บนวิกฤตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบันของโรคโควิด 19 ที่กำลังมาพร้อมความหวัง ความหวังที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติด้วยวัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลได้จัดสรรและเตรียมให้ประชาชน และยังมีความหวังที่มากขึ้นอีกจากการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกอีกหลายยี่ห้อมาเพิ่มเติม
รวมถึงการอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด 19 เพื่อเป็นอีกแรงสนันสนุนให้คนไทยได้รับมือกับโรคโควิด 19 ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการศึกษารายละเอียดของวัคซีนทางเลือกจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เราตัดสินใจได้อย่างถูกต้องตามสถานการณ์ยิ่งขึ้น
สารบัญ
- Q1: วัคซีนทางเลือก คืออะไร
- Q2: สถานการณ์วัคซีนในประเทศไทยเป็นอย่างไร
- Q3: วัคซีนที่รัฐสั่งซื้อแล้ว และกำลังดำเนินการ มียี่ห้อใดบ้าง
- Q4: วัคซีนโควิด 19 ของบริษัทใดบ้าง ที่มีแนวโน้มจะเป็นวัคซีนทางเลือก ?
- Q5: ข้อแตกต่างระหว่างวัคซีนทางเลือกและวัคซีนที่ภาครัฐจัดหาให้ เป็นอย่างไร ?
- Q6: วัคซีนโควิด 19 ยี่ห้อไหน จะได้เมื่อไหร่
- Q7: วัคซีนทางเลือก โควิด 19 แพงไหม ราคาเท่าไหร่บ้าง
- สรุป
Q1: วัคซีนทางเลือก คืออะไร
คำตอบ: วัคซีนทางเลือก คือ วัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลอนุมัติให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้จัดซื้อผ่านองค์การเภสัช นอกเหนือจากวัคซีนที่อยู่ในแผนการจัดซื้อของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่หลากหลายมากขึ้น
> กลับสู่สารบัญ
Q2: สถานการณ์วัคซีนในประเทศไทยเป็นอย่างไร
คำตอบ: แผนการจัดซื้อวัคซีนหลัก มีเป้าหมายว่า จะมีวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 มีการคาดการณ์ว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่จะผลิตในไทยนั้น เมื่อรวมกับวัคซีน ซิโนแวค (Sinovac) แล้ว จะมีจำนวนโดสคิดเป็นประมาณร้อยละ 63 ของความต้องการในประเทศ จึงยังขาดอีกร้อยละ 37 ที่ภาครัฐต้องวางแผนจัดหาเพิ่มเติม
แต่เนื่องจากอัปเดตล่าสุดนั้น ภาครัฐมีโครงการจะจัดซื้อวัคซีน 4 ยี่ห้อเพิ่มเติม เมื่อประเมินจากปริมาณโดสที่คาดว่าจะสั่งได้ คิดเป็นร้อยละ 30 ของความต้องการในประเทศ
สำหรับความต้องการอีกร้อยละ 7 ที่เหลือนั้น คาดว่าภาครัฐจะให้เอกชนเป็นฝ่ายจัดหาเพิ่มเติม อาจเป็นวัคซีนโควิด 19 ของโมเดิร์นนา (Moderna), ซิโนฟาร์ม (Sinapharm) จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) หรือ บารัต (Bharat) ของอินเดีย ซึ่งสำหรับส่วนที่เหลือนี้เอง ที่เรียกว่า ‘วัคซีนทางเลือก’
> กลับสู่สารบัญ
Q3: วัคซีนที่รัฐสั่งซื้อแล้ว และกำลังดำเนินการ มียี่ห้อใดบ้าง
คำตอบ: อัปเดตล่าสุดตอนนี้ วัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ติดต่อสั่งซื้อในแผนการจัดซื้อเพิ่มเติม มีอยู่ 4 ยี่ห้อ คิดเป็นร้อยละ 30 ของความต้องการในประเทศ ได้แก่
- ไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 5-20 ล้านโดส*
- จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson: J&J) จำนวน 5-10 ล้านโดส*
- สปุตนิก วี (Sputnik V) จำนวน 5-10 ล้านโดส*
- ซิโนแวค (Sinovac) ซึ่งเป็นการสั่งซื้อเพิ่มเติมจากโดสที่มีอยู่อีก จำนวน 5-10 ล้านโดส*
* จำนวนโดสของวัคซีนทั้ง 4 ยี่ห้อดังกล่าว เป็นจำนวนที่คาดว่าจะสั่งซื้อ อาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง
> กลับสู่สารบัญ
Q4: วัคซีนโควิด 19 ของบริษัทใดบ้าง ที่มีแนวโน้มจะเป็นวัคซีนทางเลือก ?
