มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูก ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีอาการเริ่มต้นที่อาจคล้ายคลึงกับอาการป่วยจากโรคอื่นทั่ว ๆ ไป เช่น อ่อนเพลีย หรือมีไข้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมักไม่ทันได้สังเกตความผิดปกติ การรู้จักอาการเริ่มต้นของมะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที
ในบทความนี้เราจะพูดถึงอาการเริ่มต้นที่ควรสังเกต สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และแนวทางการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการผิดปกติสามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง
สารบัญ
โรคเม็ดเลือดขาวคืออะไร?
มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่เรียกว่า “ลูคีเมีย” (Leukemia) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายมีการเจริญเติบโตผิดปกติและเสียหน้าที่การทำงานตามปกติไป โดยโรคนี้จะเริ่มจากความผิดปกติที่ไขกระดูกซึ่งเป็นแหล่งผลิตเซลล์เม็ดเลือด และมะเร็งจะแพร่กระจายไปยังเลือดและอวัยวะอื่น ๆ เช่น ม้ามและต่อมน้ำเหลือง อาการเริ่มต้นของมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักจะไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ในระยะแรก
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร?
อาการเริ่มต้นของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่อาจพบได้ เช่น
- อาการอ่อนเพลีย: เป็นอาการที่พบบ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยและไม่มีแรง อาการนี้เกิดขึ้นเพราะเซลล์มะเร็งเข้ามาแทนที่เซลล์เม็ดเลือดปกติ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เซลล์เม็ดเลือดแดงลดลงและไม่สามารถนำออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ นอกจากนี้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลงยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น
- มีไข้หรือเหงื่อออกตอนกลางคืน: ผู้ป่วยอาจมีไข้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีเหงื่อออกมากในช่วงกลางคืน อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่สมบูรณ์ เซลล์มะเร็งในร่างกายกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและทำให้มีไข้
- ปวดกระดูกหรือข้อต่อ: เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบบ่อย โดยเฉพาะในเด็ก ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดบริเวณกระดูกหรือข้อต่อ ซึ่งเกิดจากการสะสมของเซลล์มะเร็งในไขกระดูก ทำให้เกิดการกดทับและอักเสบในกระดูก
- มีรอยช้ำง่ายหรือเลือดออกง่าย: มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีผลต่อการผลิตเกล็ดเลือด ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยจึงมีรอยฟกช้ำตามร่างกายได้ง่าย หรืออาจมีเลือดออกที่เหงือก จมูก หรือบริเวณอื่น ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ติดเชื้อบ่อย: เพราะเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะติดเชื้อบ่อยครั้งและรักษายากขึ้น เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง
อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันไหม?
แม้ว่าอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กและผู้ใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน เช่น อาการอ่อนเพลีย มีไข้บ่อยครั้ง มีรอยฟกช้ำ และปวดกระดูก แต่จะมีความแตกต่างกันในบางประการ เช่น
การตอบสนองต่อการรักษา
- เด็ก: โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี โดยมีโอกาสหายขาดจากโรคสูงกว่า เนื่องจากร่างกายของเด็กมีการฟื้นฟูเร็วกว่าและตอบสนองต่อเคมีบำบัดได้ดีกว่า
- ผู้ใหญ่: ในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ร่างกายอาจไม่สามารถทนต่อการรักษาได้ดีเท่าเด็ก อัตราการหายจึงต่ำกว่า และบางครั้งโรคอาจกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้
อาการในเด็ก
- อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กมักจะชัดเจนกว่า เช่น มีรอยช้ำ รอยจ้ำเลือดตามร่างกายบ่อยครั้งหรือมีเลือดออกง่าย นอกจากนี้เด็กอาจมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจบ่อย ๆ และบางคนอาจสังเกตเห็นว่ามีต่อมน้ำเหลืองบวม หรือท้องบวมจากการที่ม้ามหรือตับโต
