้าหรือขาได้
นอกจากนี้ยังมีภาวะร่วมอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ไขมันพอกตับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะซึมเศร้า กระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง เป็นต้น
หากเบาหวานรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญหลายระบบในร่างกาย ลดคุณภาพชีวิตลงอย่างมาก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง ผู้ป่วยเบาหวานจึงจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา
แพทย์วินิจฉัยเบาหวานได้อย่างไร?
การตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเป็นวิธีการที่แพทย์ใช้วินิจฉัยเบาหวาน โดยปกติจะมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (fasting blood sugar) และการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) เพื่อให้ได้ภาพรวมของระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
- การตรวจน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (fasting blood sugar) เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ค่าปกติควรอยู่ระหว่าง 70-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dL จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
- การตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) เป็นการตรวจวัดค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ค่าปกติควรต่ำกว่า 5.7% หากระดับ HbA1c สูงกว่าหรือเท่ากับ 6.5% จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
การดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงเบาหวาน
แม้ว่าเบาหวานจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพสามารถช่วยลดความเสี่ยงและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- การควบคุมอาหาร: เลือกรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ผักและผลไม้สด ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง รับประทานอาหารเป็นมื้อ หลีกเลี่ยงการกินจุกจิก รวมถึงการลดบริโภคเกลือ และเลือกรับประทานไขมันที่ดีด้วย
- การออกกำลังกาย: การออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยให้ร่างกายใช้พลังงานและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ควรเลือกกิจกรรมที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เช่น การเดินเร็ว การวิ่ง หรือการปั่นจักรยาน การออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์จะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้
- การควบคุมน้ำหนัก: การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และยังส่งผลดีต่อสุขภาพทั่วไป การลดน้ำหนักเพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยปรับปรุงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- การตรวจสุขภาพประจำปี: การตรวจสุขภาพและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอช่วยให้สามารถตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การพบแพทย์เป็นประจำจะช่วยให้สามารถติดตามและปรับเปลี่ยนการรักษาได้ตามความเหมาะสม
- การจัดการความเครียด: ความเครียดสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ การหาวิธีผ่อนคลาย เช่น การฝึกโยคะ การทำสมาธิ หรือการพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นวิธีที่ช่วยลดความเครียดได้ การมีเวลาพักผ่อนและการทำกิจกรรมที่ชอบช่วยลดระดับความเครียดได้มาก
- การเลิกบุหรี่และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การเลิกบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นสิ่งสำคัญ การลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือการเลิกบุหรี่จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น
สรุป
การรู้จักและเข้าใจอาการของโรคเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้เราสามารถจับสัญญาณเตือนภัยได้ตั้งอาการ เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อยผิดปกติ น้ำหนักลดเป็นสัญญาณที่ร่างกายส่งมาบอกว่าระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงผิดปกติ
การสังเกตอาการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานและการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานและส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี เบาหวานเป็นโรคที่ควบคุมได้ หากเราให้ความใส่ใจสุขภาพจริงจัง ดูแลตนเองอย่างถูกวิธี และปรึกษาแพทย์สม่ำเสมอ
หากมีอาการที่น่าสงสัย หรือมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการเบาหวาน ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการวินิจฉัยอาการเพิ่มเติม