มะเร็งเต้านม (breast cancer) พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของมะเร็งในเพศหญิง ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ล้วนมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งประเภทนี้ ดังนั้น ถ้าตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ แล้วเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทัน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ด้วยวิธีการคลำเต้านม เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นแนวทางด่านแรกที่จะเพิ่มโอกาสเจอมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น ถ้าพร้อมแล้ว มาลองตรวจกันเลย!
3 แนวทางตรวจคัดกรองเบื้องต้น ที่ควรรู้จัก
การมีแนวทางป้องกันมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยเป็นปราการสำคัญ ป้องกันไม่ให้เราเข้าสู่กระบวนการรักษาสายเกินไป ลดโอกาสลุกลามหรือแพร่กระจายของมะเร็ง โดยมีข้อควรปฏิบัติที่ควรทำ ดังนี้
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (breast self examination)
- การตรวจเต้านมด้วยแพทย์ (clinical breast examination)
- เข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
มีข้อแนะนำว่า ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือไม่ ควรคลำเต้านมด้วยตัวเองอย่างถูกวิธี ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง แล้วตรวจเป็นประจำทุกเดือน
เพื่อความมั่นใจและความมั่นยำในการตรวจ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ก็ควรเข้ารับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ประมาณ 6 เดือนต่อครั้งด้วย
นอกจากนี้ เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อปี
ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม ในการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะสม เนื่องจากบางท่านอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาจต้องปรับวิธีการตรวจ ช่วงเวลา และความถี่ที่ควรเข้ามารับการตรวจให้สอดคล้องกับความเสี่ยงนั้น ๆ
อ่านเรื่องราวของมะเร็งเต้านมโดยละเอียดได้ที่นี่
https://www.praram9.com/breast-cancer-staging/
ทำไมถึงต้องตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยเฉพาะการคลำเต้านั้น จะทำให้เราเข้าใจ “ลักษณะตามปกติ” ของเต้านมตัวเองว่าเป็นอย่างไร (บางคนอาจไม่เคยสังเกตเต้านมตัวเองอย่างจริงจัง) ซึ่งจะมีประโยชน์ในการสังเกต “ความผิดปกติ” ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรูปร่างหรือลักษณะเต้านมของเราเปลี่ยนไปจากเดิม
ทำไมต้องใช้วิธีคลำเต้านม
การตรวจเต้านมจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ การพินิจสังเกตเต้า และ การคลำเต้า ซึ่งเราควรทำให้ครบ เพื่อความละเอียดแม่นยำในการตรวจ
การพินิจดูเต้านมของตนเอง จะช่วยในการบอกลักษณะของเต้านมที่สังเกตได้โดยละเอียด หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เต้านมสองข้างไม่เท่ากัน (ทั้งที่เมื่อก่อนเท่ากัน) หรือมีการนูนของผิวหนังที่ดูผิดปกติ เป็นต้น ก็สามารถบอกสัญญาณของโอกาสที่จะเป็นมะเร็งได้
การคลำเต้านม จะมีประโยชน์ในการคลำพบก้อนมะเร็งที่อยู่ในบริเวณเต้าแต่ยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็นได้ชัดเจนได้
หากพิจารณาดูจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นการดูหรือคลำก็ตาม หากทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เราจะรู้จักลักษณะเต้านมของตัวเอง ทำให้สังเกตพบได้ง่าย หากมีก้อนผิดปกติที่ไม่เคยคลำพบมาก่อน
ควรคลำเต้านมเมื่อไหร่ ช่วงเวลาไหน
การคลำเต้านม ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น แต่ควรวางแผนคลำเต้าเป็นประจำ ดังนี้
- ควรคลำเต้านมเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง
- ให้เลือกเวลาหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่เต้านมไม่มีการคัดตึง ลดโอกาสเข้าใจผิดได้
- หากหมดประจำเดือนแล้ว ให้ตั้งวันที่จะคลำเต้านมเป็นวันเดียวกันทุกเดือน
การตรวจเต้านมด้วยตัวเองต้องรู้อะไรบ้าง
การตรวจเต้านม มี 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ การดูและการคลำ
1. การดูเต้านม
การดูเต้านม มีจุดประสงค์เพื่อสังเกตลักษณะภายนอกของเต้านมที่มองเห็นได้ โดยต้องส่องกระจกในการดูสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ของเต้านม ได้แก่
- หัวนม : หัวนมทั้ง 2 ข้าง ควรอยู่ที่ตำแหน่งระดับเดียวกัน มีสีผิวและรูปร่างเหมือนกัน ชี้ออกไปด้านข้างเล็กน้อยเท่านั้น ต้องไม่มีลักษณะที่ถูกดึงรั้งหรือทำให้เอนไปยังข้างใดข้างหนึ่ง
ไม่ควรมีน้ำเหลือง เลือด หรือของเหลวผิดปกติไหลออกมาจากหัวนม รวมถึงไม่ควรมีแผลผิวถลอก หรือแผลจากก้อนนูน - ฐานหัวนม : ฐานเต้านมควรมีผิวเนียนและสีเสมอกัน ไม่ควรมีรอยนูนหรือก้อนดันผิวออกมา ไม่ควรมีรอยบุ๋มที่เกิดจากก้อนมะเร็งดึงรั้งลงไป รวมถึงแผลผิวถลอกหรือแผลจากก้อนนูน
- เต้านม : เต้านมควรมีผิวเนียนและมีสีผิวเสมอกัน ไม่ควรมีส่วนของผิวที่บวมหนาแล้วมองเห็นรูขุมขนได้ชัดเหมือนผิวเปลือกส้ม ไม่ควรมีรอยนูนหรือรอยบุ๋มผิดปกติ หรือรอยตะปุ่มตะป่ำต่าง ๆ
สีผิวของเต้านมไม่ควรเป็นสีแดงคล้ำ และไม่ควรมีรอยแผลแตกทะลุที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมา
นอกจากนี้ ให้สังเกตระดับและขนาดของเต้านม เต้านมทั้ง 2 ข้างควรมีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกัน และควรอยู่ระนาบเดียวกัน หากพบว่ามีส่วนที่ถูกดึงรั้งขึ้นหรือถ่วงให้หย่อนคล้อยลงมา (โดยเฉพาะถ้าเริ่มเป็นจากเต้านมด้านใดด้านหนึ่ง) ให้ไปพบแพทย์
2. การคลำเต้านม
เป้าหมายของการคลำเต้านม คือ การสังเกตความผิดปกติที่อาจมองไม่เห็นด้วยตา โดยทั่วไปลักษณะของเต้านมที่เหมาะสม จะต้องนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ หากบีบจะได้ก้อนเนื้อที่นุ่ม แต่หากพบความผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์
- คลำพบก้อนผิดปกติ อาจพบได้ทั้งบริเวณเต้านม หัวนม รักแร้ และเหนือไหปลาร้า
– อาจเป็นไตแข็งหรือเป็นก้อนเรียบ ๆ ก็ได้
– เมื่อคลำพบหรือลองกดดูเบา ๆ อาจรู้สึกเจ็บ หรือไม่รู้สึกเจ็บก็ได้
– ก้อนอาจกลิ้งได้ หรือถ้ากลิ้งไม่ได้ อาจมีส่วนที่ยึดหรือรั้งกับเนื้อเยื่อส่วนล่างหรือผิวหนัง - คลำพบรอยบุ๋มเหมือนลักยิ้ม ที่อาจเกิดจากก้อนไปดึงรั้งลงมา
- มีแผลที่เกิดจากการแตกทะลุของก้อน อาจมีหรือไม่มีเลือดและน้ำเหลืองไหลออกมาก็ได้
- บีบหัวนม แล้วพบน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมา
วิธีการคลำเต้านม 3 แบบ
การคลำเต้านม จะต้องคลำให้ครบและทั่วทั้งบริเวณเต้านม รวมไปถึงบริเวณรักแร้ด้วย ปัจจุบันการจะคลำให้ทั่ว (โดยไม่พลาดจุดใดไปเลย) จะมีอยู่ 3 แบบ ให้เราเลือกวิธีที่ถนัดมาหนึ่งวิธีเพื่อใช้ 3 นิ้วของเราในการตรวจเต้านม
ควรดูภาพประกอบไปด้วย เพื่อทำความเข้าใจวิธีการทั้ง 3 รูปแบบได้ชัดเจนขึ้น
