ภูมิแพ้ (allergy) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารที่ปกติไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนทั่วไป แต่บางคนอาจทำให้เกิดอาการแพ้ โดยสารเหล่านี้เรียกว่า “สารก่อภูมิแพ้” เช่น ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ อาหารบางชนิด และสารเคมีต่าง ๆ อาการภูมิแพ้สามารถแสดงออกได้หลากหลาย ตั้งแต่คัน จาม น้ำมูกไหล ไปจนถึงหอบหืดหรือปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (anaphylaxis) แม้ว่าอาการภูมิแพ้บางครั้งจะไม่รุนแรง แต่ในบางกรณีก็อาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ แล้วภูมิแพ้แบบไหนที่ควรไปพบแพทย์?
ภูมิแพ้มีชนิดไหนบ้าง?
ก่อนที่จะทราบว่าอาการภูมิแพ้ที่ควรไปพบแพทย์ เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของภูมิแพ้ที่พบได้ทั่วไป ดังนี้
1. ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
ภูมิแพ้ชนิดนี้เกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการจาม น้ำมูกไหล คันตา คันจมูก และหอบหืด
2. ภูมิแพ้ผิวหนัง
ภูมิแพ้ผิวหนังมักเกิดจากการสัมผัสกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่ แชมพู ครีม โลชั่น หรือจากอาหารที่รับประทาน ทำให้เกิดผื่นคัน แดง หรือบวมที่ผิวหนัง
3. ภูมิแพ้อาหาร
ภูมิแพ้อาหารเกิดจากการรับประทานอาหารที่ร่างกายเกิดปฏิกริยาภูมิแพ้ เช่น ถั่วลิสง นม ไข่ อาหารทะเล ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน หรืออาการแพ้ที่รุนแรงกว่า
4. ภูมิแพ้แมลงกัดต่อย
ภูมิแพ้ชนิดนี้เกิดจากการถูกแมลงกัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ทำให้เกิดอาการบวม แดง ปวดบริเวณที่ถูกกัด และในบางกรณีอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้
5. ภูมิแพ้ยา
ภูมิแพ้ยามักเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ซึ่งสามารถทำให้เกิดผื่นคัน บวม แดง หรืออาการแพ้ที่รุนแรงเฉียบพลันรุนแรงได้
อาการภูมิแพ้แบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
1. อาการหอบหืดหรือหายใจลำบาก
หากมีอาการหายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจเสียงหวีด อาจเป็นสัญญาณของหอบหืดจากภูมิแพ้ การหายใจที่ลำบากเป็นสัญญาณเตือนที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที หอบหืดจากภูมิแพ้สามารถทำให้ทางเดินหายใจบีบตัวอย่างรุนแรง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
2. ผื่นผิวหนังที่ไม่หายไปหรือแย่ลง
หากมีผื่นแดง คัน บวมที่ผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผื่นนี้ไม่หายไปเองภายในไม่กี่วัน หรือมีการขยายขนาดควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ผื่นที่ไม่หายไปหรือแย่ลงอาจเป็นสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรง หรืออาจเกี่ยวข้องกับภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ
3. อาการภูมิแพ้รุนแรง (anaphylaxis)
อาการนี้เป็นอาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ มีอาการเช่น หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน วูบหรือหมดสติ ภาวะนี้ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที การป้องกันการเกิดภาวะนี้คือการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
4. อาการภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และรบกวนชีวิตประจำวัน
หากมีอาการจาม น้ำมูกไหล คันตา หรือคันจมูกที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ และส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการจัดการกับอาการภูมิแพ้ การได้รับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันไม่ให้เกิดอาการภูมิแพ้ซ้ำ ๆ ได้
5. อาการแพ้อาหารที่ไม่ทราบสาเหตุ
หากสงสัยว่ามีอาการแพ้อาหาร เช่น มีผื่นขึ้น ปวดท้อง ท้องเสีย หรือหายใจลำบากหลังจากรับประทานอาหาร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการทดสอบและวินิจฉัย แพทย์จะทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือทดสอบเลือดเพื่อหาสาเหตุและแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้
เตรียมตัวอย่างไรก่อนพบแพทย์
เพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษามีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยควรเตรียมตัวก่อนพบแพทย์ ดังนี้
บันทึกอาการและระยะเวลา
จดบันทึกอาการที่เกิดขึ้น ระยะเวลาที่เกิด กระตุ้นที่น่าจะเป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้ เช่น อาหารที่รับประทานหรือกิจกรรมที่ทำ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและหาสาเหตุของอาการภูมิแพ้ได้แม่นยำขึ้น
รายการยาที่ใช้
นำรายการยาที่ใช้ปัจจุบันรวมถึงยาที่ใช้เป็นประจำไปด้วย เพื่อให้แพทย์ทราบข้อมูลที่จำเป็นในการวินิจฉัย การแจ้งข้อมูลยาที่ใช้จะช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้จากยาที่แพ้ได้
ข้อมูลประวัติการแพ้ในครอบครัว
หากมีประวัติการแพ้ในครอบครัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา การมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้มากขึ้น
นำข้อมูลจากการทดสอบภูมิแพ้ก่อนหน้า (ถ้ามี)
หากเคยทำการทดสอบภูมิแพ้มาก่อน เช่น การทดสอบทางผิวหนังหรือการทดสอบเลือด ควรนำผลการทดสอบไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น ละอองฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ อาหารบางประเภท โดยพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น
- ทำความสะอาดบ้านและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ เช่น ดูดฝุ่น ปัดกวาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ล้างผ้าม่าน พรม
- หมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรืออยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้รุนแรงขึ้นได้
- หากมีอาการกำเริบ ให้รีบรับประทานยาแก้แพ้หรือยาพ่นจมูกตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามและปรึกษาแพทย์เป็นประจำ เพื่อประเมินควบคุมอาการให้อยู่ในระดับที่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ
- หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจไม่ออก หน้าบวม ควรรีบพบแพทย์ทันที
สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคภูมิแพ้ โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ควบคุมอาการ และปฏิบัติตนเพื่อเสริมสร้างและสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
สรุป
ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จำเป็นต้องดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย ไม่รุนแรงมากนัก จนถึงขั้นมีอาการหนัก เช่น หอบหืด ผื่นคันที่ไม่หายไป หรืออาการแพ้อาหารบางชนิดที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้
หากพบว่าตนเองมีอาการภูมิแพ้รุนแรง หรือมีอาการที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาที่เหมาะสม การดูแลและจัดการภูมิแพ้ให้ดีจะช่วยให้ชีวิตประจำวันเป็นไปได้อย่างราบรื่นและสุขสบายมากขึ้น
หากมีอาการที่น่าสงสัย หรือมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการเบาหวาน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอาการเพิ่มเติม