คำตอบ: ยังต้องรอการยืนยันจากทางภาครัฐว่าจะทำการจัดหาเพิ่มเติมหรือไม่ แต่จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 1 พฤษภาคม 2564) มีแนวโน้มว่าจะเป็นวัคซีนโมเดิร์นนา (Moderna), ซิโนฟาร์ม (Sinapharm) บารัต (Bharat) และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) สำหรับ Moderna นั้น ภาคเอกชนมีแผนจะเตรียมจัดซื้อผ่านองค์กรเภสัชกรรม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบวัคซีนทางเลือกได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ
> กลับสู่สารบัญ
Q5: ข้อแตกต่างระหว่างวัคซีนทางเลือกและวัคซีนที่ภาครัฐจัดหาให้ เป็นอย่างไร?
คำตอบ: ประชาชนสามารถเลือกที่จะรับวัคซีนที่นอกเหนือจากวัคซีนตามแผนงานที่ภาครัฐจัดหาได้ แต่ต้องชำระค่าวัคซีนเอง
> กลับสู่สารบัญ
Q6: วัคซีนโควิด 19 ยี่ห้อไหน จะได้เมื่อไหร่
คำตอบ: ขั้นตอนในปัจจุบันของวัคซีนที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย จะต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมี 2 ขั้นตอนหลักในการดำเนินการ ได้แก่ การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน และ การอนุมัติคำขอขึ้นทะเบียนโดย อย.
วัคซีนที่ อย. อนุมัติขึ้นทะเบียนแล้ว
ข้อมูลวันที่ 24 มิถุนายน 2564 มีบริษัทที่ผ่านการอนุมัติขึ้นทะเบียนแล้ว 6 บริษัท ได้แก่
- วัคซีน CoronaVac ของ Sinovac
- วัคซีน AZD1222 ของ AstraZeneca
- วัคซีน JNJ-78436735 ของ Johnson & Johnson
- วัคซีน mRNA-1273 ของ Moderna
- วัคซีน BBIBP-CorV ของ Sinopharm
- วัคซีน COMIRNATY VACCINE ของ Pfizer
วัคซีนที่ อยู่ในขั้นตอนยื่นคำขอขึ้นทะเบียน
ข้อมูลวันที่ 24 มิถุนายน 2564 วัคซีนซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนมี 2 บริษัท ได้แก่
- วัคซีน Covaxin ของ Bharat Biotech
- วัคซีน Sputznik V ของ Sputnik V
Q7: วัคซีนทางเลือก โควิด 19 แพงไหม ราคาเท่าไหร่บ้าง
คำตอบ: ราคาตอนนี้ยังไม่แน่นอน แต่มีหลักการของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ขอให้เป็นราคาควบคุมในอัตราเดียวกัน ในวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน
> กลับสู่สารบัญ
สรุป
โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตามแผนการจัดซื้อหลัก วัคซีนตามแผนการจัดซื้อเพิ่มเติม และวัคซีนทางเลือกที่มีแนวโน้มจะเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยทุกยี่ห้อ เพื่อร่วมมือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหาและส่งเสริมการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชน และร่วมต่อสู้กับโควิด 19 กับทุกภาคส่วน
เราจะเอาชนะและผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน!
> กลับสู่สารบัญ