1. คลำเป็นก้นหอย หรือ คลำตามเข็มนาฬิกา (clock pattern)
ให้นึกถึงภาพของวงก้นหอย โดยเริ่มจากหัวนม แล้วค่อย ๆ ขยายวงก้นหอยออกไปยังบริเวณฐานเต้า รวมไปถึงรักแร้ โดยค่อย ๆ คลำและวนเลื่อนนิ้วมือตามเข็มนาฬิกาเป็นวงกลมขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไปสิ้นสุดที่บริเวณรักแร้
ในระหว่างที่คลำ ให้พิจารณาดูว่ามีก้อนหรือไม่ แล้วอย่าลืมสังเกตเนื้อเยื่อใต้หัวนมและลองบีบหัวนมเบา ๆ เพื่อดูสิ่งคัดหลั่ง
2. คลำตามแนวนอนขึ้น-ลง ขนานลำตัว (virtical strip)
โดยจะคลำตามแนวนอนขึ้นและลงไปเรื่อย ๆ ในลักษณะที่ขนานกับลำตัว เริ่มจากส่วนล่างด้านนอกของเต้านมเป็นแนวยาว ไปจนถึงกระดูกไหปลาร้า ลักษณะการคลำ ให้คลำในแนวขึ้น-ลง สลับกันไปมาจนทั่วทั้งเต้านม
3. คลำเป็นรูปลิ่ม หรือ คลำเป็นรัศมีรอบเต้านม (wedge pattern)
ให้คลำเข้าและออกจากส่วนเต้านมไปยังฐานเต้า เมื่อครบ 1 ครั้งแล้ว ให้เลื่อนมือวนรอบเต้านมเป็นรัศมีแล้วคลำเข้าและออกอีกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนวนครบรอบเต้านม อย่าลืมคลำจนถึงกระดูกไหปลาร้าและบริเวณรักแร้ด้วย
3 ท่า เพื่อคลำเต้านมด้วยตนเองที่แม่นยำ
การตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองจะแบ่งออกเป็น 3 ท่า ได้แก่ ท่ายืน ท่านอน และการตรวจขณะอาบน้ำ
1. ท่ายืน
การตรวจใจท่ายืนนี้ เราจะต้องส่องดูและสังเกตเต้านมตัวเองจากกระจก จึงควรทำในห้องน้ำ หรือในห้องที่มีกระจก โดยมีขั้นตอนดังนี้
สิ่งที่ต้องสังเกต: ความผิดปกติต่าง ๆ ได้แก่ รูปร่างที่ไม่เท่ากัน รอยบุ๋ม รอยนูน แผล และการอักเสบ แต่หากไม่พบความผิดปกติ ก็ควรจดจำลักษณะตามปกติของเต้านมให้ดี เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบครั้งถัดไป
- วางแขนข้างลำตัว ผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็งแขน แล้วพิจารณาดูรูปร่าง ขนาด สีผิว ลักษณะของพื้นผิว และระดับของหัวนม
- ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ดูขนาด รูปร่าง และร่องรอยผิดปกติของเต้านม
- วางมือทั้ง 2 ข้างไว้ที่สะโพก แล้วเกร็งหน้าอกหรือกดน้ำหนักตัวลง จากนั้นให้ดูลักษณะที่ผิดปกติของเต้านม
- โน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อความชัดเจนที่มากขึ้นของเต้านมทั้งสองข้าง แล้วตรวจสอบเต้านมดูอีกครั้ง
2. ท่านอน
สิ่งที่ต้องสังเกต: ตรวจหาก้อนที่อยู่บริเวณใกล้ผิวหนังและบริเวณเต้านม รวมถึงของเหลวที่ผิดปกติต่าง ๆ เช่น เลือดและน้ำเหลือง ที่อาจไหลออกมาจากหัวนม
- นอนหงาย ใช้หมอนขนาดเล็ก สอดไปที่ใต้ไหล่ข้างที่ต้องการตรวจ จากนั้นยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ
สมมุติว่ารอบแรก เราจะตรวจเต้านมข้างขวา ก็ให้สอดหมอนเข้าไปที่ไหล่ขวา แล้วยกมือขวาเหนือศีรษะไว้ - ใช้นิ้วมือข้างที่จะตรวจ 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง เราจะใช้ปลายนิ้วในการตรวจคลำเต้านม
สมมุติว่าตรวจเต้านมด้านขวา ก็ให้ใช้นิ้วมือข้างซ้าย 3 นิ้วในการตรวจ - ใช้ 3 นิ้วกดลงไป ไล่ระดับตั้งแต่กดเบา ๆ ไปจนถึงกดแรงขึ้น ทำ 3 รอบ โดยแต่ละรอบ ให้แบ่งความหนักเบาเป็น 3 ระดับ ค่อย ๆ กดไปจนทั่วเต้านมและรักแร้ ในขั้นตอนนี้ห้ามบีบเนื้อเต้านม เนื่องจากอาจทำให้รู้สึกว่ามีก้อน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
- บีบหัวนมเบา ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งไหลออกมาหรือไม่
ให้ทำเช่นนี้ทั้ง 4 ข้อ กับเต้านมทั้ง 2 ข้าง