- อาการอื่น ๆ ที่พบบ่อยในเด็กคือปวดกระดูกหรือข้อต่อ เด็กอาจบ่นว่าปวดขาซึ่งเกิดจากการสะสมของเซลล์มะเร็งในไขกระดูก และอาจมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
อาการในผู้ใหญ่
- ในผู้ใหญ่ อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักจะมาอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นลูคีเมียชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยบางคนอาจไม่รู้สึกถึงอาการผิดปกติในช่วงแรก และผู้ป่วยมักจะทราบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากการตรวจเลือดทั่วไปโดยที่ยังไม่มีอาการที่ชัดเจนใด ๆ อาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายมักจะเริ่มปรากฏทีหลัง ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงคิดว่าอาการเหนื่อยง่าย หรืออ่อนเพลีย เป็นแค่อาการจากความเครียดหรือการเหนื่อยล้าจากการทำงาน หรือเป็นอาการเหนื่อยล้าจากกิจวัตรประจำวันปกติ
- ส่วนไข้และการติดเชื้อก็มักจะเกิดขึ้นช้ากว่าในเด็ก ในผู้ใหญ่ยังอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขาดเม็ดเลือดแดงและได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
ความรุนแรงของอาการ
- เด็ก: เด็กที่เป็นลูคีเมียแบบเฉียบพลันมักมีอาการแสดงอย่างรวดเร็ว และต้องการการรักษาเร่งด่วน
- ผู้ใหญ่: ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่เป็นลูคีเมียเรื้อรังอาจมีอาการแสดงช้าและเรื้อรัง บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าจะตรวจพบจากการตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปี
ผลกระทบทางจิตใจและการปรับตัว
- เด็ก: เด็กอาจยังไม่เข้าใจโรค รวมถึงการต้องปรับตัวจากการรักษาและผลข้างเคียง ทำให้การรักษาอาจจะง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการดูแลด้านจิตใจจากครอบครัวและทีมแพทย์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยเด็ก
- ผู้ใหญ่: การได้ทราบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจส่งผลกระทบทางจิตใจรุนแรงกว่าในเด็ก เพราะผู้ใหญ่มีความเข้าใจในความเสี่ยงและผลกระทบของโรคมากขึ้น ซึ่งทำให้มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำงาน ครอบครัว และอนาคต
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดจากอะไร มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?
แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ แต่มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่
- การสัมผัสรังสี: ผู้ที่เคยได้รับรังสีสูง ๆ เช่นจากการรักษามะเร็งด้วยรังสี หรือผู้ที่อยู่ใกล้โรงงานนิวเคลียร์ จะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้เพิ่มขึ้น
- สารเคมี: การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน (Benzene) ซึ่งพบในน้ำมันและสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ประวัติครอบครัว: ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
- พันธุกรรม: กลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มคนที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) หรือโรคพันธุกรรมอื่น ๆ มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้น
การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวทำได้หลายวิธี ซึ่งมักเริ่มจากการตรวจร่างกายเบื้องต้นและการตรวจเลือดเพิ่มเติม
- การตรวจเลือด (Complete Blood Count – CBC): เป็นการตรวจวัดปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งหากพบความผิดปกติก็อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- การเจาะไขกระดูก: แพทย์จะใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะเข้าที่กระดูกเชิงกรานเพื่อนำตัวอย่างไขกระดูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ยืนยันการวินิจฉัย
- การตรวจพันธุกรรม: ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจพันธุกรรมเพื่อดูความผิดปกติในโครโมโซมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว?
มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่บางกลุ่มมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เช่น
- เด็ก: เด็กมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด ลูคีเมียเฉียบพลันแบบลิมโฟบลาสติก (ALL) โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้อง ได้แก่ การสัมผัสกับสารเคมีในระหว่างตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด
- ผู้สูงอายุ: ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมักพบว่ามีอัตราการเกิดลูคีเมียชนิดเรื้อรัง (CLL) และลูคีเมียเฉียบพลัน (AML) สูงขึ้น เนื่องจากการระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มสาว และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่สะสมตามอายุ
- เพศชาย: ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเป็นลูคีเมียมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะ CML และ AML สาเหตุอาจมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาว
- ผู้มีประวัติครอบครัว: หากมีสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นลูคีเมีย เช่น พ่อแม่หรือพี่น้องป่วยเป็นลูคีเมียจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน
- ผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม: ผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ภาวะ Turner syndrome หรือ Klinefelter syndrome มีความเสี่ยงสูงในการเกิดลูคีเมีย เนื่องจากความผิดปกติในโครโมโซมอาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมีการเจริญเติบโตผิดปกติ
- ผู้ที่สัมผัสสารเคมีอันตราย: การสัมผัสสารเคมี เช่น เบนซีน ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกและน้ำมัน จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเกิดความเสียหาย นอกจากนี้สารเคมีในยาเคมีบำบัดก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน
- ผู้ที่เคยได้รับรังสี: ผู้ที่เคยได้รับการรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆ ด้วยรังสีบำบัดในปริมาณสูงจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดลูคีเมียตามมาได้
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง: เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิตนเองมีโอกาสสูงในการเกิดลูคีเมีย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติได้
- ผู้ที่สูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อ AML ด้วย สารพิษจากบุหรี่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์เม็ดเลือดและกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตามมา
มะเร็งเม็ดเลือดขาวรักษาหายไหม?
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ เคมีบำบัด การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า การฉายรังสี และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อย่างไรก็การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวมีความซับซ้อนและผลลัพธ์ของการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อโอกาสในการหายขาดมีดังนี้
- ประเภทของลูคีเมีย: ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดโอกาสหายขาด ลูคีเมียบางชนิด เช่น ลูคีเมียเฉียบพลันแบบลิมโฟบลาสต์ (ALL) ในเด็กมีโอกาสหายขาดสูงกว่าลูคีเมียชนิดอื่น ในขณะที่ลูคีเมียเรื้อรังมักไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้ในระยะยาว
- ระยะของโรคเมื่อได้รับการวินิจฉัย: ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในระยะแรกของโรคมีโอกาสหายขาดสูงกว่า หากโรคมีการลุกลามมากหรืออยู่ในระยะท้าย ๆ การรักษาอาจทำได้ยากขึ้น
- อายุของผู้ป่วย: ผู้ป่วยที่อายุน้อย โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น มีโอกาสตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและฟื้นตัวเร็วกว่า ในขณะที่ผู้สูงอายุอาจมีอัตราการหายขาดต่ำกว่าเนื่องจากปัจจัยด้านสุขภาพ
- สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย: ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัวจะสามารถทนต่อการรักษาได้มากกว่า เช่น การใช้เคมีบำบัดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการรักษาซึ่งทำให้โอกาสหายขาดลดลง
- การตอบสนองต่อการรักษา: ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาในระยะแรกดี เช่น การใช้เคมีบำบัดหรือยารักษาแบบมุ่งเป้ามีโอกาสที่จะหายขาดมากกว่า การได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจากแพทย์ที่มีความชำนาญตั้งแต่ระยะแรก ๆ มักช่วยให้ควบคุมโรคได้ดีและลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำได้
- การกลับมาเป็นซ้ำ: หากเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวซ้ำอีก จะทำให้โอกาสในการรักษาหายขาดจะลดลง และการรักษาอาจต้องเข้มข้นและซับซ้อนมากขึ้น เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูก การกลับมาเป็นซ้ำมักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีแรกหลังจากการรักษา
สรุป
มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมียเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกช่วงอายุ อาการเริ่มต้นมักจะไม่ชัดเจนและคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ หรือเกิดรอยช้ำง่าย ทำให้หลายคนไม่ทันสังเกต แต่การรู้จักอาการเบื้องต้นและสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกจะทำให้โอกาสในการรักษาหายมีเพิ่มขึ้น
การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ไม่ชะล่าใจ และรีบไปพบแพทย์เมื่อรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติจะช่วยให้เราสามารถป้องกันโรคมะเร็งและดูแลสุขภาพได้อย่างทันท่วงที