It’s not easy to raise a normal child, let alone autistic.
เลี้ยงลูกว่ายากแล้ว เลี้ยงลูกคนเดียวแบบคุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวยิ่งยากไปอีก ไม่ต้องพูดถึงว่าจะต้องเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กพิเศษตามลำพังอย่างคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงสาวน้อย “อูยองอู” มาจนเรียนจบเป็นทนายความ ตามที่ฉายแววอัจฉริยภาพมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคออทิสติก” (Autistic Spectrum Disorder: ASD) โดยเด็กน้อยมีอาการไม่พูดสื่อสารใด ๆ เลยจนถึง 5 ขวบ และมีพฤติกรรมกระตุ้นตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การโยกตัวไปมา กระโดด หรือจดจ่อจ้องมองสิ่งของบางอย่างที่เคลื่อนไหวอย่างแทบไม่ละสายตา รวมถึงการไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่มองหน้าสบตา ไม่ชอบให้สัมผัส ซึ่งอาการบางอย่างยังคงอยู่ติดตัวจนกระทั่งเธอโตเป็นผู้ใหญ่และแสดงให้เห็นผ่านการเล่าเรื่องในตอนแรกนี้ว่าเธอยังมี “ความพิเศษ” กว่าคนทั่ว ๆ ไปโดยเฉพาะในบริบทใหม่ ๆ ที่เธอไม่เคยเจอมาก่อน เช่น ความยากลำบากในการใช้ประตูหมุน หรือความเก้งก้างวางมือไม้ไม่ถูกเมื่อต้องการปลอบโยนคุณป้าด้วยการสัมผัสหรือโอบกอดเมื่อคุณป้าเสียใจ
ในฐานะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่ดูแลเด็กออทิสติกมายาวนาน ประทับใจและชื่นชมทีมงาน คนเขียนบท แคสติ้ง และนักแสดงมาก ๆ ทำการบ้านมาอย่างดี เก็บรายละเอียดของเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ที่เป็นออทิสติกได้เนียน ละมุน สะท้อนภาพความน่ารักซื่อใสบริสุทธิ์ในสไตล์ออทิสติก คิดอะไรก็พูดตรง ๆ ตอกหน้าคุณทนายรุ่นพี่ที่ขอโทษเธอและยอมรับว่าเขาสบประมาทตัวโรคที่เธอป่วยว่า “ดีแล้วที่คิดได้” ทำเอาอีกฝ่ายถึงขั้นสำลักกาแฟไปหนึ่งอึกใหญ่ ๆ เป็นอีกฉากที่เรียกรอยยิ้มได้
เราจะเห็นว่าครั้งแรกที่สาวน้อยพูดออกมา คือ ตอนที่เธอเห็นคุณพ่อถูกเจ้าของห้องเช่าทำร้ายร่างกายด้วยความเข้าใจผิด เธอจึงตะโกนร่ายประมวลกฎหมายว่าด้วยโทษอาญาฐานทำร้ายร่างกายออกมายาวเหยียด คุณพ่อลืมความเจ็บปวดทั้งหมดด้วยความดีใจที่ได้ยินลูกสาวตัวน้อยพูดออกมาเป็นภาษาครั้งแรกในชีวิต
ความละเมียดละไมของการเล่าเรื่องแสดงให้เห็นว่าคุณพ่อเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดการใช้ชีวิตของสาวน้อยอูยองอู ตั้งแต่การฝึกทักษะสังคม ซึ่งเป็นการรักษาหลักในเด็กออทิสติก โดยสอนให้รู้จักการแสดงอารมณ์ สีหน้า ท่าทาง ที่ทำออกมาอย่างเป็นรูปธรรมตามมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง ด้วยการแปะรูปคุณพ่อแสดงสีหน้าท่าทางพร้อมเขียนอธิบายชื่ออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ กำกับ ให้อูยองอู เข้าใจและเลียนแบบการแสดงความรู้สึกได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามสถานการณ์ รวมจนถึงการบรีฟอูยองอูตอนเช้าก่อนออกจากบ้านไปทำงาน เรื่องห้ามพูดตาม หรือพูดอะไรแปลกประหลาดหรือตรงเกินไปแบบขวานผ่าซาก รวมถึงห้ามพูดเรื่องวาฬที่เธอชอบมากเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งเป็นภาพจำลองจากชีวิตจริงของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษแบบที่หมอเองดูแลอยู่หลาย ๆ ครอบครัว และการให้ทบทวนวิธีเดินทางไปทำงาน การมองตามส่งลูกไปจนลับสายตาด้วยความรักและเป็นห่วง การไปนั่งให้กำลังใจลูกเมื่อขึ้นว่าความหน้าบัลลังก์เป็นครั้งแรก ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความรักยิ่งใหญ่ที่ชายคนหนึ่งมีต่อลูกสาวผู้เป็นที่รักอย่างสุดหัวใจ
ความรักความเอาใจใส่ทั้งหมดนี้ต้องใช้ความพยายามแบบอัพเลเวลมหาศาลตลอดการเลี้ยงดูอูยองอูคนเดียวเป็นหลักมาตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี เทียบเท่ากับ 240 เดือน/ 7,200 วัน/ 172,800 ชม./ 10,368,000 นาที/ 622,080,000 วินาที (เด็ก ๆ ออทิสติกที่มีอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์คิดแบบนี้ได้จริง ๆ และรวดเร็วมาก ๆ นะคะ แบบเดียวกับที่อูยองอูท่องประมวลกฏหมายอาญาได้ทั้งเล่มเป๊ะ ๆ ทุกคำ ทุกวรรค ซึ่งเป็นตัวอย่างของเด็กออทิสติกที่มีอัจฉริยภาพด้านใดด้านหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “Autistic Savant” ออกเสียงว่า ออทิสติก ซาวองต์ หรือ แซวองต์ ค่ะ) ซึ่งต่อให้มีอัจฉริยภาพเป็น autistic savant การเลี้ยงลูกออทิสติกนั้นก็ต้องใช้ความอดทนและทุ่มเทแรงกายแรงใจ กว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาแบบอูยองอูที่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ มีงานทำ
การที่เด็กพิเศษคนหนึ่งเติบโตมาได้อย่างดี ได้รับการสนับสนุนให้ดึงความถนัด ความสามารถพิเศษของเธอออกมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดจากการที่คุณพ่อสังเกต เข้าใจ ทุ่มเทและฝึกทักษะต่าง ๆ ในการเข้าสังคม อันเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาและหล่อหลอมเธอให้ได้เรียนในสิ่งที่เธอรัก จนจบนิติศาสตร์เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ได้เป็นทนายคนแรกที่มีภาวะออทิสติกของประเทศเกาหลีใต้นั้น ต้องให้เครดิตความรักอันยิ่งใหญ่และความอุทิศตนของคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวของเธออย่างแท้จริง
…..รักยิ่งใหญ่จากชายคนหนึ่ง ที่ทุ่มเทให้มาทั้งใจ เธอมาเปลี่ยนโลกไปทั้งใบ เปลี่ยนชีวิตให้คนอย่างฉัน….. ฟังเพลงประกอบการอ่านบทความได้ค่ะเพื่ออรรถรส ของคุณโบ สุนิตา เข้ากับเนื้อหาของตอนนี้มาก ขอบคุณความรักยิ่งใหญ่จากคุณพ่อทุกคนนะคะ ที่ทุ่มเทความรักให้กับลูก ๆ เปลี่ยนชีวิตของเด็ก ๆ ได้จริงๆค่ะ ^^