3. ขณะอาบน้ำ
การตรวจขณะอาบน้ำ จะอาศัยความเปียกหรือความลื่นของสบู่ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังลื่นขึ้นและตรวจได้ง่าย
สิ่งที่ต้องสังเกต: ตรวจหาความผิดปกติเช่นเดียวกับการตรวจท่ายืน เช่น ก้อนที่เต้านม และของเหลวจากหัวนม แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ ดูว่ามีก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณรักแร้ด้วยหรือไม่
- ยกมือข้างเดียวกันกับเต้านมที่จะตรวจขึ้นวางบนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างตรวจ โดยใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว แล้วทำการตรวจเช่นเดียวกันกับวิธีการตรวจในท่านอน
- เมื่อเสร็จแล้ว ให้ตรวจคลำเต้านมอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน
- จากนั้นให้ตรวจดูบริเวณรักแร้
- บีบหัวนมเบา ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งไหลออกมาหรือไม่
ผิดปกติแบบไหน ควรมาพบแพทย์
ความผิดปกติ เมื่อสังเกตดูจากภายนอก : เมื่อสังเกตเห็นลักษณะเต้านมที่เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น บวม นูน หรือมีแผล หรือมีลักษณะใดที่ไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง เช่น ขนาด รูปร่าง ตำแหน่งของหัวนม ให้มาพบแพทย์
ความผิดปกติ ที่พบจากการคลำเต้านม : มีแผลที่ผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมา หรือคลำพบรอยนูนไม่สม่ำเสมอ รอยบุ๋ม หรือก้อนที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นก้อนลักษณะใดก็ตาม จะแข็งหรือเรียบ จะรู้สึกเจ็บหรือไม่ ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดจะดีที่สุด
เพื่อความปลอดภัย อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ถ้าตัวเราเองได้สังเกตดูหรือคลำเต้านมเป็นประจำอยู่แล้ว รับรู้ถึงลักษณะของเต้านมที่ปกติของตัวเองเป็นอย่างดี แล้วมีอยู่วันหนึ่งที่พบลักษณะผิดปกติ (ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยพบ) ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดได้เลย
สรุป
การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ ถือเป็นปราการด่านแรกที่ช่วยให้เรารับรู้ถึงความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในทุก ๆ เดือน เราควรตรวจดูและคลำเต้านมตัวเองอย่างน้อย 1 ครั้ง
ควรพยายามปฏิบัติให้ต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เนื่องจากประโยชน์ของการคลำเต้านมเป็นประจำ จะทำให้ทราบลักษณะที่เป็นปกติของเต้า หากมีความผิดปกติจะทำให้ทราบได้ทันที
ในทางกลับกัน ถ้านาน ๆ เราตรวจเต้านมครั้งหนึ่ง อาจพลาดช่วงเวลาสำคัญที่เริ่มเกิดมะเร็งขึ้น หรือบางครั้ง การที่เราไม่คุ้นเคยกับเต้านมตัวเองดีพอ อาจทำให้เข้าใจผิด เกิดความวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา คิดว่าพบก้อนมะเร็ง ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจเป็นแค่ส่วนของเนื้อเยื่อตามปกติเท่านั้นเอง
เมื่อตรวจคลำเต้านมเป็นประจำแล้ว อย่าลืมเข้ามาตรวจเต้านมโดยแพทย์ และรับการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ตามช่วงวัยที่เหมาะสมด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราตรวจพบความผิดปกติได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสรอดชีวิต แถมยังมีโอกาสเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ด้วย หากยังไม่ถึงระยะแพร่กระจาย