ยาแอนติบอดี ค็อกเทล หรือ Antibody Cocktail เป็นนวัตกรรมการรักษา ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยเฉพาะในปัจจุบัน (กันยายน 2564) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
ยาชนิดนี้ถือเป็นยาหลักตัวสำคัญ ที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดอย่างหนักอีกครั้ง และล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ของประเทศไทย ได้อนุมัติให้ใช้แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา
นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะได้ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์เดลต้าให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากยาชนิดนี้เมื่อให้แก่ผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นจะสามารถป้องกันการดำเนินโรคไม่ให้เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย และป้องกันวิกฤตการณ์เตียงเต็มในปัจจุบันและอนาคตได้
ใครสนใจว่าแอนติบอดี ค็อกเทล คืออะไร ทำไมถึงเข้ามามีบทบาทในการรักษาโควิด 19 มาอ่านต่อกันได้เลย
สารบัญ
- ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) คืออะไร
- “ยารักษา” กับ “วัคซีน” โควิด 19 ต่างกันอย่างไร
- หลักการทำงานของ ยาแอนติบอดี ค็อกเทล
- ยาแอนติบอดี ค็อกเทล ใช้อย่างไร? เหมาะกับใคร?
- ยาแอนติบอดี ค็อกเทล กับ พลาสมารักษาโควิด เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
- สรุปข้อดี ทำไมถึงต้องใช้ ยาแอนติบอดี ค็อกเทล
- ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงของยาแอนติบอดี ค็อกเทล
- สรุป
ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) คืออะไร
“Antibody Cocktail (แอนติบอดี แบบผสม)” คือ Antibody (แอนติบอดี) ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 โดยคำว่า “แอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail)” มาจากคำว่า “แอนติบอดี (Antibody)” คือ สารจำพวกโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นในกระแสเลือด มีคุณสมบัติต่อต้านทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย และ “ค็อกเทล (Cocktail)” แปลว่า ผสม
เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันแล้ว จึงได้คำว่า “Antibody Cocktail” ซึ่งหมายถึง “ส่วนผสมของแอนติบอดี” ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า มีคุณสมบัติจำเพาะต่อการรักษาโควิด 19 จึงได้ผลิตออกมาเป็นยาด้วยการผสมกันระหว่างแอนติบอดี 2 ชนิด
คือ Casirivimab (คาซิริวิแมบ) และ Imdevimab (อิมเดวิแมบ)
Casirivimab และ Imdevimab เป็น monoclonal antibody (โมโนโคลนอลแอนติบอดี) สามารถลบล้างการทำงานของเชื้อไวรัส โดยยาจะออกฤทธิ์ต่อโปรตีนส่วนหนามของไวรัสโควิด 19
นำไปสู่การยับยั้งการติดเชื้อในเซลล์ของผู้ป่วย
นอกจากนี้จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ Casirivimab ผสมกับ Imdevimab ยังพบว่าสามารถออกฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่กลายพันธุ์ได้ เช่น สายพันธุ์เดลต้า และ เอปซิลอน เป็นต้น
“ยารักษา” กับ “วัคซีน” โควิด 19 ต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ยังจำเป็นต้องใช้วัคซีนอยู่ไหม? คำตอบคือยังจำเป็นอยู่ เนื่องจาก แอนติบอดี ค็อกเทล มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการรักษาสำหรับคนที่ติดเชื้อแล้ว ในขณะที่วัคซีน มีจุดประสงค์เพื่อใช้ป้องกันคนที่ยังไม่ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม อาจมีคนสงสัยเพิ่มเติมว่า “แล้วยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แตกต่างกับยาแอนติบอดี ค็อกเทล อย่างไร?” จึงได้สรุปหน้าที่และจุดประสงค์ของยาและวัคซีนเพื่อความเข้าใจ ตามตารางนี้
สำหรับประเด็นเรื่องของ “ยา” กล่าวโดยสรุปได้ว่า แอนติบอดี ค็อกเทล ใช้เจาะจงรักษาโควิด 19 โดยเฉพาะ ในขณะที่ฟาวิพิราเวียร์ ไม่ได้ถูกพัฒนามาเพื่อรักษาโควิด 19 โดยตรง และยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องการป้องกันความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 แต่มีคุณสมบัติการรักษาที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงใช้ร่วมในการรักษาผู้ป่วยหนักในบางกรณีได้
ส่วนยาที่ช่วยบรรเทาอาการจากโรค อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร ใช้เพื่อให้อาการที่ไม่รุนแรงจากโรคดังกล่าวทุเลาลง ไม่ได้ใช้เพื่อการรักษาโรค
หลักการทำงานของยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail)
โดยปกติ เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย เราจะมีกลไกป้องกันการติดเชื้อ โดยการสร้างแอนติบอดี ซึ่งจะจดจำหน้าตาของเชื้อโรคต่าง ๆ (กรณีของเชื้อโควิด 19 ก็เช่นกัน) เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว แอนติบอดีจะจดจำหน้าตาของไวรัสไว้เพื่อรอกำจัด
ในกรณีที่ร่างกายไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสหรือวัคซีนมาก่อน ก็จะไม่มีแอนติบอดีที่จำเพาะเจาะจงต่อเชื้อไวรัส แต่ถ้าร่างกายเคยได้รับเชื้อไวรัสหรือวัคซีนมาแล้ว ร่างกายก็จะมีแอนติบอดีในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
แต่แอนติบอดีที่สร้างขึ้นนั้น ไม่ได้จำเพาะต่อไวรัสทั้งหมด หากเชื้อมีการกลายพันธุ์ อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
Antibody Cocktail จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ “Neutralizing Monoclonal Antibodies” (NmAbs) มีหลักการทำงานคือ จะตรงเข้าจับกับโปรตีนตรงส่วนหนาม (Spike Protein) ทำให้ไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายลดปริมาณลง ซึ่งจะสามารถส่งผลในการยับยั้งการติดเชื้อได้ทันที
จากการทดลองในห้องปฎิบัติการ พบว่ายาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์มีความไว (susceptible) ต่อไวรัสโควิด 19 ในสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) ใช้อย่างไร? เหมาะกับใคร?
ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำ ห้ามฉีดเข้าทางชั้นกล้ามเนื้อ (IM) หรือโดยการฉีดเข้าทางชั้นใต้ผิวหนัง (SC) และให้เพียงครั้งเดียวโดยบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีคุณสมบัติดังนี้
- ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อโควิด 19 (ไม่เกิน 10 วัน)
- มีอาการจากโรคนี้ ตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง
- เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้เมื่อติดเชื้อ
ภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายประมาณ 1 เดือน ซึ่งน่าจะได้ผลในเชิงการป้องกันสำหรับผู้ที่ติดแล้วมีอาการน้อยหรือปานกลาง จากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมสำหรับคนที่ติดที่ไม่รุนแรง ทำให้ลดโอกาสในการที่เป็นโควิดแล้วอาการรุนแรง ลดโอกาสการเสียชีวิตได้ประมาณ 70% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับยาอะไรเลยหรือคนที่ได้รับยาหลอก
หากได้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล จะช่วยลดเวลาการนอนพักรักษาตัวที่ รพ.ได้ประมาณ 4 วัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เสี่ยงสูง ที่จะเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากเชื้อโควิด ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- โรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 30)
- โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูง
- โรคปอดเรื้อรัง รวมถึงโรคหอบหืด
- โรคเบาหวาน
- โรคไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต
- โรคตับเรื้อรัง
- มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันถูกกด จากผลการประเมินโดยแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา
อธิบายเพิ่มเติมสำหรับกรณีผู้ป่วยในข้อ 8
ตัวอย่างได้แก่ ได้รับการรักษาโรคมะเร็ง, ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกหรือเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ, กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ติดเชื้อเอชไอวี (หาก ควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดได้ไม่ดี หรือปรากฏหลักฐานของโรคเอดส์), มีภาวะโลหิตจางเหตุเซลล์เม็ดเลือด แดงผิดปกติเป็นรูปเคียวหรือดวงจันทร์เสี้ยว (sickle cell anaemia), ธาลัสซีเมีย และการใช้ยากดภูมิคุ้มกันติดต่อกันเป็น ระยะเวลานาน เป็นต้น
ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody cocktail) กับ พลาสมารักษาโควิด เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
ข้อแตกต่างระหว่างยาแอนติบอดี ค็อกเทล (antibody cocktail) กับ พลาสมา (plasma) ที่ได้จากผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว มีความจำเพาะเจาะจงในการรักษาโควิดนั้น ต่างกัน ดังนี้
“ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail)” เป็นการเลือกชนิดของแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสโควิดได้ดีที่สุด
“พลาสมา (Plasma)” อาจจะมีแอนติบอดีมากมายหลายตัว ทั้งตัวที่จำเพาะและที่ไม่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยง ดังนี้
- กรณีคนไข้โควิด 19 ได้รับพลาสมาตัวที่ไม่จำเพาะ เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้สารโปรตีนอื่น ๆ มากขึ้น
หากมีปริมาณแอนติบอดีที่จำเพาะในพลาสมาไม่มากพอ อาจไม่แน่นอนว่าจะสามารถฆ่าไวรัสโควิดได้ดีพอหรือไม่ ดังนั้นความแน่นอนในการรักษาจึงน่าจะน้อยกว่าการฉีดยาแอนติบอดี ค็อกเทล
- ความแน่นอนในการรักษาจึงน่าจะน้อยกว่าการฉีดยาแอนติบอดีค็อกเทล
สรุปข้อดี ทำไมถึงต้องใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail)
สรุปคุณสมบัติเด่นของยาแอนติบอดี ค็อกเทล มีดังนี้
- ช่วยให้ภูมิคุ้มกันสามารถลบล้างฤทธิ์ของเชื้อ ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง
- ช่วยลดระยะเวลาการรักษาตัวของผู้ป่วย
- ลดอัตราผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ โอกาสการเสียชีวิตได้ประมาณ 70% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับยาอะไรเลย
หรืออาจกล่าวได้ว่า ยาชนิดนี้จะมาช่วยลดภาระวิกฤตการณ์ “เตียงเต็ม” ภายในประเทศได้นั่นเอง
ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงของยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail)
ข้อควรระวัง: สำหรับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว
ผลข้างเคียง: หลังจากได้รับยาแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งพบได้แต่น้อยมาก ได้แก่ อาการผื่นแพ้ อาการคล้ายหวัด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือความดันต่ำ
สรุป
อาจกล่าวได้ว่ายาแอนติบอดีแบบผสม หรือ Antibody Cocktail ถือเป็นข่าวดี เพราะเป็นนวัตกรรมเพื่อการรักษาโควิด 19 ที่ผ่านการทดสอบแล้ว และถือเป็นยาตัวแรกที่ใช้รักษาในผู้ป่วยโควิด 19 โดยตรง ยาดังกล่าวจึงเป็นกลไกสำคัญในวิกฤตการณ์โควิด 19 ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ
ดังนั้น ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ในระยะเวลาไม่เกิน 10 วัน และเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลชั้นนำใกล้บ้าน เพื่อเข้ารับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น